การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ไม่ได้มีแค่ภายในบ้านเท่านั้น แต่พื้นที่นอกบ้านอย่างสวนก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เติมเต็มให้บ้านมีความสมบูรณ์ ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบให้รองรับความต้องการด้วยเช่นกัน อย่างการมีมุมพักผ่อนในสวน มีพื้นที่เดินเล่น มีแปลงปลูกผักสวนครัว มีมุมเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ที่แบ่งเป็นสัดเป็นส่วน เรียกว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นกิจกรรมนอกบ้านที่สมาชิกในครอบครัวสามารถทำร่วมกันได้ ไม่เพียงจะสร้างรอยยิ้มและความสุขเท่านั้นแต่ยังสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันและกันได้เป็นอย่างดี
บทความนี้เราชวนทุกคนไปเดินเล่นนอกบ้าน เพื่อพูดคุยกับคุณแนนซี่-กาลัญญา นีวงศ์ ซึ่งอดีตเธอก็เป็นเวิร์กกิงวูแมนคนหนึ่งที่เคยทำงานนอกบ้าน แต่ปัจจุบันหันมาสัมผัสดิน ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ จากคนไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของการเกษตรและห่างไกลเรื่องต้นไม้ แล้วอะไรกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
แรงบันดาลใจจากน้องสาว (แพท วงเคลียร์)
ที่นี่เป็นสวนเก่าอยู่ในย่านตลิ่งชัน เดิมทีเป็นดงกล้วย มะพร้าว พอผ่านจากยุคคุณตาคุณยายก็มาถึงยุคพวกเรา พื้นที่รกมากมีสิงสาราสัตว์เยอะ ซึ่งน้องสาวของแนนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันคือน้องแพท วงเคลียร์ เขามีไอเดียตรงพื้นที่ส่วนกลางของคุณตาคุณยายว่าเราเอามาทำอะไรดีไหม เลยมีไอเดียว่าเขาอยากปลูกผักออร์แกนิก ผักปลอดสาร ทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยใช้พื้นที่ตรงกลางแล้วจ้างคนสวน 2 คน เขาทำได้สักครึ่งปี เรามองเห็นว่าบ้านที่แนนอยู่ตรงนี้ก็มีสนามหญ้าเหลืออยู่ เพราะเดิมตรงนี้เป็นสนามหญ้าไว้วิ่งเล่น จูงสุนัขแค่นั้น ไม่ค่อยได้ออกมานั่งเล่นสักเท่าไหร่ เลยเกิดไอเดียว่าลองทำแบบของน้องด้วยดีกว่าแล้วเพิ่มสวนผักให้เกิดประโยชน์
แปลงผักที่แนนสร้างมีเขาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ย้อนกลับไปสมัยก่อนเราเคยเห็นภาพในพินเทอเรสต์ของเมืองนอกไม่ว่าจะแบ็กยาร์ด สวนผักหลังบ้านที่เขาทำ ทำไมเขาปลูกผักกันได้ แต่ไม่ได้ดูเป็นเกษตรกรจ๋า เป็นสวนลักษณะเหมือนคนเมือง แปลงผักสวย โมเดิร์น เลยศึกษาเรื่องของ Urban Farming เกษตรคนเมืองยุคใหม่ จากนั้นเลยกลายเป็นแรงบันดาลใจว่าเขามีการจัดสวน มีการปลูกแบบไม่ต้องเยอะก็ได้ ปลูกเฉพาะที่เขากิน นี่เป็นสิ่งที่จุดประกายแต่ก็ยังเก็บไว้ในใจ
เริ่มต้นจากศูนย์
