ครัวปูนสวยสไตล์โมเดิร์นที่เชฟปิงออกแบบเอง เพราะรักการทำอาหารอาหารพอๆ กับการหลงใหลในการแต่งบ้าน บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างอารมณ์ ความรู้สึก และความชอบที่มาจากตัวเขาเองอย่างแท้จริง
เชฟปิง – สุรกิจ เข็มแก้ว
“ฉายาเชฟกระทะหล่อ” ซึ่งเป็นขวัญใจของใครหลายๆ คน ปัจจุบันเขาเป็น Executive Chef ประจำอยู่ที่ Cielo Sky Bar & Restaurant
ที่ผ่านมาเราอาจเคยเห็นลีลาในการทำอาหารของเขากันไปแล้ว แต่ครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปดูศิลปะในการแต่งบ้านและแต่งห้องครัวของเชฟปิงกันบ้าง เพราะเขารักการทำอาหารอาหารพอๆ กับการหลงใหลในการแต่งบ้าน บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างอารมณ์ ความรู้สึก และความชอบที่มาจากตัวเขาเองอย่างแท้จริง
ที่นี่เป็นบ้านเก่าได้รับการรีโนเวทภายในใหม่ทั้งหมด
โดยยังคงโครงสร้างเดิมเอาไว้ ซึ่งเชฟปิงเป็นคนออกแบบเอง เนื่องจากมีปัญหาในการหาอินทีเรียและผู้รับเหมา
“ ปัญหาเยอะมากตอนที่ทำบ้านอินทีเรียผมหนีไป 2 คน หาผู้รับเหมาก็ยาก สุดท้ายผมเลยตัดสินใจออกแบบเอง เพราะตอนซื้อบ้านหลังนี้มันเกิดภาพในหัวแล้วว่าตรงนี้อยากทำอะไร ดีไซน์แบบไหน ผมเลือกรีโนเวทเฉพาะ 2 ชั้น อีกชั้นครึ่งไว้เหมือนเดิมแต่ปรับปรุงให้มันดีขึ้น ผมรู้สึกว่า 2 ชั้นที่ทำไม่ต้องเยอะแต่ก็ไม่น้อยเกินและต้องเป็นในสิ่งที่ผมชอบ พื้นที่ใช้สอยภายในผมให้ช่างเจาะและทำใหม่ทั้งหมด อะไรไม่ใช้ก็ตัดทิ้งไป ครัวก็เป็นแค่สี่เหลี่ยม มันเป็นการออกแบบที่ใช้การชี้และวาดมากกว่า “
เราออกแบบเอง เลือกเอง เอาความชอบของตัวเองล้วนๆ คิดว่าบ้านไม่จำเป็นต้องสว่างมากก็ได้ แค่มีช่องแสงก็พอแล้ว ชั้นล่างก็ให้มันดูทึบหน่อย เป็นโทนเข้มๆ นิดหนึ่ง ใช้ม่านเข้ามาช่วย หาของตกแต่งซึ่งผมว่ามันก็ไม่ได้แมทช์กันเท่าไหร่แต่ก็พอดูได้
โจทย์ในการแต่งห้องครัว
เชฟปิงบอกกับเราว่าในตอนนั้นยังคิดอะไรไม่ออก ถึงแม้จะเป็นที่ปรึกษาร้านอาหารหรือออกแบบครัวมาค่อนข้างเยอะก็ตาม แต่เมื่อต้องมาออกแบบครัวในบ้านจึงต้องดูเรื่องของดีไซน์ ฟังก์ชันที่สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงขนาดเนื้อที่
“เวลาทำครัวร้านอาหารสเปซมันเยอะมาก เราแค่จับใส่ๆ ถ้าสเปซเหลือไม่เป็นไรก็เอาไว้วางของ แต่ครัวบ้านไม่ได้ มีเนื้อที่นิดเดียว ดังนั้นเราต้องดูว่าฟังก์ชันสำหรับผมคืออะไร ก็เลยให้ช่างก่อทุกอย่างให้เป็นห้องสี่เหลี่ยมโล่งๆ ไว้ก่อน
หลังจากทำเสร็จปุ๊บเราก็มาคุยกันในห้องครัว ปรากฏว่าเสียงมันก้อง เนื่องจากที่เล็กและเพดานต่ำ วัสดุอย่างสเตนเลสใช้ไม่ได้ เวลาทำครัวจะมีเสียงปึงปังๆ มันก็จะยิ่งมีเสียงก้องมาก ส่วนตู้บิลต์อินผมไม่ชอบ เพราะรู้สึกไม่แข็งแรง ถามว่ามีวัสดุที่แข็งแรงไหมก็มี แต่ราคามันก็แปรผันไป
ผมเลยมาลองคิดดูว่า ครัวบ้านควรเป็นอย่างไร เลยมาจบที่ครัวปูน เพราะน่าจะใช้งานได้จริง ผมก็เริ่มวาดแบบให้กับผู้รับเหมา ก่อเป็นเคาน์เตอร์แล้วเลือกกระเบื้องมาแปะ ที่เหลือก็อยู่ที่เราว่าจะเอาอะไรใส่ไว้ตรงไหน
ตอนแรกโจทย์ในการทำครัวคือ ทำเป็น เชฟเทเบิล ซึ่งฟังก์ชันก็จะแบ่งเป็น ครัวร้อน และ ครัวเย็น
