Design Kitchen & Home

งานออกแบบที่เปลี่ยนพลาสติก ให้ตอบโจทย์การใช้งานและสิ่งแวดล้อม


ก็อต-ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล นักออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม เจ้าของรางวัลงานประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์จากหลายเวที ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของ Studio TEAL Industrial & Product Design และแบรนด์ I.divert ผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านที่ผลิตจากวัสดุหลักอย่าง Polymer Plastic วันนี้คุณก็อตได้มาเปิดมุมมองเรื่องงานออกแบบผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ที่สร้างปรากฏการณ์ความแปลกใหม่ให้กับวงการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม เทียบชั้นงานดีไซน์ของต่างประเทศได้เลยทีเดียว                   

ปูเส้นทางสู่อาชีพนักออกแบบ  

ผมจบปริญญาตรีด้านออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โดยรวมอยู่ในสโคปที่ชอบเรื่องวาดรูป ออกแบบ พอเรียนจบเริ่มต้นทำงานเป็นนักออกแบบที่บริษัทญี่ปุ่น ออกแบบเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวคือย้ายงานมาทำบริษัทผลิตรถยนต์ และได้ศึกษาต่อที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI Chanapatana) สาขาออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ ที่เลือกเรียนที่นี่เพราะมีเกณฑ์การตัดสินใจหลายอย่างคือ ต้องการหาความรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้น ด้วยความที่ย้ายบริษัทข้ามมาอีกสายงานหนึ่งเลยรู้สึกว่าความรู้เรายังไม่แน่นพอ จึงมองหาสถาบันที่เป็นนานาชาติ เน้นการหามุมมองใหม่ๆ ที่มีอาจารย์ต่างชาติสอน โดยเรียนและทำงานควบคู่กันไปได้ และนี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ได้เข้าสู่วงการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว

ประกวดออกแบบเก็บเกี่ยวประสบการณ์

พอมาเรียนที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ เราก็ได้มุมมองการออกแบบ 2 แขนง เพราะได้เรียนทั้งอินทีเรียดีไซน์และโปรดักต์ดีไซน์ โดยส่วนตัวผมซึ่งมีพื้นฐานด้านการออกแบบมาจึงได้รับโอกาสจากอาจารย์ต่างชาติค่อนข้างเยอะ เช่น ช่วงซัมเมอร์ก็ได้ไปญี่ปุ่น เข้าร่วมเวิร์กช็อปบูรณะบ้านเก่า ถือเป็นการเปิดมุมมองศักยภาพของตัวเอง เพราะงานอินทีเรียมันเป็นภาพที่กว้างกว่างานออกแบบผลิตภัณฑ์ ในขณะที่งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ได้โอกาสส่งผลงานเข้าประกวดอยู่ตลอด งานประกวดที่ได้รางวัลคือการออกแบบ Polymer Plastic โดยชูวัสดุเม็ดพลาสติกนำมาใช้ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ในงาน Creative Design Contest 2020 ที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ร่วมกับ SCG จัดขึ้นใน 3 หัวข้อ คือ ถังเก็บน้ำ กระติกน้ำเย็น และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งโปรดักต์ของผมได้รางวัลชนะเลิศทั้ง 3 หัวข้อ และผลงานที่ชนะยังถูกนำไปพัฒนาเพื่อผลิตจริงอีกด้วย

  

งานออกแบบกับวัสดุ Polymer Plastic

พอเริ่มเข้ามาสู่งานประกวดทำให้ต้องเข้าไปวิเคราะห์วิธีการต่างๆ ของงาน Polymer Plastic แล้วผมก็ค้นพบข้อหนึ่งว่ามันไม่ง่ายเหมือนงานออกแบบที่มีแพตเทิร์น แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมสนใจงานพลาสติกคือ มีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบ ยกตัวอย่าง พลาสติกภายนอกที่เราเห็น ถ้ากลับด้านเข้ามาเราจะเห็นว่ามีโครงสร้างที่เปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังเต็มไปหมด พอมาเป็นดีไซเนอร์ยิ่งทำให้เข้าใจถึงกระบวนการว่าต้องออกแบบแบบนี้จึงจะเสริมโครงสร้างให้แข็งแรง ทุกชิ้นงานต้องมีการ Drop Test ทดสอบชิ้นงานเมื่อตกจากที่สูงแล้วแตกไหม การออกแบบที่ต้องคำนึงเรื่องการป้องกันการลามไฟ ออกแบบให้มีขนาดพอดีกับมือ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่มีความน่าสนใจ

ความโดดเด่นของ Polymer Plastic คือคุณสามารถทำอะไรก็ได้ ทั้งรูปทรง ดีไซน์ สี วัสดุที่นำมาผสมผสาน เช่น งานกระถางที่ผมทำ ตัวกระถางสีเขียวเป็นเม็ดพลาสติกที่ผสมจากกล่องนมโรงเรียน โดยด้านในของกล่องที่เป็นฟอยล์สีเงินเราก็นำเข้ามาผสมกับเม็ดพลาสติกในสัดส่วนที่ไม่มากน้อยเกินไป ปั่นเข้ากับเม็ดพลาสติกและนำมาฉีดขึ้นรูป หรืออยากมีความรักษ์โลกก็สามารถทำตรงนี้ได้เช่นกัน และตอนนี้ผมมองว่าเทคโนโลยีทำให้มีความง่ายมากขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องไปขึ้นโมลด์เหล็กด้วยเงินหลักแสนหลักล้าน เพียงคุณไปซื้อเครื่องปรินต์ 3D อย่างเช่นผมอยากได้กระถางทรงนี้ก็เอาไปขึ้น 3D มาก่อน แล้วปรินต์ออกมาเพื่อดู ทดลองก็เป็นโปรโตไทป์ให้เราเห็นก่อนที่จะทำจริง ขายจริง อนาคตหากครื่องปรินต์ 3D มีการพัฒนาไปไกลกว่าเดิม สามารถเก็บงานได้เนี้ยบ สร้างความแข็งแรงได้เหมือนกับการฉีดพลาสติกจริงๆ ผมก็คิดว่ามีแนวโน้มที่คนจะสามารถเข้าถึงและออกแบบผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ นี่คือความสนุกที่ได้จากวัสดุพลาสติก ทั้งเรื่องความทนทาน การทำดีไซน์ให้ออกมาในรูปแบบต่างๆ หรือนำไปรีไซเคิลใหม่ก็สามารถทำได้

