Design Kitchen & Home

PERM KHUN KHA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ฝีมือคนไทย จากสวนป่าคุณพ่อ


PERM KHUN KHA
แบรนด์เฟอร์นิเจอร์เพิ่มคุณค่าไม้ไทย มรดกความตั้งใจจากสวนป่าคุณพ่อ

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ฝีมือคนไทย สไตล์เรียบง่ายที่เริ่มต้นจากพื้นเพเดิมของครอบครัวเกษตรกรที่ทำการเกษตรมาโดยตลอด รวมทั้งมีสวนที่ปลูกไว้ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ถัดมารุ่นพ่อที่เริ่มปลูกไม้ป่าในปี 1994 ส่งต่อมายังสามพี่น้องที่ตั้งใจเพิ่มคุณค่าให้ต้นไม้ป่าปลูกเองในอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เป็นที่มาให้เกิดการออกแบบชิ้นไม้เป็นผลงานที่มีคุณค่า ตั้งแต่ของแต่งบ้านชิ้นเล็กไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เล่าสู่กันฟังให้ชวนประทับใจโดยคุณเพิ่ม-คามิน และคุณบัว-อัณณา สองพี่น้องตระกูลธิมาภรณ์ ภายใต้ชื่อแบรนด์เพิ่มคุณค่า ตั้งชื่อโดยพี่สาวคนโตของบ้านพ้องกับคำว่า “เพิ่ม” ที่เป็นชื่อของพี่ชาย ร่วมแรงร่วมใจปลุกปั้นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เพื่อเพิ่มคุณค่าไม้ไทย สานต่อมรดกความตั้งใจจากสวนป่าคุณพ่อ

จากชิ้นไม้สู่ชิ้นงาน

“ต้นไม้ที่นำมาสร้างเป็นชิ้นงานเกิดจากการตัดสางต้นไม้ในหนึ่งแปลงที่มีความหนาแน่นและเบียดชิดกันเกินไป การตัดสาง (Thinning) คือวิถีการดูแลสวนป่าของเกษตรกรที่เมื่อต้นไม้ในสวนป่ามีอายุขัย 15-20 ปี หากปล่อยให้แต่ละต้นมีความใกล้ชิดกันมาก ต้นไม้จะไม่อ้วนใหญ่ขึ้นแต่สูงชะลูดเกินไป ทำให้ต้องมีการตัดสางเพื่อให้ต้นไม้ที่เหลือได้เติบโตเป็นต้นใหญ่ต่อไป ซึ่งต้นไม้ที่เลือกตัดเหล่านี้ตั้งใจให้เหมาะกับแต่ละชิ้นงาน เลือกคัดไม้ที่ได้มาตรฐาน ก่อนจะนำไปสู่ขั้นตอนการอัดน้ำยาเพื่อป้องกันแมลงหรือมอด จากนั้นจึงอบแห้งเพื่อลดการหักงอของชิ้นไม้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดนี้แล้วจึงเพิ่มคุณค่าด้วยการเก็บบล็อกและออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นไม้ที่ผ่านการคัดสรรจึงต้องมีความแข็งแรงทนทาน ส่วนของไม้ที่มีตำหนิไม่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปใช้เป็นไม้แปรรูปอย่างไม่เสียเปล่า” คุณเพิ่มเล่าถึงกระบวนการสร้างชิ้นงาน