สังเกตว่าครัวนี้มี 2 ไอส์แลนด์ ทีแรกตั้งใจจะทำให้เป็นคนละโทน โทนไม้อันหนึ่ง โทนหินอ่อนบวกกับสเตนเลสอันหนึ่ง ทีนี้ก็มานั่งคิดว่าถ้า 2 โทนจะแปลกๆ มั้ย เลยลองนำวัสดุที่แตกต่างมารวมให้มันเข้ากันได้ มีทั้งไม้ สเตนเลส หินอ่อน สองฝั่งแรกเป็นครัวเย็น มีชั้น ตู้เย็น เตาเล็กๆ ซึ่งมุมนี้สามารถให้ผมใช้สำหรับการถ่ายวีดีโอทำอาหารได้
ส่วน ฟังก์ชันครัว อีกฝั่งมาจากการที่เราอยากจะได้พื้นที่ใหญ่ๆ สำหรับออกอาหาร วางจานได้ 10 ใบ บวกกับข้างๆ มีเตาอินดักชัน อีกด้านเป็นมุมทำอาหารซึ่งมีเครื่องดูดควันแค่จุดเดียว
เราตั้งใจว่าจะแบ่งฟังก์ชันประมาณนี้คือ เตาตรงครัวเย็นแค่อุ่นและผัดนิดหน่อยไม่ได้ใช้ควันมาก อินดักชันก็แค่อุ่น แต่ที่เราต้มสต็อก ผัดแบบใช้ไฟแรงต้องใช้ฝั่งที่มีเครื่องดูดควันเท่านั้น เลยเลือกใช้เตาแบบร้านอาหาร เพราะผมว่าฟังก์ชันมันโอเค
ส่วนการวางตู้เย็น หรือการวางฟังก์ชันใช้งานตามจุดต่างๆ
มันคือสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะวางตรงนี้ เพื่อให้ครัวโปร่ง เพราะเพดานต่ำ เราคิดว่าต้องไม่มีอะไรมาห้อยไม่อย่างนั้นครัวจะดูอึดอัดไปหมด หรืออย่างช่องเก็บของใต้ไอส์แลนด์ ตอนแรกตั้งใจจะทำเป็นลิ้นชักหมดเลย พอถึงเวลาจริงๆ รู้สึกว่าลิ้นชักเอาแค่จุดเดียวก็พอ ส่วนที่โล่งๆ ไว้สำหรับเก็บของเพื่อให้หยิบใช้ง่าย เพราะการมีลิ้นชักมันเพิ่มสเต็ปในการทำงาน”
สั่งทำอ่างล้างจานขนาดใหญ่พิเศษ
พื้นที่ใช้สอยภายในห้องครัวได้รับการออกแบบและวางแผนมาเป็นอย่างดี
ซึ่งยังมีมุมครัวด้านในเป็นมุมสำหรับล้างจานโดยเฉพาะ
“มันคือจุดล้างจานเดิมของเจ้าของบ้านที่เขาทำเอาไว้ ผมว่ามันโอเค เนื่องจากหลบมุมอยู่ด้านใน แต่เรามาทำดีไซน์ และสั่งทำอ่างล้างจานใหม่ เพราะผมชอบล้างกับอ่างล้างจานใหญ่ๆ มุมผนังด้านหนึ่งที่เป็นชั้นวาง เดิมเป็นประตูห้องน้ำ รู้สึกว่าไม่น่าจะเอามาอยู่ในห้องครัว เลยย้ายตำแหน่งประตูห้องน้ำออกไปด้านนอก แล้วเปลี่ยนผนังโล่งให้กลายเป็นชั้นภาชนะต่างๆ แทน”
รายละเอียดในการออกแบบห้องครัวของเชฟปิงนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องฟังก์ชันเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ก็เน้นความแข็งแรงและใช้งานได้อย่างยาวนาน
“วัสดุกรุเคาน์เตอร์ทอปเป็นกระเบื้อง ผมเคยมีประสบการณ์จากการทำร้านอาหารเคยใช้แกรนิตสลับกับหินอ่อนทำเป็นแค่โต๊ะกินข้าวตากแดดตากฝนครึ่งปีก็แตกแล้ว พอเปลี่ยนเป็นกระเบื้องไม่เคยแตกอีกเลย ผมก็เลยใช้กระเบื้องแผ่นใหญ่ ส่วนหน้าบานตู้เป็นอินทีเรียฟิล์ม (ลักษณะคล้ายวอลล์เปเปอร์แต่ทนกว่า ทำจากพีวีซี) ถ้าเบื่อก็เปลี่ยนสี เปลี่ยนลายได้ ที่เลือกลายนี้เพราะผมอยากให้ดูกลมกลืนกับโครงสร้างปูน”
สไตล์การแต่งห้องครัวและตกแต่งบ้านหลังนี้ เชฟเป็นคนกำหนดขึ้นเอง ไม่แตกต่างจากการเลือกวัตถุดิบหลัก เราสามารถผสมหรือปรุงแต่งความชอบส่วนตัวเพิ่มเข้าไปได้หลากหลาย มีความโมเดิร์นเป็นวัตถุดิบหลักแต่ก็ใส่ความคลาสสิคเข้าไปคลุกเคล้าแล้วเพิ่มรสชาติที่ตัวเองชอบเข้าไปผสม จนกลายเป็นพื้นที่ที่ลงตัวในแบบของเชฟปิงมากที่สุด
เจ้าของ เชฟปิง –สุรกิจ เข็มแก้ว
พื้นที่ใช้งานครัว 30 ตารางเมตร
เรื่อง วาสสุคนธ์ เอกประดิษฐ์
ภาพ อภิชาติ วรรณะวัลย์
สไตลิสต์ ชลดา อนันต์นาวีนุสรณ์