ก่อนหน้านี้แนนเปิดร้านเกี่ยวกับแฟชั่นเสื้อผ้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปลูกผัก สิ่งที่ยากที่สุดคือไม่รู้อะไรเลย แฟนก็เป็นคนเมืองแถมยังอยู่ในวงการภาพยนตร์ การปลูกผักสำหรับเขาก็เป็นเรื่องไกลตัว แต่เราเป็นคนเริ่มก่อน เห็นการทำสวนของน้อง ก็เข้าไปดูว่าคนสวนเขาทำอะไรบ้าง จากความสงสัยทำให้เราต่อยอดและไขข้อข้องใจได้เองแล้วนำไปศึกษาต่อ ตอนแรกไปเป็นลูกมือของคนสวนด้วยซ้ำ เกิดจากครูพักลักจำ บวกกับเรามีแหล่งความรู้ที่หาได้จากหนังสือ ยูทูบ และรุ่นพี่ของแนนที่เป็นอาจารย์เรื่องการปลูกผัก
อยากมีแปลงผักเป็นของตัวเอง
พวกเรารับรู้เรื่องของผักที่มีทั้งสารเคมีและยาฆ่าแมลงกันอยู่แล้ว อีกอย่างบ้านแนนทำกับข้าวเองบางครั้งเราใช้วัตถุดิบนิดเดียว แต่ไปตลาดก็ต้องซื้อเป็นกำ สุดท้ายใช้ไม่หมดก็เน่าคาตู้เย็น เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จะดีกว่าไหมถ้าเราได้ปลูกเอง อยากได้เมื่อไหร่ก็ออกมาหยิบ ไม่สิ้นเปลือง ด้วยความที่เป็นแม่บ้าน ทุกอย่างต้องซื้อ พอเจอปัญหาแบบนี้ก็รู้สึกเสียดาย เป็นปัจจัยรวมๆ ที่ทำให้อยากมีแปลงผักเป็นของตัวเอง
เนรมิตสนามหญ้าให้กลายเป็นสวนผัก
เริ่มจากนำแบบสวนของเมืองนอกมาเป็นต้นแบบ ด้วยการใช้บล็อกคอนกรีตแล้วทาสีใหม่เพื่อลดความดิบลงหน่อย เอาท่อพีวีซีสีขาวมาดัดโค้ง ซื้อมุ้งแล้วนำมาตัด ใช้หลักการง่ายๆ ข้างล่างของมุ้งเป็นเหมือนสมอบกปักเอาไว้ แล้วเอากรวดทับ ด้านบนใช้คลิปหนีบ อยากเปิดปิดก็ทำได้ง่าย จากนั้นก็ซื้อดินมาใส่ผสมกับดินจากในสวนใหญ่ที่เป็นดินขุยไม้ไผ่ถูกทับถมกันมาเป็นดินดี บวกกับมีกรงไก่ มูลไก่ก็เป็นปุ๋ยอย่างหนึ่ง เดิมที 3 มุ้งนี้คือผักกินใบ เน้นผักสลัดแต่ไม่ได้ปลูกประจำ จะปลูกผักหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
อยากปลูกอะไรก็ลิสต์รายชื่อผักที่ชอบ ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงเมนูที่เราชอบกิน คุณผู้ชายชอบกินอะไร หรือซื้ออะไรกินกันบ่อยๆ ปลูกผักพื้นฐานอย่างมะเขือพวง พริกขี้หนู ชะอม ถั่วฝักยาว ขิง ข่า ใบมะกรูด จากนั้นก็มาจัดสรรพื้นที่ให้ดีว่าแต่ละอย่างควรปลูกมากน้อยแค่ไหน
หลังจากผัก 3 มุ้งนี้อยากทำแปลงแบบไม่มีมุ้งบ้าง เป็นผักกินผล แต่ถ้าอยากสร้างแปลงผักใหม่ก็ต้องดูกำลังตัวเองก่อนว่า 3 แปลงแรกที่ทำอยู่ดูแลไหวไหม ถ้าไหวก็พร้อมจะทำแปลงต่อไป ผักส่วนใหญ่ที่แนนปลูกเพาะด้วยเมล็ดทั้งหมด ซึ่งก่อนจะมีโรงเรือนแนนทำแปลงผักเยอะเลยทั้งทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า จัตุรัส ทำแบบสวนอังกฤษ พอตอนหลังอยากมีโรงเรือนเราก็ยุบตรงนั้นไป เพราะเริ่มจริงจังกับการปลูกผักมากยิ่งขึ้น ซึ่งระหว่างทางที่เราทำแปลงผัก แฟนเขาก็เริ่มสนใจ เห็นเราทำแล้วเห็นผลก็เริ่มอยากทำบ้าง จากหนุ่มคนเมืองที่ไม่สนใจเรื่องการปลูกผักแต่จากนั้นก็กลายเป็นลูกมือ เขาอร่อยกับผักที่เราปลูก มีความสุขที่ได้ไปเก็บผักมากินเอง
ทำโรงเรือนที่ชื่ออะควาโปนิกส์
