Design Kitchen & Home

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นศิลปะสวยงาม


เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่มีผลงานอัปไซเคิล (Upcycle) นำเอาขยะหรือวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ และเธอยังนิยามตัวเองว่าเป็น “Social Activist Artist” ที่รังสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม

ล่าสุดเธอมีผลงานนิทรรศการAdaptation ทั้งจำ ทั้งปรับ” ที่ร่วมกับnoble PLAY โดยโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ผู้นำด้านอสังหาฯ ได้นำพาทุกคนออกเดินทางไปสำรวจความหมายของการปรับตัวและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสาร ทำให้ผู้ชมได้ใคร่ครวญถึงบทบาทของตนเองในสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ความเป็นศิลปินของวิชชุลดา

เอ๋-วิชชุลดา เป็นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความสนใจในประเด็นของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี ทุกๆ อย่างที่มันเป็นปัญหาก็จะดีขึ้นตาม หลังจากเรียนจบคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ทำงานด้านนี้มาร่วม 10 ปี ค่อยๆ พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จากที่ทำงานคนเดียว ปัจจุบันเรามีทีม Social Enterprise หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นธุรกิจเพื่อสังคมทั้งเรื่องการดีไซน์และออกแบบ เหตุผลที่เลือกการดีไซน์และออกแบบมาพูดถึงเรื่องนี้เพราะมองว่าเป็นเรื่องต้นน้ำ ทุกๆ อย่างที่อยู่รอบๆ ตัวมันเกิดจากคนที่ก่อสร้างขึ้นมา เบื้องหลังคือนักออกแบบ ศิลปิน ดีไซเนอร์ทุกคน ซึ่งถ้าเราไม่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม มันจะเป็นงานที่สวยงามอย่างเดียว สุดท้ายก็จะเกิดขยะเต็มไปหมด ฉะนั้นเราต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง แก้ที่ศิลปิน ดีไซเนอร์ ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม งานออกแบบจะสวยงาม จะคอมพลีต ดูดีขึ้นมาได้ต้องตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และสร้างสรรค์ออกมาให้สวยงาม

การทำงานรูปแบบศิลปะจัดวาง (Installation Art)

การทำงาน Installation Art จะเริ่มจากการไปดูก่อนว่าในแต่ละพื้นที่มีขยะอะไร มีวัสดุอะไรที่น่าสนใจ แล้วค่อยมาทำเป็นชิ้นงาน หรือหยิบเอามาพูดมาเป็นประเด็นต่างๆ ได้ เอ๋มองว่าศิลปะก็เหมือนเป็นการสื่อสาร เราสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ไม่เก่ง แต่เราอยากจะบอกว่ามันสามารถสร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะต่างๆ ได้

สำหรับนิทรรศการAdaptation ทั้งจำ ทั้งปรับ” ที่จัดขึ้นในรูปแบบศิลปะจัดวาง ทางโนเบิลเองก็มองถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เราจึงหาจุดของการมาทำงานร่วมกัน จึงมองไปในภาคส่วนโนเบิลที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีวัสดุก่อสร้างเหลือใช้ (Construction Waste) มหาศาล จากตรงนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นสู่การทำงานในครั้งนี้ โดยนำวัสดุก่อสร้างที่เป็นขยะมาชุบชีวิตใหม่ เกิดการพัฒนาต่อยอดร่วมกัน โดยเราได้รับการสนับสนุนวัสดุก่อสร้างที่เหลือทิ้งจากโนเบิล ซึ่งเอ๋ก็เดินเข้าไปที่ไซต์งานก่อสร้าง ไปเลือก ไปหยิบ ไปคอลเล็กมา แล้วนำมาสร้างเรื่องราวใหม่ โดยพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองในย่านเพลินจิตที่มีความเก่าแก่ มีความเป็นมาอย่างยาวนาน มีทั้งตึก อาคารที่สวยงาม มีวิถีชีวิตของผู้คน เราจึงนำมาผนวกรวมกันเป็นงานศิลปะเกิดขึ้นมาในครั้งนี้

