ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่… (ภาพยนตร์ Fast & Feel Love) เรานึกถึงบทพูดของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาหลังจากพูดคุยกับคุณแต้ว-จิณณ์ณิชา สุภา เจ้าของบ้านหลังน้อยหลังคาสีเขียว โดยส่วนตัวเราเชื่อเสมอว่าการที่เรารักหรือชอบอะไรสักอย่างแล้วให้เวลากับสิ่งๆ นั้นมากพอ ไม่ว่าอย่างไรผลลัพธ์ย่อมออกมาดีเสมอ เช่นเดียวกันกับคุณแต้วที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างบ้านหลังนี้ ทั้งยังใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดจนบ้านเสร็จสมบูรณ์อย่างที่ใจต้องการ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน เดินเล่น หรือใช้งานส่วนไหนของบ้านก็แสนจะสุขล้น
“แรกเริ่มเดิมทีแต้วกับแฟนเช่าบ้านอยู่ หลังจากแต่งงานได้สักพักหนึ่งเลยคุยกันว่าถ้าในอนาคตมีลูก เราจะเลี้ยงเองหรือให้พ่อกับแม่ที่อยู่ต่างอำเภอช่วยเลี้ยง พ่อแม่ของเราทั้งคู่อยู่เชียงใหม่เหมือนกันเพียงแต่อยู่คนละอำเภอ ส่วนเราสองคนทำงานอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ถ้าให้พวกท่านช่วยเลี้ยงคงคิดถึงลูกแน่ๆ เลย จึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราน่าจะมีบ้านสักหลังของตัวเอง แล้วชวนพ่อกับแม่มาอยู่กับเราด้วยก็ได้” คุณแต้วเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง
หลังจากตัดสินใจแล้วจึงเริ่มหาทำเลในเมืองเชียงใหม่ หวังใจว่าจะเจอที่ที่ถูกใจ “เราตระเวนหาบ้านกันจนมาได้ที่อำเภอสันทราย สามารถเดินทางไปทำงานได้สะดวกและกลับบ้านที่อยู่ต่างอำเภอได้ง่ายด้วย ตรงส่วนนี้จะเป็นบ้านสั่งสร้างคือมีที่ดินให้อยู่แล้ว โดยทางผู้รับเหมาจะมีแบบบ้านให้เลือกว่าดีไซน์ ขนาดประมาณนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเท่าไร ถ้าอยากได้อะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากแบบสามารถเพิ่มส่วนต่างได้”
ด้วยมีแบบบ้านในใจอยู่บ้างแล้ว คุณแต้วกับแฟนจึงร่างแบบบ้านคร่าวๆ กันเอง “เราไม่ได้เลือกแบบของทางผู้รับเหมา แต่วาดแบบบ้านกันเอง ฟีลเหมือนรูปการ์ตูนแล้วให้ผู้รับเหมาดูว่าถ้าแบบประมาณนี้สร้างได้ไหม เราไม่ได้มีความรู้ด้านวิศวะหรือการสร้างบ้านเลย แค่วาดไปตามสิ่งที่ต้องการก่อน จากนั้นก็ไปปรับไปคุยหน้างานกันอีกที จนได้บ้านออกมาดีไซน์ประมาณนี้
“โจทย์คืออยากได้บ้านชั้นเดียว ขนาดไม่ต้องใหญ่มาก เพราะรู้สึกว่าถ้าบ้านหลังใหญ่เกินไปบรรยากาศจะดูเงียบๆ เราอยากให้เวลาสมาชิกในครอบครัวอยู่ด้วยกันหรือทำกิจกรรมต่างๆ สามารถมองเห็น พูดคุยกันได้แบบใกล้ชิด ให้ความรู้สึกอบอุ่นๆ โดยจะออกแบบให้บ้านมีเพดานสูง อากาศจะได้ถ่ายเท รู้สึกโปร่งโล่ง หน้าบ้านหันไปทางทิศเหนือ แสงแดดจะไม่ส่องเข้ามาโดยตรงทำให้บ้านไม่ค่อยร้อน และออกแบบให้มีสนามหญ้าเล็กๆ กับพื้นที่สีเขียวรอบบ้านด้วย”
