จากความฝันของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่เคยนอนดูละครหลังข่าวกับแม่ เห็นภาพบ้านสวยๆ ในจอเคลื่อนผ่านสายตาไปมา จนทำให้เขาเปรยกับแม่ว่าถ้าโตขึ้นทำงานจะซื้อบ้านใหม่ จากคำพูดในวันนั้นกลายเป็นฝันที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้
จะว่าไปแล้วช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราก็เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่เราค่อยๆ หาในระหว่างการเดินทาง หยิบผิดบ้าง ถูกบ้าง เราต่างก็ต้องใช้เวลาในการตามหาจนกว่าจะเจอรูปทรงที่ใส่ได้อย่างพอดี บางทีคิดว่าใช่แต่วางไปแล้วความรู้สึกไม่ตรงกับใจก็ต้องเริ่มหากันใหม่จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่
บ้านของคุณแมคที่เราไปเยือนหลังนี้น่าจะตอบโจทย์อะไรได้หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่เขาตามหาจนเจอ พร้อมบอกกับเราว่ามีความสุขและภูมิใจกับทุกๆ สิ่งที่ได้ทุ่มเทให้กับบ้านหลังนี้
“ผมทำงานอยู่กรุงเทพฯ มาประมาณ 10 ปี ค่อยๆ ย้ายที่อยู่ไปตามกำลัง จากหอพักก็มาอยู่คอนโดฯ แต่เหตุผลที่ทำให้ซื้อบ้านมีด้วยกัน 2 เหตุผล เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะ บ้านมีแค่ห้องนอนเดียว เราก็นอนหน้าห้องแม่ ดูละครกับแม่ เคยพูดเล่นๆ กับแม่ว่าถ้าโตขึ้นทำงานจะซื้อบ้านใหม่ ไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะซื้อบ้านได้
“จริงๆ ซื้อบ้านหลังแรกหลังจากทำงานไปได้ประมาณ 2 ปี เมื่อ 8 ปีก่อน ตัดสินใจลองเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตด้วยการซื้อบ้านที่พัทลุงให้แม่ หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เริ่มซื้อคอนโดฯ ยอมเป็นหนี้ก้อนที่ 2 แต่เราก็พยายามรีบปิดหนี้ก้อนแรกเพื่อตัดสินใจมาซื้อบ้านหลังนี้อีก
“ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องทำงานที่บ้าน แล้วคอนโดฯ มีขนาดประมาณ 20 กว่าตารางเมตร เป็นงานที่ต้องอาศัยความครีเอทีฟ หันไปทางซ้ายก็เจอผนัง ทางขวาก็ผนัง สมองมันตื้อมันตัน เพราะต้องอยู่คอนโดฯ ทุกวัน จากเมื่อก่อนกลับมาแค่ตอนค่ำ เช้ามาก็ไปทำงาน แต่พอได้ใช้เวลาอยู่ 24 ชั่วโมง รู้สึกอึดอัด แล้วเราเป็นคนชอบต้นไม้ ถ้ากลับคอนโดฯ จุดที่ทำให้ผ่อนคลายที่สุดคือระเบียง เพราะมันเต็มไปด้วยต้นไม้ ยิ่งอยู่นานต้นไม้ยิ่งแน่น เริ่มลังเลแล้วว่าน่าจะขยับขยายดีกว่า”
จากหลายๆ เหตุผลประกอบกันจึงทำให้คุณแมคเริ่มตระเวนหาบ้านโดยเลือกจากสถานที่และงบประมาณจนกระทั่งเจอโครงการที่ถูกใจ “ไปดูโซนบางใหญ่ก่อน ค่อนข้างไกลแต่ชอบ รถไม่ติด คนอยู่บ้าน แต่พอเริ่มคลายล็อกดาวน์กลายเป็นว่ารถติดตั้งแต่ออกจากหมู่บ้าน ราคาได้แต่ทำเลไม่ได้ เลยเปลี่ยนโซนเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ หน่อย คิดว่าเพิ่มเงินอีกประมาณหนึ่งแล้วเราโอเคน่าจะดีกว่า ตอนนั้นโจทย์ผมคือต้องเป็นบ้านที่มีบริเวณ เพราะชอบปลูกต้นไม้ เลยเลือกบ้านแปลงมุม