ห้าพี่น้องสานต่อมรดกสวนป่าของคุณพ่อ

“พี่สาวคนโตของเราเป็นคนเริ่มต้นมาให้เป็นชื่อแบรนด์ ซึ่งบัวไม่ได้มีความรู้เรื่องเกษตรอะไรเหมือนพี่เพิ่ม แต่บัวรู้เรื่องการทำอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ทำให้เราพอมองเห็นโอกาสในการเจาะตลาดออนไลน์ เราเริ่มจากมุมมองของการเป็นกลุ่มลูกค้าที่มองหาเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอล แต่ภาพจำของงานไม้ไทยมักจะดูมีอายุและเข้าถึงยาก เราจึงคุยกันกับพี่ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับไม้ป่าคุณพ่ออย่างจริงจังด้วยการรีแบรนด์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น เราเพิ่งมาเริ่มเรียนรู้การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ตั้งแต่ต้น ลองผิดลองถูกจากชิ้นเล็กอย่างแจกัน เลือกรูปแบบเป็นทรงเรขาคณิตเรียบง่าย ปรึกษากับพี่เพิ่มถึงความเป็นไปได้ว่าใช้ไม้ในสวนได้หรือไม่ มีความหลากหลายของสีไม้อย่างไรบ้าง ไม้แต่ละชิ้นแข็งแรงเพียงพอกับฟังก์ชันการใช้งานมากน้อยเท่าไหร่” คุณบัวเท้าความถึงความตั้งใจของสามพี่น้องเพื่อสานต่อมรดกสวนป่าของคุณพ่อ
เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นแรงจุดประกาย

“ตอนแรกที่เริ่มทำแบรนด์เรามีข้อจำกัดเรื่องความเป็นไปได้ว่าไม้ป่าสีเข้มในสวนเราอาจไม่เข้ากับดีไซน์ที่ตั้งใจไว้ แต่กลายเป็นว่าข้อจำกัดตรงนี้เป็นแรงผลักดันมาจุดประกายให้มองเห็นจุดเด่นของความเป็นเรา เพราะไม้ทุกชิ้นเป็นของเราเองโดยไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ไม่ได้ทำเพื่อความต้องการของคนอื่น แต่ตั้งใจนำเสนอถึงความเป็นเนื้อไม้ที่แท้จริง ผ่านการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์” คุณบัวกล่าว
“เราตั้งใจว่านี่จะเป็นแนวทางเกษตรกรในอนาคตที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับสวนป่าไทยๆ งานของเราจึงไม่เหมือนใคร จากอุปสรรคคำว่ามินิมอลในสายตาของคนสมัยใหม่มักจะชอบสีขาวคลีนโทนอ่อน ซึ่งค่อนข้างแมสในตลาดแล้ว แต่ไม้ไทยของเราเน้นไปทางสีน้ำตาลเข้มแกมแดงโทนร้อนตามธรรมชาติ ซึ่งเราไม่ฟอกสี ไม่เปลี่ยนธรรมชาติของไม้” คุณเพิ่มเสริม

ทุกแผ่นไม้ไม่เคยเหมือนกัน

“เรายึดสีไม้ที่เข้มตามธรรมชาติของเนื้อไม้นั้น เลือกดีไซน์เรียบง่ายให้เข้ากับลวดลายไม้ ทุกชิ้นงานเราจะบอกอย่างชัดเจนว่าเราใช้ไม้อะไรทำ ซึ่งแต่ละชื่อไม้ไทยแน่นอนว่าไม่คุ้นหูคนทั่วไป” คุณบัวเล่า

“ไม้ของเราอาจจะไม่ได้คุ้นหูคนทั่วไปเลย เพราะมันต้องเป็นไม้ใหม่ และด้วยเสน่ห์ของงานไม้ที่ทุกชิ้นไม่มีทางเหมือนกัน แม้จะชนิดเดียวกันแต่ทุกแผ่นไม้ไม่เคยเหมือนกัน ไม้ไทยที่ปลูกได้ในสวนเรามีตั้งแต่ไม้มะฮอกกานี ไม้สะเดา ไม้กฐินเทพา ไม้จามจุรี ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ไม้ยางนา ไม้พยุง ไม้ชิงชัง เพราะสวนของเราเป็นป่าผสมที่ปลูกต้นไม้ไว้อย่างหลากหลาย” คุณเพิ่มขยายความต่อ

