Garden Kitchen & Home

เวลคัม ทู ฟาร์มสุข ดอกไม้ไทยกินได้


การเดินทางของผู้หญิงแกร่งที่ได้รับฉายาว่า “ผู้หญิงเก็บดอก” ที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลในหมู่เชฟและบาร์เทนเดอร์ ดร. อ้อ-ถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย จากอาชีพเกษตรกรที่ทำมาร่วม 20 ปี เธอยังเป็นทั้งนักวิชาการ นักขับเคลื่อนภาคการเกษตร อาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่ปลุกปั้นพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าสู่วงการปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจดอกไม้ไทยกินได้ ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟาร์มสุขดอกไม้ไทย จำกัด บนเนื้อที่ 30 ไร่ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ปลูกดอกไม้และใบไม้กินได้กว่า 70 ชนิด อีกทั้งกำลังมีโปรเจ็กต์ใหญ่ร่วมทุนกับโบนันซ่า เขาใหญ่ ขยายฟาร์มสุขให้ขจรขจายไปไกลอีกด้วย 

 “จริงๆ จะตั้งชื่อว่า ‘ผู้หญิงเก็บดอก’ แต่เชฟฝรั่งไม่เข้าใจเลยตั้งชื่อว่าฟาร์มเพราะเราเป็นฟาร์มเมอร์ เป็นเกษตรกร ‘สุข’ ก็มีความหมายถึงความสุขใจที่เลือกอาชีพเกษตร บวกกับบุคลิกที่เป็นผู้หญิงห้าวหาญชาญชัย มีพลังบวกเยอะ ฉะนั้นทำไมฉันจะเป็นมาเฟียในวงการดอกไม้กินได้ไม่ได้”

ฟาร์มสุข ดอกไม้ไทยกินได้

โปรดักต์หลักของฟาร์มไม่ใช่ดอกไม้ เวลาทำงานจะดู Reference ของลูกค้าเป็นหลัก เพราะเราขายการบริการ ขายคอนเซาต์มากกว่าการขายดอกไม้ เพราะดอกไม้ซื้อที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่ที่เราถูกกว่า แต่มากไปกว่านั้นคือเรื่องงานบริการ ซึ่งเราเลือกขาย เลือกคอนเทนต์ เลือกคนที่ให้ความสำคัญ เราไม่ชอบการนำเสนอเรื่องการสร้างมูลค่าด้วยเงิน เพราะมีความรู้สึกว่าเหมือนหลอกคนอื่น เราอยากให้ความสำคัญว่าทำไมถึงโฟกัสที่ดอกไม้ไทย ด้วยพื้นฐานของธุรกิจ 80% คือเชฟต่างชาติที่อยู่เมืองไทย 20% เป็นเชฟไทยที่เป็นเจ้าของที่ทำร้านอาหารเอง ฉะนั้นเราถึงมีแพลนลูกค้าที่ชัดเจน

“จริงๆ ก็อยากขายดอกไม้นอกแต่ไม่เหมาะกับพื้นที่เราเพราะต้องมีการบริหารจัดการเยอะ ต้องสร้างโรงเรือน และที่นี่เป็นพื้นที่โล่ง หากสร้างโรงเรือนมีโอกาสที่จะพังเพราะลมแรง มันเป็นร่องลม เราอยู่สมุทรสาครมีลมทะเล เรารู้ในบริบทของพื้นที่จึงเลือกปลูกให้มันเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพดิน สภาพอากาศ และโปรเจ็กต์ที่เราทำคือทำน้อยได้มาก น้อยคน น้อยการจัดการ น้อยเวลา นั่นหมายความว่าเราจะมีเวลาเก็บดอกไม้ในตอนเช้า ถ้าเก็บตอนบ่ายฟอร์มของใบไม่ได้ เก็บแล้วอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดอกไม้ของพี่อ้อจะอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์

“นอกจากนี้ในการทำงานเราใช้ Aging Society  มาร่วมด้วย เพราะที่นี่ไม่ใช่งานแบกหามจึงเหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว บางคนทำงานมาทั้งชีวิตให้อยู่บ้านเฉยๆ ก็จิตตก บางคนป่วย เราจึงมีกิจกรรมตรงนี้ขึ้นมา มีทั้งเก็บดอกไม้ แพ็กดอกไม้ เพราะความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยเราฟอร์มทีมมีการทำงานตามมาตรฐาน GMP มีแผนกล้าง แผนกตัดแต่ง แพ็กลงกล่อง มีทีมสวน 5-6 คน เบ็ดเสร็จคือมีทีมงานประมาณ 10 คน และมีไรเดอร์ที่อยู่ในระบบประมาณ 5 คน ทุกคนมีประกันสังคมเพราะเราทำในรูปแบบบริษัท ส่วนกลุ่ม Aging Society จะอยู่ในกลุ่มของวิสาหกิจชุมชน

“ด้วยความที่เราเตรียมตัวโตเราจึงขยับขึ้นมาเป็นบริษัท ฟาร์มสุขดอกไม้ไทย ทำในรูปแบบของธุรกิจ ที่ผ่านมาเราจึงไปเทคคอร์สธุรกิจ ถึงขั้นไปเรียนช่วงโควิดก็ไปเรียนหมด ถ้าเกษตรกรไม่รู้จักไฟแนนซ์เชียล ไม่รู้จักเศรษฐศาสตร์เกษตรก็ทำธุรกิจไม่ได้ และเมื่อเราโตขึ้นไม่ใช่แค่ขายแล้วได้กำไร มันมีเรื่องการลงทุน ที่สำคัญคือการให้ความสำคัญเรื่องแรงงาน

ถ้าไม่มีแรงงานงานละเอียดเราก็จะทำไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุ ต้องออกแบบวิธีการทำงานให้ง่ายที่สุด มีการแข่งกันเป็นทีมด้วย มีให้ขานชื่อดอกไม้ มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการเล่นเกม ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนไม่ลืมชื่อดอกไม้ ได้มีส่วนร่วมในการทำงาน หรือการทำกิจวัตรที่ทำซ้ำๆ ทุกวัน ถ้าเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบนี้ไม่ได้ก็ต้องหากิจกรรมมาเสริม บางทีเราใช้วิธีการสลับหน้าที่ ฉะนั้นพวกป้าๆ ที่ทำงานกับเราเขาก็จะบอกว่านอนหลับได้เร็วขึ้น หลับได้ยาวขึ้น เพราะได้มีการออกกำลังกาย พอมาทำงานก็มีแก๊งเพื่อนก็กลายเป็นเรื่องที่สนุก และมีความสุขที่ได้อยู่กับดอกไม้”  

ฟาร์มเมอร์ ที่มีความสุข

“ถ้าจะให้เปรียบว่าตัวเองเป็นอะไร อ้อก็เหมือนคอนดักเตอร์ (Conductor) เป็นเซลส์ที่ดูการขายเองทุกร้าน เราไม่อยากให้ลูกค้ามองเราว่าเป็นตลาดที่จะซื้อตอนไหนก็ได้ เหมือนเป็นพาร์ตที่ได้เลือกกลุ่มลูกค้าที่เข้าใจเรา เราขายเชฟเป็นหลัก ฉะนั้นปริมาณ 1 กล่องเขาต้องรู้ว่ามีปริมาณเท่าไร ของเราจะเป็นทับศัพท์ให้เชฟต่างชาติเรียกภาษาให้ถูกต้อง เพราะก่อนหน้านี้เจอปัญหาว่าเวลาใช้วงศ์ตระกูลของไม้ที่ทับไลน์กันทำให้เข้าใจแตกต่างกัน ก็เลยใช้วิธีการเป็นภาษาคาราโอเกะ เวลาสั่งของจะมีความเข้าใจกันมากขึ้น ด้วยความที่เป็นดอกไม้ไทยต้องมีการสื่อสารเยอะๆ

“ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน คนที่มีค่ามาร์เกตติงดีก็จะได้ตลาดนี้ไป โดยเราก็ฉีกทางออกไป เอาดอกไม้มานำเสนอและพ่วงด้วยผักมันก็มีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน การใช้คำในการทำคอนเทนต์ ‘ผู้หญิงเก็บดอก’ ใช้วิธีเล่นคำทำให้ลูกค้าเกิดภาพจำ ถ้าโฟกัสในมุมของธุรกิจเรามีความรู้สึกว่าถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนทางอาหาร อาชีพเกษตรต้องยืนได้ก่อน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ เราจึงอยากเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าที่เราร้ายก็เพื่อคัดคน ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราคือเพื่อนกันดูแลกันไป ทำให้เกิดการพัฒนา  

“ซึ่งในการทำฟาร์มเราเริ่มต้นวางแผนการขายก่อนที่จะปลูก สำหรับปีนี้เราโฟกัสไปทำกับนายทุน ในสายกรีนที่เขาต่อต้านนายทุนเขาก็จะบอกว่าเรากลืนน้ำลายตัวเอง แต่เราเลือกแล้วว่านายทุนที่มาร่วมทำกับเราเขามีความเข้าใจในบริบท ในสิ่งที่เราทำ อย่างในส่วนโครงสร้างที่ไปทำเราไม่ได้ตีตลาด B2C (Business-to-Consumer) แต่ตั้งเป้าจะป้อนเข้าอุตสาหกรรม นั่นเป็นวิธีคิดของเราว่าธุรกิจดอกไม้กินได้ที่ทำมา 7 ปี และทำเกษตรมาอีก 20 ปี ทุกคนมองแค่วันนี้เราสำเร็จยืนหนึ่งในธุรกิจ ทำไมคนถึงมาถอดความรู้ว่า B2B (Business-to-Business) ทำกำไรได้มากกว่า B2C เพราะ B2B มีตลาดที่มั่นคง อย่างหลายๆ คนเลือกที่จะขาย B2C เพราะเขาไม่มีพื้นที่เยอะเท่าเรา ซึ่งโจทย์ที่ทำดอกไม้กินได้สาเหตุคือการทำพืชเศรษฐกิจซึ่งไม่ใช่มีแค่คะน้ากับกวางตุ้ง    

“โดยการทำงานตรงนี้เราเป็นฟาร์มแพลนนิง ทุกอย่างเป็นไปตามสเตป เราเอารูปแบบของญี่ปุ่นกับเยอรมันมาขมวดเข้าด้วยกัน เลยเกิดเป็นโมเดลนี้ขึ้นมา เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์แล้วนำมาปรับประยุกต์ เหมือนกับเราได้เปลี่ยนรูปแบบของผัก ดอกไม้ มันมีความสนุกที่เราไม่รู้เลยว่ารสชาติจะเป็นแบบนี้ สินค้าที่เราทำมีเกรดเดียวคือดีที่สุด ดีไปเลย”  

สร้างระบบนิเวศ เลี้ยงผึ้งจิ๋ว “ชันโรง”   

“นอกจากปลูกดอกไม้ไทยกินได้แล้วที่ฟาร์มยังมีชันโรง ในส่วนของการเลี้ยงชันโรงเริ่มต้นจากการคอลแลบกับ Asia Today ของคุณณิกษ์ อนุมานราชธน ด้วยความที่คุณณิกษ์เปิดบาร์ค็อกเทลที่รวบรวมโลคอลทั้งหมดของไทย และเราก็ปลูกบัวไว้เป็นอาหารให้กับชันโรงด้วย ซึ่งชันโรง 80% กินเกสรที่มาจากดอกไม้ อีก 20% เก็บน้ำหวานจากดอกไม้ ชันโรงยังช่วยเพิ่มผลผลิต ช่วยผสมเกสรให้กับไม้ผลเป็นหลัก แต่ที่บ้านเรามีแต่ไม้ดอก เราก็เลยยังไม่เข้าใจเพราะไม่มีข้อมูลจนกระทั่งได้ศึกษาข้อมูลที่มากขึ้น เราก็รู้ว่าเวลาเข้าป่าเขาป้ายชันผึ้งเพื่อห้ามเลือด กันมด ซึ่งชันหรือ Propolis ของชันโรงยังถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น นำมายาเรือ ยากระบุง

“นี่คือความน่าสนใจของชันโรง สังเกตว่าทำไมเราต้องวางชันโรงใกล้น้ำ เพราะเขาต้องการความชื้น ต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบ เวลาอ้อทำอะไรก็จะศึกษาหาข้อมูลค่อนข้างลึก ต่อไปทางเลือกของเราจะไปตลาดอุตสาหกรรมกับเวชสำอาง

“โดยชันโรงที่เลี้ยงก็มีตั้งแต่สายพันธุ์นางฟ้า หรือเพนนินซุลาริส ปากแตร ปากหมู ขนเงิน หลังลาย เราอยากรู้ว่าแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะอย่างไร เดิมทีมีการเลี้ยงชันโรงอยู่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พอมาเลี้ยงอยู่ที่สมุทรสาครมีไอทะเลนิดๆ ฝนไม่ได้หนักเท่าทางใต้ ขณะเดียวกันเราก็สร้างอาหารให้เขาค่อนข้างเยอะเพราะเราปลูกดอกไม้ ทำไมเลือกปลูกบัวให้เป็นอาหารเพราะบัวมีสรรพคุณทางยา

อ้อมีความรู้สึกว่าถ้าเราจะทำเวชสำอาง ไม่ใช่แค่ Propolis ถ้าจะใช้ทำ Propolis ต้องใช้รังที่บ่มอยู่ด้านใน ซึ่งเราเชื่อในวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นถ้าจะปลูกอะไรสักอย่างเราต้องเอาสรรพคุณเขามาเป็น Base โดยกำหนดให้เขากินอาหารในระยะ 300 เมตร ที่เป็นศูนย์กลางรัศมีเราก็จะปลูกไม้ที่เราอยากให้เขากิน

สุดท้ายมันอยู่ที่ว่าเวลาเราเลือกก่อนที่จะปลูกเราต้องรู้ว่าเราปลูกเขาเพื่ออะไร ขายใคร ไปไหนได้บ้าง ที่ฟาร์มเราเป็นร่องสวน ร่องน้ำ เราจะปลูกอาหารทำคลังอาหารให้กับชันโรง และร่องน้ำก็ใช้ประโยชน์ได้ด้วย ก็คิดว่าปลูกอะไรก็ได้ให้ขายได้เลยมาเป็นใบบัว เรามองถึงความคุ้มค่ามากกว่า พอทำไปทำมาเกิดความหลากหลายในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งการมีชันโรงทำให้ผึ้งมา เพราะผึ้งเป็นสัตว์ชั้นสูงที่สุด ตั้งแต่เรามีชันโรงหลายๆ สายพันธุ์มา เรามีผึ้งเยอะมากขึ้น เขามาอยู่ด้วยกันได้เพราะมีอาหารเยอะ ทำให้ดีต่อระบบนิเวศ ถ้าเราศึกษาอะไรสักอย่างเราค่อนข้างลงลึกเพราะเราอยากรู้ว่าปลายทางเป็นอย่างไร”

ขยับขยายฟาร์มสุขที่โบนันซ่า เขาใหญ่

ล่าสุดบริษัทได้ขยายกิจการโดยร่วมทุนกับคุณไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโบนันซ่า เขาใหญ่ ใช้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า farm Suk @โบนันซ่า โดยมีแพลนจะปลูกดอกไม้ไทยโบราณบนที่ดิน 100 ไร่ “สิ่งที่กระตุ้นให้ทำโปรเจ็กต์นี้คือเกษตรกรไทยเก่งแต่ไม่ได้รับโอกาส อย่างตอนที่เราเริ่มคิดในมุมแบบนี้มีแต่คนบอกว่าเราบ้า ในขณะที่คุณป๋า (คุณไพวงษ์) มีความเข้าใจในบริบทของเรา ที่สำคัญอ้อเป็นคนที่ไม่รอโอกาส เมื่อผู้ใหญ่ให้โอกาสแล้วเราต้องทำเต็มที่ เพราะในแวดวงเราก็ถูกยกให้เป็นเจ้าแม่ เราก็ต้องไปอยู่กับเจ้าพ่อ เพราะคุณป๋ามีความเข้าใจในธุรกิจ และท่านได้ให้คุณสงกรานต์ เตชะณรงค์ มาเป็น Head คู่กับอ้อ เพราะคุณสงกรานต์เคยทำร้านอาหาร และอ้อก็เคยดูแลโปรเจ็กต์ร้านอาหารให้คุณสงกรานต์ด้วยเช่นกัน เขาคงเห็นความบ้าบิ่นในตัวเราเลยชวนให้มาแจมกันจนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ฟาร์มสุข @โบนันซ่า ธีมฟาร์มทูเทเบิล โดยเราจะส่งวัตถุดิบของเราเข้าสู่ร้านอาหารทั่วประเทศ และไม้หอมจะป้อนเข้าอุตสาหกรรมเวชสำอาง ซึ่งเดิมพื้นที่ที่คุณป๋าให้มาเป็นสวนมะพร้าวเก่า ก็ไปปรับพื้นที่ไว้สำหรับปลูกไม้หอมเป็นหลัก อย่างมะลิเราปลูก 50 ไร่ ไม้ตัวอื่นๆ อย่างละ 10 ไร่ และจะนำชันโรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ด้วย โดยตามกำหนดการจะเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้”

ดอกไม้ไทยที่แบ่งบานบนจานอาหาร

“ท้ายนี้อยากฝากถึงคนที่บริโภคดอกไม้ ต้องเลือกบริโภคให้ถูกด้วยว่า ณ วันนี้เรากินดอกไม้เพื่ออะไร กินเพื่อมูลค่าทางจิตใจ กินเป็นอาหาร หรือกินเป็นยา เพราะว่าจะได้รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมเราถึงกินดอกไม้ หลายคนคอมเพลนว่าดอกไม้ไม่อร่อยเลย เพราะไม่ได้เลือกหรือร้านที่นำไปใช้ไม่ได้เลือกให้เหมาะสม ดอกไม้ไม่ใช่ว่าดอกนี้จะต้องเสิร์ฟกับทุกอย่าง แต่มันมีวิธีการกินที่แตกต่างกัน กินผ่านความร้อน กินกลีบ กินเกสร กินกลิ่น ไม่ใช่ว่าพอเป็นหมวด Edible Flowers​​ แล้วเอาเข้าปากได้เลย ดังนั้นดอกไม้ที่แบ่งบานสวยงามอยู่บนจานอาหารเราก็ต้องรู้คุณค่าของเขาด้วย”  

https://www.facebook.com/farmsukedibleflower
Instagram : byfarmsuks


You Might Also Like...