ในแต่ละส่วนได้แฝงเรื่องราวของปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ลงไปด้วย เพราะมักจะมีคำถามว่าการทำงานศิลปะไปแล้วอิมแพกต์ที่เกิดขึ้นคืออะไร วัดผลอย่างไรได้บ้าง สำหรับการทำงานครั้งนี้ไม่ได้มีเราที่เป็นศิลปินคนเดียว แต่ยังมี Special Thank อีกมากมายหลายท่าน ทุกงานที่ทำเราตั้งใจ กระบวนการทำก็มีการชั่งตวงวัดวัสดุเพื่อนำมาคำนวณออกมาในเชิงวิทยาศาสตร์ คือ ปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ลดลงจากกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานด้วยวัสดุเหลือใช้ถึง 7,195.93 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ถ้าเปรียบเทียบในแง่การเดินทางคือการบินรอบโลกได้ 1 รอบ กับนิทรรศการครั้งนี้ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารกับทุกท่าน และต้องการให้ทุกคนได้เห็นว่า Construction Waste ต่างๆ หรือวัสดุเหลือใช้รอบๆ ตัวเราสามารถพัฒนาต่อไปเป็นอะไรได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรม งาน Installation Art ที่สามารถถอดแยกส่วนเอาไปใช้งานต่อได้เมื่อจบงาน ชิ้นส่วนในงานสามารถนำไปรีไซเคิลต่อไป

ส่วนชื่อนิทรรศการ “ทั้งจำ ทั้งปรับ” เราตั้งใจพูดถึง “จำ” ในแง่ของการใช้วิถีชีวิตของเราสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล และต้อง “ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง” วิถีชีวิตของตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด หลังจากจบงานนี้ ผลงานทั้งหมดสามารถนำชิ้นส่วนต่างๆ ถอดแยกส่วนและนำไปรีไซเคิลได้

แบรนด์ WISHULADA

แม้จุดเริ่มต้นของเอ๋-วิชชุลดา คือการทำ Installation Art แต่เธอก็ยังทำงานในส่วนของโปรดักต์ดีไซน์  ทำ Workshop ทำงาน Art ในกลุ่มแฟชั่นต่างๆ อีกทั้งยังต่อยอดออกมาเป็นแบรนด์ของตัวเองภายใต้ชื่อ WISHULADA กระเป๋าอัปไซเคิลจากเศษผ้าและจากวัสดุอื่นๆ เช่น ไวนิล ผ้า ป้ายเลเบิล กระดุม เสื้อยูนิฟอร์มตัวเก่า ความพิเศษของโปรดักต์คือถ้าไม่ซื้อวันนี้ก็จะไม่มีสีแบบนี้อีกแล้ว เป็นความสนุกๆ ความพิเศษที่อยากให้ทุกคนมองว่าศิลปะก็สามารถพกไปไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในมิวเซียม เราถือมันได้ เราใส่มันได้ ยิ่งถ้าคอมมูนิเคตเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ในมุมของเราคือจะทำอย่างไรให้ใกล้กับผู้คนมากที่สุด สื่อสารได้ชัดเจน เข้าถึงได้ง่าย

อีกมุมหนึ่งก็อยากจะสื่อสารบอกกับทุกคนว่า ถนัดสิ่งไหนก็ทำสิ่งนั้นไปเลย คุณไม่จำเป็นต้องเรียนจบด้านดีไซน์ออกแบบ คุณลองเอาสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองหลงใหล ทำสิ่งนั้นแล้วใส่ใจต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันแบบนี้ทั้งหมดมันก็จะสนุกมาก ไม่เป็นเรื่องที่เราต้องเกร็งอีกต่อไปว่าต้องโดนบังคับให้ลดโลกร้อน อยากให้ทุกคนมองหาสิ่งใกล้ตัว สิ่งที่มีอยู่แล้ว ทำให้แบบที่ตัวเองถนัด

ทุกวันนี้สิ่งหนึ่งที่คนรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่จะปรับตัวเองคือมายด์เซ็ต หรือค่านิยมบางอย่าง เช่น ถ้าใช้ขยะมาทำมันจะเป็นอย่างไร จะดูไม่หรูหรา ซึ่งนิยามความหรูหราของคนคือต้องแบรนด์เนม สีทอง เราอยากจะทลายกำแพงเหล่านี้ให้หมดไป เราต้องเป็นตัวของเราเอง ค่านิยมมีผลมากๆ ต่อเรื่องการลดขยะ ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น

นิทรรศการ “Adaptation ทั้งจำ ทั้งปรับ” ของวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน
จัดถึงวันที่ 26 มกราคม 2568 ที่ noble PLAY ติดกับสถานี BTS เพลินจิต ทางออกที่ 5
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.facebook.com/WishuladaPanthanuvong


You Might Also Like...