เสน่ห์ของการปลูกสวนป่า

“ยากจะบอกว่าหนึ่งต้นสามารถสร้างได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับอายุของต้นไม้ เป็นเสน่ห์ของการตัดสางเพื่อดูแลสวนป่าโดยที่เราไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม แต่เราเดินเข้าป่าเราเองเพื่อดูต้นไม้ในธรรมชาติ ว่าถ้าเราเลือกต้นนี้หนึ่งต้นจะถูกนำไปเพิ่มคุณค่าอย่างไรได้บ้าง ซึ่งแล้วแต่ขนาดต้นและทรงต้น เมื่อตัดสางในแปลงที่มีแต่ไม้ต้นเล็กจะนำไปสร้างผลงานชิ้นเล็กอย่างแจกันของตกแต่ง ส่วนการตัดสางในแปลงใหญ่ที่มีแต่ต้นใหญ่จะเหมาะกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่” คุณเพิ่มเล่าถึงการปลูกสวนป่า

ดีไซน์เพื่อเพิ่มคุณค่า

“เราเห็นถึงความชัดเจนของสีไม้ที่เข้มชัด และเนื้อไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในตัวเอง เราจึงรีแบรนด์ภาพลักษณ์เพื่อให้เข้าถึงความสนใจของคนที่ชอบสไตล์เรียบง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อน เริ่มต้นจากรูปทรงเรขาคณิตเข้าใจง่ายที่มองเห็น ชูความเป็นแบรนด์อย่างชัดเจนด้วยเนื้อแท้ของชิ้นไม้ตามธรรมชาติ” คุณบัวเล่า

“อย่างที่บอกว่าชิ้นงานของเรามีการอัดน้ำยาและอบแห้ง เหมาะกับแผ่นไม้ที่มีความคงทนพอสำหรับใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นกลางหรือชิ้นใหญ่ เราใช้วิธีเคลือบแลกเกอร์เพื่อป้องกันรอยขีดข่วน หรือถ้าหากเป็นชิ้นงาน Kitchenware เราเคลือบด้วยน้ำมัน Food Grade โดยไม่ใช้สารเคมีเลยเพื่อให้เหมาะกับเครื่องครัว” คุณเพิ่มเสริม

เฟอร์นิเจอร์ไม้ยังไม่ใช่บทสรุป

“เราตั้งใจทำโชว์รูมในไร่เพื่อให้คนได้เห็นวิถีชีวิตการทำงานในสวนป่า เพราะในไร่ของเราไม่ได้มีแค่งานไม้ แต่มีการทำเกษตรอย่างอื่นร่วมด้วย เพราะเราไม่ได้มีเป้าหมายในการทำสวนป่าเพื่อโค่นต้นไม้ไว้ทำเฟอร์นิเจอร์ แต่เรามีก้าวต่อไปที่การทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ในไร่ให้คนที่รักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเข้าถึงง่ายมากขึ้น” คุณเพิ่มและคุณบัวกล่าวทิ้งท้าย
นับตั้งแต่ปี 1994 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 37 ปี สวนป่าคุณพ่อที่ส่งต่อความดูแลจากรุ่นสู่รุ่น มาสู่รุ่นที่สามพี่น้องร่วมใจกันเพิ่มคุณค่าไม้ไทยสู่ยุคสมัยใหม่ เพื่อให้ไม้ไทยได้เข้าถึงคนรักงานไม้แบรนด์ไทย โดยคงไว้ซึ่งธรรมชาติของเนื้อไม้ ภายใต้ดีไซน์ที่เป็นเสมือนจุดร่วมตรงกลาง เพื่อเติมเต็มการตกแต่งพื้นที่ในบ้านได้อย่างลงตัว

ช่องทางติตตามแบรนด์เพิ่มคุณค่า
Linktr.ee/permkhunkha
Facebook : permkhunkha
Instagram : permkhunkha


You Might Also Like...