นอกจากรูปลักษณ์แล้วยังต้องศึกษาเรื่องเครื่องจักร อย่างเครื่องขนาดเท่านี้สามารถฉีดได้แค่ปริมาตรเท่านี้ หรือเครื่องขนาดนี้ฉีดพลาสติกได้แบบนี้ ทำให้รู้สึกเหมือนเล่นเกม อาวุธไหนจะเหมาะกับแบบไหน ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องท้าทาย นอกจากนี้เราก็ต้องมาเข้าใจเรื่องเม็ดพลาสติกด้วย คุณสมบัติของแต่ละตัว เราจะเห็นได้ว่าวัตถุดิบของพลาสติกมีหลากหลายมาก สีและการผสมก็แตกต่างกันไป ผมจึงมองว่าถ้าเราศึกษาและเข้าใจอย่างจริงจังก็เป็นส่วนขับเคลื่อนให้เราสามารถพูดคุยกับเอนจิเนียร์ หน้างาน และผู้ประกอบการแต่ละเจ้าได้อย่างเข้าถึงและเข้าใจ

ออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม

หลังจากเข้าไปคลุกคลีในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม ทำให้ผมพบจุดอ่อน (Pain Point) ที่ยังเป็นข้อจำกัดโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ซึ่งมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น แต่ไม่สามารถหาคนมาออกแบบเป็นตัวกลางที่มีความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการ การดีไซน์และข้อจำกัดในการผลิตได้ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รับดีไซน์มาจากจีน ญี่ปุ่น โดยซื้อแบบ ทำแม่พิมพ์ แล้วเอามาผลิตในประเทศไทย

การทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์เราอาจจะไม่ได้ใช้ความเป็นอาร์ตมาก แต่ใช้ความเป็นจริงที่พ่วงไปด้วยตรรกะเชิงเอนจิเนียร์ เข้าใจว่าระบบการผลิตเป็นแบบนี้ ต้นทุนของผู้ประกอบการเท่านี้ ทำได้แบบนี้ การใส่ดีไซน์เราอาจจะใส่ได้แค่ 30% ที่เหลือต้องไปบวกต้นทุน โรงงาน อุปกรณ์การผลิตจึงจะได้เป็นโปรดักต์ดีไซน์หนึ่งชิ้น ดังนั้นในงานออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรมผมมองว่ามีความสเปเชียลลิสต์มากๆ ลักษณะงานของผมจึงเป็นการแนะนำกันปากต่อปาก หลักๆ สตูดิโอออกแบบของผมจึงเน้นงานออกแบบที่เกี่ยวกับพลาสติกโดยตรง เป็นสเปเชียลลิสต์ให้คนที่ต้องการงานพลาสติกรูปแบบใหม่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลาสติก

ข้อดีของผมคือพอเราทำงานพวกนี้ได้ ผู้ประกอบการเขาก็อยากได้งานรูปแบบโปรดักต์ดีไซน์ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์หรือรสนิยมแบบคนไทย ซึ่งผมก็เป็นนักออกแบบหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ผมยังทำแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองคือแบรนด์ I.divert เป็นของตกแต่งบ้านที่ใช้วัสดุพลาสติกรูปแบบง่ายๆ ทำออกมาเป็นกระถางต้นไม้ที่เน้นอรรถประโยชน์ เช่น นำไปใช้ใส่ต้นไม้ เป็นสตูลนั่งได้ เป็นบ่อน้ำ บ่อปลาได้

ออกแบบ Polymer Plastic ให้แตกต่างไปจากเดิม

ผมอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับความเชื่อ เคยคิดว่าศาลพระภูมิที่อยู่ตามบ้านต้องตากแดดตากฝน จริงๆ พลาสติกที่ผมกำลังทำมีการเคลมว่าตัวเม็ดพลาสติกอยู่ได้ถึง 20-30 ปี  ผมคิดว่าถ้าเราสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาจากเม็ดพลาสติกแล้วชูเรื่องความแข็งแรงทนทาน ตากแดดลมฝน และสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย ในขณะที่ทำโดยที่ไม่ได้ลบหลู่ แต่ทำโดยปรับเปลี่ยนการออกแบบให้หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม มีความเป็นโมเดิร์น สามารถยกติดตั้งได้ง่าย เคลื่อนย้ายได้สะดวก ก็เป็นไอเดียเล็กๆ ว่าถ้าเราทำขึ้นมาก็น่าจะปฏิวัติอะไรบางอย่างได้

ติดตามและชมผลงานกันได้ที่ Facebook : Nuttawut.Teal, IG : i.divert


You Might Also Like...