ส่วนพื้นที่ภายในบ้านคุณแต้วบอกเพิ่มเติมว่า “ฟังก์ชันในบ้านแบ่งเป็น 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เราแพลนว่าจะมีลูกแค่คนเดียวแล้วเลี้ยงเขาให้เต็มที่ จำนวนห้องนอนเท่านี้จึงน่าจะเพียงพอ บ้านไม่ดูกว้างเกินไป นอกจากนี้จะมีส่วนครัวและห้องโถง แต้วออกแบบผนังทางทิศตะวันออกเป็นกระจก เวลาตื่นนอนตอนเช้าแล้วเปิดประตูออกมาจากห้องนอนจะได้เห็นแสงแดดอ่อนๆ ที่ส่องเข้ามา สร้างความรู้สึกอบอุ่นมีชีวิตชีวาให้บ้านดูเป็นบ้านจริงๆ และอยากให้สมาชิกทุกคนรู้สึกอย่างเดียวกันกับเราด้วย
“สำหรับห้องครัวเราจะค่อนข้างเต็มที่กับส่วนนี้ เพราะแต้วเป็นคนชอบทำขนม ตัวแฟนเองก็ชอบทำอาหารด้วยเหมือนกัน เรียกได้ว่าทุกคนใช้พื้นที่ครัวกันค่อนข้างเยอะ เราเลือกออกแบบเป็นครัวปูน รองรับการทำอาหารหนักได้ แบบเคาน์เตอร์ต่างๆ เราเป็นคนวาดเอง โดยวัดขนาดอุปกรณ์ครัว เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นที่มีอยู่แล้วตั้งแต่บ้านเช่าเดิม จะได้รู้ว่าต้องกำหนดขนาดตู้กับช่องใส่ของใต้เคาน์เตอร์เท่าไร แล้วลองจินตนาการแปลนครัวว่าถ้าปรุงอาหารตรงนี้ มุมล้างจานควรจะอยู่ตรงไหน เมื่อวาดครัวได้ตรงความต้องการแล้วจึงให้ช่างมาทำตามแบบที่เราวาดไว้ ”
กว่าทุกอย่างจะลงตัวคุณแต้วบอกว่าปรับเปลี่ยนแบบบ้านกันอยู่หลายครั้ง “ตลอดระยะเวลาการสร้างบ้านประมาณ 6 เดือน แต้วเข้ามาดูงานเองทุกวัน ปรับแบบหน้างานตลอดเพื่อให้บ้านออกมาตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด บางอย่างสร้างไปแล้วทุบออกก็มี ทุกครั้งเวลามาเราจะเดินรอบๆ บริเวณบ้านแล้วคิดว่าตื่นเช้ามาจะทำอะไร ตรงนี้อยากให้เป็นอย่างไร จะใช้พื้นที่ส่วนไหนบ้าง ตอนบ้านสร้างเสร็จเรียบร้อยจึงค่อนข้างตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในบ้านของเราจริงๆ
“นอกจากนี้แต้วยังลงดีเทลกับวัสดุและของทุกอย่างที่จะใช้ เราเป็นคนเลือกเองทั้งหมด ผู้รับเหมาแค่ช่วยสั่งของให้เราเท่านั้นเอง อย่างประตูบ้านสั่งทำจากจังหวัดแพร่ แบบหน้าต่าง วงกบต่างๆ แม้กระทั่งหลังคาสีเขียวเราก็ตั้งใจเลือกตั้งแต่แรกเลย นอกจากจะไม่ค่อยเห็นใครใช้กัน เรายังรู้สึกว่าเวลาหลังคาสีเขียวตัดกับสีของท้องฟ้าในฤดูหรือช่วงเวลาต่างๆ แล้วดูสวยละมุนตา ยิ่งถ้าเป็นท้องฟ้าช่วงหน้าหนาวของเชียงใหม่คือที่สุดเลยค่ะ
“มู้ดแอนด์โทนของบ้านโดยส่วนตัวเราชอบไปเที่ยวคาเฟ่ ชอบดื่มกาแฟ มีโอกาสเรียนทำกาแฟมาด้วย จึงพยายามแต่งบ้านให้บรรยากาศเหมือนคาเฟ่ ผ่อนคลาย สบายๆ ช่วงที่สร้างบ้านกระแสประตูโค้ง (Arch) กำลังนิยมก็นำมาใช้ในบ้านของเราด้วย ส่วนเฟอร์นิเจอร์จะเน้นเป็นสีเอิร์ธโทน อบอุ่นๆ โดยเฉพาะสีน้ำตาลซึ่งจะมีประมาณ 80% ส่วนของตกแต่งเป็นงานมือสองจากร้านญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด เรารู้สึกว่าของญี่ปุ่นดีไซน์น่ารักและใช้งานได้จริง แต้วไปเลือกซื้อที่โกดังญี่ปุ่นเกือบทุกสัปดาห์ ค่อยๆ เติม ค่อยๆ แต่งจนเป็นบ้านหลังน้อยหลังคาสีเขียวที่ทุกคนเห็นกัน”
ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง…แล้วให้เวลาใส่ใจกับสิ่งนั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือบ้านที่ตอบโจทย์ตรงใจสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตของคุณแต้วจริงๆ คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงในการก่อร่างสร้างบ้านหลังนี้มากเลยทีเดียวล่ะ
Photo: บ้านหลังน้อยหลังคาสีเขียว