ในโรงเรือนมีแปลงหนึ่งชื่ออะควาโปนิกส์ คือการผสมผสานระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำเกษตร มีบ่อปลาแล้วใช้น้ำที่อยู่ในบ่อปลามาหมุนเวียนในการปลูกผัก ก็คือผักได้น้ำจากบ่อปลาไปเจริญเติบโต โดยแฟนแนนเป็นคนศึกษาการทำอะควาโปนิกส์ หาความรู้จากเมืองนอกแล้วลงทุนทำเอง เริ่มจากการทดลอง เทสต์ก่อนว่าปลูกผักแล้วกินได้จริง ได้ผลดี ผักกินใบอยู่ได้ ปลูกมะเขือเทศผลออกเยอะมาก ซึ่งผักเติบโตได้จากปุ๋ยมูลปลา
ระบบของอะควาโปนิกส์ คือ เราเลี้ยงปลาในบ่อเป็นปลาอะไรก็ได้ ปลาดุก ปลานิล มีระบบหมุนเวียนของน้ำ ดูดน้ำจากบ่อปลาวนไปเรื่อยๆ แล้วน้ำจากบ่อปลาก็มาลงในแปลงผักอีกที น้ำจากบ่อปลาก็มาเลี้ยงผักที่ปลูก ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา บวบก็ได้ผลดี ส่วนวัสดุที่ใช้กับอะควาโปนิกส์คือหินภูเขาไฟ เนื่องจากซึมซับน้ำ ระบายน้ำได้ดีและมีความเย็น
เลยเป็นที่มาของโรงเรือนแห่งนี้ เพราะว่าต้องวางระบบไฟฟ้าในการเลี้ยงและทำหลังคาคลุม การทำอะควาโปนิกส์เมืองนอกนิยมมาก อย่างบางบ้านเลี้ยงกุ้งก็มีแปลงผัก บางบ้านก็เลี้ยงปลาแล้วก็กินปลาไปด้วย แต่ของบ้านเราเลี้ยงอย่างเดียวไม่ได้ฆ่าก็ปล่อยให้เขาแก่ตายไป
เลี้ยงไก่
แต่ก่อนเราเคยสร้างกรงกันเองโดยใช้ไม้ไผ่ เพราะมีกอไผ่อยู่ท้ายสวน แต่ข้อเสียของมันคือผุพังง่ายไม่แข็งแรง ปลวกขึ้นราขึ้น และมีสัตว์เลื้อยคลานที่พยายามจะเข้ามาในกรงไก่ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรงเหล็ก ตัวกรงเป็นตะแกรงเหล็กฉีก ด้านล่างเทปูนใต้คานกรงป้องกันหนูขุดเข้ามากินอาหารไก่ โดยเราแบ่งเล้าไก่เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนห้องนอนกับส่วนเดินเล่น ในส่วนที่เป็นห้องนอนก็จะเป็นที่ฟักไข่ด้วย ส่วนนี้จำเป็นต้องมีหลังคา เราใช้หลังคาเมทัลชีตเพราะเบา ทน และไม่แพง ส่วนที่เดินเล่นนั้นเปิดโล่งด้วยตะแกรงเหล็กฉีกรอบด้าน เอาไว้ให้ไก่เดินเล่น กินอาหาร คุ้ยเขี่ย ถ้าเราวางตำแหน่งทิศของกรงดี รับแสงแดด รับลมดี มีการถ่ายเทระบายของอากาศดี เรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ก็จะไม่ค่อยเป็นปัญหาค่ะ
ส่วนในเรื่องอาหารก็ให้กินอาหารสำหรับไก่ไข่ แล้วเราก็เสริมด้วยผักหญ้าที่มีในสวน อะไรที่เราอ่านเจอว่าดีเราก็เอามาให้เขากิน บังเอิญว่าในสวนเรามีทุกอย่าง เช่น ฟ้าทะลายโจร ตำลึง กระถิน หรือผักในแปลงที่ไม่สวยหรือเหลือๆ ก็เอามาให้น้องไก่กินได้ รวมทั้งศัตรูพืชบางอย่างที่มาทำร้ายผักของเรา เช่น หนอน ก็โยนให้ไก่กินได้เช่นกัน ไก่ที่เลี้ยงมี 2 สายพันธุ์คือ โรดไอส์แลนด์ และไวต์เลกฮอร์น เลี้ยงไก่ไข่ มีไข่ให้เราทุกวัน วันละ 3 ฟอง เราไม่ต้องซื้อไข่ไก่กินเลย
เคล็ดลับในการดูแลสวน