“สุดท้ายก็มาเลือกโครงการนี้ เป็นบ้านแฝดที่ไม่ได้ใช้ผนังติดกันเหมือนที่เราเคยเห็น ส่วนที่ติดกันคือผนังครัวนอก เป็นบ้านที่ให้อารมณ์เหมือนบ้านเดี่ยว ซึ่งตอบโจทย์ผม เพราะส่วนครัวเราไม่ได้ใช้ทั้งวันอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นก็ยังรู้สึกลังเลว่าจะซื้อดีไหม เพราะเรายังมีภาระอยู่ 2 หลัง เลยคุยกับเพื่อนเรื่องวางแผนชีวิตว่าเราจะตายที่อายุเท่าไหร่กันดี ไม่อยากมีอายุที่ยืนยาว เพราะมันก็อยู่ยาก สัก 70 ปีกำลังดี กลับมามองตัวเองว่า ถ้าอยากซื้อบ้านแล้วเราตายตอนอายุ 70 ปี ตอนนี้อายุ 30 กว่า เราจะมีเวลาใช้ชีวิตได้อีก 30 กว่าปี ถ้าไม่ซื้อบ้านตอนนี้เราจะมีเวลาอยู่ในบ้านน้อยมาก นี่เลยทำให้เรารู้สึกระเบิดตัวเองอีกครั้ง แล้วก็ตัดสินใจซื้อทันที”
บ้านแฝดขนาด 3 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น 1 ครัวแพนทรี และอีก 1 ครัวหนักคือแปลนที่ถูกวางไว้เหมือนกับบ้านหลังอื่นๆ ในโครงการ เพียงแต่บ้านของคุณแมคซึ่งเป็นแปลงมุมมีเนื้อที่สำหรับสวนหย่อมสามารถปลูกต้นไม้ได้ โดยมีทั้งลิ้นมังกร ซานาดู กวักมรกต ซึ่งนำมาจากบ้านที่พัทลุง แล้วเลี้ยงต่อบนคอนโดฯ และสุดท้ายก็ย้ายมาปลูกที่บ้านหลังนี้ เรียกว่าต้นไม้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างบ้านทั้ง 3 หลัง เป็นต้นไม้ที่ทั้งคุณแม่และคุณแมคชอบปลูก ช่วยสร้างบรรยากาศให้บ้านดูสดชื่นและผ่อนคลาย
นอกจากให้ความสำคัญกับสวนแล้ว บรรยากาศภายในบ้านก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสไตล์ที่คุณแมคชอบด้วยเช่นกัน รวมถึงสถานที่เดินทางสะดวก สามารถเข้าออกได้หลายทาง “มาดูที่นี่ประมาณ 3 รอบ จังหวะที่มาช่วงบ่ายๆ แสงสาดเข้ามาในบ้านทำให้บ้านดูมีอะไรมากขึ้น ตัวบ้านหันไปทางทิศใต้ ตอบโจทย์เรื่องแสงแล้ว อีกอย่างแบ่งเป็นสัดส่วนดี มีโถงตรงกลาง และมีครัว 2 ส่วน เวลาแม่มาก็ทำอาหารได้สะดวกสบาย ต่างจากครัวคอนโดฯ ที่แม่ไม่รู้สึกแฮปปี้
“ด้วยความที่เราชอบแต่งบ้าน เป็นนักการตลาดมาก่อน เคยดูโปรดักต์สินค้า เราไปออกงานแฟร์ต่างๆ เราก็จะเห็นวัสดุในการแต่งบ้านมาตลอด พอซื้อบ้านก็อยากแต่งบ้านในแบบที่เราชอบ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าชอบแนวไหนกันแน่ เพราะความชอบมันเปลี่ยนไปเรื่อย เลยกลับมานั่งถามตัวเอง ดูจากพินเทอเรสต์บ้าง เพจแต่งบ้านบ้าง ศึกษาจากยูทูบเบอร์ทั้งในไทยและเกาหลี จนเจอสไตล์ผสมผสานระหว่างเจแปนดิ มินิมอล และสแกนดิเนเวียน ทั้ง 3 สไตล์นี้ถูกผสมรวมอยู่ในบ้านของผม”
เมื่อคุณแมคตอบคำถามตัวเองได้แล้ว ก็เริ่มทำการบ้านอย่างหนัก จุดไหนที่ต้องการปรับเปลี่ยนก็จะถ่ายรูป วัดขนาด รวมถึงหา Reference เก็บไว้ แล้วส่งให้กับบริษัทที่รับตกแต่งภายใน จนเจอบริษัทที่ถูกใจ “ตอนผมออกแบบพยายามคิดถึงตัวเองว่าตอนที่นั่งอยู่ตรงนั้นเรารู้สึกอย่างไร ต้องมีการวางแผนทั้งหมดว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร อะไรควรอยู่ตรงไหน ต้องเห็นภาพตัวเองในจุดนั้นๆ ก่อน ถ้ายังไม่เห็นตัวเองก็แสดงว่ายังไม่ใช่”
ครัวแพนทรีถูกปรับเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนค่อนข้างเยอะ จากผนังทึบก็เจาะเป็นเคาน์เตอร์บาร์ สามารถนั่งเล่นหรือดื่มเครื่องดื่มได้จากมุมนี้ ซึ่งคุณแมคบอกว่าอยากให้อารมณ์เหมือนคาเฟ่ ประตูบานเลื่อนกระจกกรอบอะลูมิเนียมสีดำที่เป็นประตูกั้นห้องครัวก็ย้ายไปไว้ตรงครัวหนัก แล้วเปลี่ยนเป็นประตูไม้แทน
ฟังก์ชันใช้งานในบางจุดปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและลักษณะการใช้งานจริง อย่างเช่นระบบน้ำดีที่อยู่ข้างตู้เย็นก็ถูกย้ายตำแหน่งออกไป เพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นโดนตู้เย็น แล้วเพิ่มพื้นที่ว่างบนเคาน์เตอร์สำหรับวางของก่อนเก็บเข้าตู้เย็น เลือกใช้หน้าบานครัวไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น โครงสร้างพลาสวูดกันน้ำ และตะแกรงคว่ำจานที่ออกแบบไว้บนตู้แขวน ดูเป็นสัดส่วนและใช้งานได้สะดวก
“พอมี 2 ครัวเราก็แยกฟังก์ชันให้ชัดเจนไปเลย ครัวในบ้านสำหรับอุ่นอาหารเบาๆ เป็นมุมชงกาแฟ ไว้ล้างจาน ที่เหลือก็เก็บของ ส่วนครัวด้านนอกก็ทำอาหารหนักๆ โดยเราคิดรูปแบบการใช้งานก่อนว่าทำอาหารตรงไหน ซักผ้าอย่างไร จะทำให้การดีไซน์ชัดเจนมากขึ้น โดยเราก่อปูนขึ้นมาเว้นช่องสำหรับวางเครื่องซักผ้า ออกแบบชั้นวางผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด”
ถัดจากครัวแพนทรีเป็นมุมทานข้าว เชื่อมโยงกับห้องนั่งเล่นและยังมีมุมพักผ่อนสบายๆ ที่คุณแมคตั้งใจให้เป็นพื้นที่พักผ่อนและอยากทิ้งตัวลงบนเบาะนุ่มๆ หรือห้องนอนบนชั้น 2 คุณแมคก็ลงมือออกแบบและดีไซน์เอง สร้างบรรยากาศให้ดูสวยละมุนมากขึ้น ตั้งแต่การทำซุ้มโค้งในโซนแต่งตัวที่มีทั้งโต๊ะเครื่องแป้งและตู้เสื้อผ้า รวมถึงการออกแบบกระจกเงาให้สามารถเลื่อนเข้าออกได้ หรือแม้แต่ห้องน้ำก็เพิ่มชั้นวางของไม้ และกรอบไม้ตรงกระจกเงา เพื่อเพิ่มความสวยงามให้ทั้งชั้นบนและชั้นล่างเป็นแนวเดียวกัน
หลังจากทุกอย่างถูกออกแบบให้เป็นไปตามฟังก์ชันและสไตล์ที่คุณแมคชอบแล้วก็ตาม แต่อีกหนึ่งความท้าทายที่กลายเป็นโจทย์ยากให้กับเจ้าของบ้านก็คือ การเลือกเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งชิ้นเล็กชิ้นน้อย “มี 2 ส่วนที่เราให้บริษัทตกแต่งภายในทำ และอีกส่วนที่เขาไม่ได้ทำ ดังนั้นเราต้องเห็นภาพให้ชัดว่าโซฟาสีนี้ โต๊ะทานข้าวทรงนี้ ทีวีต้องแบบนี้นะ เตียง พัดลม กรอบรูป มันเป็นอะไรที่ปวดหัวครับ เราจะมีความกังวลว่าสิ่งที่เราเลือกจะเข้าไหม สีนี้โอเคหรือเปล่า เราเครียดตลอดระหว่างการทำบ้าน เพราะไม่เคยเห็นแบบ 3D มาก่อน ถึงทุกอย่างจะอยู่ในหัว แต่เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราคิดไว้จะสวยไหม
“วันที่ช่างทำเสร็จ ผมเริ่มแกะของออกทีละชิ้นๆ น้ำตาไหลเลย ไม่คิดว่าสิ่งที่เราคิดมันออกมาจะสวย และตอบโจทย์ได้มากขนาดนี้ เวลาที่เราเสียไปกับการเดินทางไปเลือกด้วยตัวเองมันคุ้มค่ามาก ตอนที่ช่างกำลังสร้างผมอยากมาบ้านทุกวัน อยากเห็นทุกส่วนค่อยๆ ถูกเติมไปทีละนิด ภูมิใจกับบ้าน SS Home ของผมหลังนี้ที่สุดเลย”
เจ้าของ คุณแมค-ศุภสิทธิ์ เศรษฐสุข
ขนาดพื้นที่ใช้งานครัว 3 ตารางเมตร