คีย์เวิร์ดเดียวที่แนนใช้คือ “ความใส่ใจ” การทำสวนปลูกผักถ้าจะมองลึกๆ แล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมากค่ะ เราควรศึกษาพื้นฐานเกี่ยวกับการปลูกผักก่อน เช่น การเพาะเมล็ด การปรุงดิน บางคนอยากปลูกผักแต่ไปนึกถึงผักที่โตสวยงามแบบของคนอื่นเลย มันจะดูข้ามกระโดดมากเกินไป ควรจะค่อยเป็นค่อยไป มีความรู้พื้นฐานให้แน่นเสียก่อน ส่วนการใส่ใจในเรื่องอื่นๆ ก็มีเช่นกัน แม้แต่การรดน้ำ เช่น ผักชนิดไหนควรรดน้ำแบบใด การเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าเป็นพริกควรเด็ดพริกอย่างไร ตัดถั่วฝักยาวควรตัดตรงไหน การใช้ปุ๋ย ผักชนิดนี้เหมาะกับปุ๋ยแบบใด ปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้สำคัญมากค่ะ
คนเมืองกรุงก็ปลูกผักได้
คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าการทำเกษตรปลูกผักทำสวนนั้นเป็นเรื่องของคนต่างจังหวัดหรือชาวสวนชาวไร่ อยากให้ลองเปลี่ยนแนวความคิดว่า คนอยู่ในเมืองกรุงก็สามารถที่ทำแบบอะไรแบบนี้ได้เช่นกัน วัสดุปลูกหรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็หาซื้อได้ในกรุงเทพฯ แต่อาจจะเป็นสเกลที่เล็กลง เช่น ปลูกแปลงเล็กๆ หรือปลูกในกระถางเพื่อกินกันภายในครัวเรือนก็เพียงพอแล้ว อยากให้ทุกคนใส่ใจเรื่องผักปลอดสารพิษกันเยอะๆ ถึงแม้ว่าจะปลูกและดูแลยากสักหน่อย กำจัดศัตรูพืชก็ยาก แต่เรามีน้ำหมักธรรมชาติหรือชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืชแบบไม่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้งผักปลอดสารพิษมีรสชาติดีและอร่อย คุณค่าทางสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระยังมีมากกว่าผักทั่วไปตามท้องตลาดด้วย
อยากชวนให้มาปลูกผักกินกัน
การปลูกผักสำหรับคนเมืองเป็นเรื่องไม่ไกลตัว อยู่ที่ว่าเราจะเอาตัวไปใกล้ชิดกับมันแค่ไหน พื้นที่มากปลูกมาก พื้นที่น้อย ริมระเบียงหลังห้องก็มีคนทำสวนผัก ไม่อยากให้คิดว่าเป็นเรื่องของคนสวน ค่อยๆ เรียนรู้ ทุกคนต้องเริ่มจากศูนย์ อย่าก้าวกระโดด อย่าคิดว่าผักต้องสวยเลย เราต้องฟูมฟักตั้งแต่การเพาะเมล็ด ดูแลให้ได้ทุกช่วง มันคือความใส่ใจ
แนนเชื่อว่าผลพลอยได้ของการปลูกผักทำให้คนในครอบครัวมีความสุขมากขึ้น คนใกล้ตัว แฟน บ้านใครมีผู้สูงอายุไม่ต่างจากเด็กน้อยเป็นโซ่ทองคล้องใจได้ มีกิจกรรมทำร่วมกันมากขึ้น คุณน้าข้างบ้านเดินมาหาพี่เขามีอะไรมาให้ เรามีอะไรแบ่งปันให้เขา วันนี้เรามีไข่ให้เขา มีมะเขือเทศให้เขา พรุ่งนี้มาละทำแกง ทำอะไร มีน้ำใจ แล้วก็อย่าปลูกเยอะ ถ้าไม่ได้ค้าขาย ปลูกแค่พอกิน รู้แค่จำนวนสมาชิก กินแต่พอดี ถ้าเหลือให้นึกถึงคนใกล้ตัว มีความสุขแน่นอน สุขภาพดี ได้กินผักมากขึ้น เมนูมีผักมากขึ้น เพื่อสุขภาพกาย ได้กินผักปลอดสาร สุขภาพใจ จะมีสิ่งอื่นใดที่ตื่นเช้ามาได้ยินเสียงนกร้อง ปล่อยไก่เดินเล่น ได้สำรวจผัก ได้คุยกับพืชผัก ปฏิสัมพันธ์ที่ดี โดยให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง