Design Kitchen & Home

Lukyang งานดีไซน์ที่ใส่ใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์พอๆ กับการรักษ์โลก


Lukyang งานดีไซน์ที่ใส่ใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์พอๆ กับการรักษ์โลก

เจ้าของแบรนด์ Lukyang คุณลูกยาง-วีรพล วงศ์เทวัญ เล่าเรื่องราวการเป็นนักออกแบบที่สร้างสรรค์งานขึ้นมาจากสิ่งที่อยากทดลอง และค่อยๆ พัฒนาออกมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มพลังความรักษ์โลก ผ่านผลงานโปรดักต์ดีไซน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

การเดินทางของ Lukyang
งานออกแบบผลิตภัณฑ์คือทุกๆ อย่างที่มนุษย์ต้องใช้ พอเรียนจบทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยรังสิตผมก็ทำงานเป็น Product Designer ทำอยู่ประมาณปีกว่าๆ ก็เริ่มรู้สึกว่ายังขาดองค์ความรู้ในเรื่องการทำธุรกิจ จึงตัดสินใจลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจพร้อมกับทำงานไปด้วย แต่ย้ายสายไปทำด้าน UX / UI ทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ช่วงที่เปลี่ยนสายงานตอนปี ค.ศ. 2013 สมาร์ทโฟนเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น จึงสนใจเรื่องแอปพลิเคชัน อยากทำงานด้านที่เป็นบิซิเนสกับโปรแกรมเมอร์ด้วย

ในขณะเดียวกันก็เริ่มทำแบรนด์ Lukyang ไปด้วย เหตุผลที่ยังไม่ทิ้งงานด้านโปรดักต์ดีไซน์เพราะรู้สึกว่ายังอยากทำโปรดักต์ของตัวเองอยู่ แต่ก็อยากที่จะไปเรียนรู้ด้านอื่นๆ ด้วย เลยนำวิชาที่เรียนทั้งด้านออกแบบและบริหารธุรกิจมาทำแบรนด์ของตัวเอง ตอนแรกทำออกมาแล้วลองโพสต์ก่อน ไม่ได้ตั้งใจจะขายจริงจัง กลับมีคนสนใจเข้ามาเรื่อยๆ เริ่มขายได้และเริ่มไปประกวดแล้วได้รางวัลจากเวทีประกวดงานดีไซน์ต่างๆ พอทำงานส่งประกวดก็ต้องมีชื่อแบรนด์ และความที่เราเป็นนักออกแบบและรับงานดีไซน์เซอร์วิส เขาก็จะรู้จักผมในชื่อของลูกยาง จึงนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เพราะเป็นตัวตนของเรา อีกอย่างหนึ่งชื่อนี้มีความหมายที่ดี เพราะที่บ้านตั้งให้ เขาอยากให้เราเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น ซึ่งลูกยางเป็นลูกไม้ของต้นยางนา ลักษณะจะมีปีก 2 ข้าง เวลาหล่นจะร่อนไปตกไกลๆ

แนวคิดในการทำงาน
ภายใต้แบรนด์ Lukyang  เราแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คือ  Product Design ที่เป็นส่วนของแบรนด์ Lukyang ที่ทำผลิตภัณฑ์เชิงไลฟ์สไตล์ออกจำหน่าย และอีกส่วนหนึ่งเป็นงาน Design Service คือรับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการสร้างแบรนดิง คือค่อนข้างรับงานที่หลากหลาย อย่างที่บอกว่าผมชอบเรื่องงานออกแบบ เพราะฉะนั้นเมื่อมีโจทย์เข้ามา กระบวนการ วิธีการคิดมันจะตั้งต้นเหมือนกัน เพียงแต่ปลายทางไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง จึงทำให้เราเข้าใจกระบวนการพวกนี้ได้ง่ายขึ้น

นิยามแบรนด์ Lukyang
ในส่วนของดีไซน์ ด้วยสไตล์ของผมถ้าในเรื่องการออกแบบโปรดักต์ เราออกแบบโปรดักต์ที่เป็นของแทนคุณค่าทางจิตใจ เหมือนคนซื้อไม่ได้ใช้เองแต่ซื้อไปให้คนอื่นใช้ เป็นการส่งความรู้สึกดีๆ ส่งความรักดีๆ ให้คนนี้ไป เป็นงานดีไซน์ที่มีความหมาย ถ้าเป็นเรื่องงานดีไซน์เซอร์วิสที่ทำให้กับแบรนด์หรือผู้ประกอบการที่อยากจะพัฒนาสินค้า เราก็ดูตาม DNA ของแต่ละแบรนด์

ปากกาหลอดทดลอง

นักประดิษฐ์ที่ใส่งานดีไซน์ให้ในโลกน่าอยู่
ด้วยความที่เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ผมก็สนใจเรื่องการนำวัสดุที่มีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะหรือลดปริมาณการผลิตชิ้นส่วนใหม่ เริ่มทำขึ้นมาขายก่อน พอเอาไปประกวดก็ได้รางวัล งานชิ้นแรกที่เริ่มทดลองและออกแบบมาคือปากกาหลอดทดลอง Test Tube Pen ที่นำหลอดทดลองมาต่อยอดเป็นปากกาดีไซน์แปลกตา งานชิ้นนี้ใช้เวลาทดลองไปเรื่อยๆ จนเกิดไอเดียนำจุกไม้ก๊อกมารียูสเป็นส่วนประกอบของไส้ปากกา และใช้ไม้มาเป็นปลอก นำหลอดทดลองมาประยุกต์เป็นด้ามจับ จากเดิมเราออกแบบปลอกปากกาเป็นทรงกลมที่ลื่นตกง่ายก็เปลี่ยนเป็นปลอกทรงสี่เหลี่ยมที่กันลื่นกันตกได้ดี และผลิตง่ายขึ้น

ปฏิทินปลูกผัก

ผลงานปฏิทินปลูกผัก Let’s Grow Plants ไอเดียคือต้องการให้ปฏิทินถูกใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เป็นการยืดอายุการใช้งาน และเป็นการสร้างกิจกรรมให้กับผู้ใช้ คอนเซ็ปต์ของปฏิทินเราออกแบบให้มีเมล็ดผักเป็นซองๆ อยู่ด้านใน โดยมีผักทั้งหมด 12 ชนิด แต่ละเดือนจะมีรอยปรุสำหรับฉีกเพื่อนำเมล็ดไปปลูก ซึ่งเมล็ดผักสามารถเก็บได้ 1-2 ปี จะฉีกนำไปปลูกในแต่ละเดือนก็ได้ หรือเก็บไว้ปลูกทีเดียวก็ได้ ในแต่ละปีเราจะเปลี่ยนเมล็ดผักของแต่ละเดือนเพื่อไม่ให้ซ้ำกัน แต่เมล็ดผักที่อยู่ในปฏิทินจะถูกเรียงตามฤดู เช่น ฤดูหนาวก็จะเป็นผักกาด เพราะจะปลูกง่ายกว่าฤดูอื่นๆ หรือช่วงฤดูร้อนเราก็จะเลือกเมล็ดผักที่ทนแดด ทนลม ทนแล้งได้ เช่น กะเพรา พริก เพื่อให้ผู้ที่ซื้อปฏิทินเราไปสามารถปลูกเมล็ดผักได้ง่ายขึ้นด้วย งานชิ้นนี้ได้รางวัล DEmark Award ปี 2015 และ Good Design Award 2015 ที่ญี่ปุ่น เลยทำให้สินค้าแบรนด์ Lukyang มีจุดยืนทางด้าน Eco ชัดเจนขึ้น

โปสการ์ดปลูกผัก

ต่อมาจากการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าที่ชอบถามว่าถ้าปลูกผักแล้วทำเมนูอะไรได้บ้าง จึงต่อยอดเป็นโปสต์การ์ดปลูกผัก Let’s Plant Postcard คอนเซ็ปต์คือมีเมล็ดผักและ QR Code วิดีโอสำหรับสอนทำอาหารไทยด้วย เป็นการเปลี่ยนเทคนิคการนำเสนอให้มีเอกลักษณ์ ออกมาเป็นโปสต์การ์ดที่เป็นงานกระดาษ และรูปอาหารมุมท็อป ซึ่งทุกอย่างมาจากความชอบของเรา ทั้งเรื่องงานกระดาษ การถ่ายภาพ โดยในโปสต์การ์ดจะมีเมล็ดผักกับรูปอาหารที่สอดคล้องกัน เช่น ถ้าเป็นสลัดผักเราก็จะใส่เมล็ดผักสลัดลงไป หรือเมนูผัดไทยเราก็จะใส่เมล็ดผักกุยช่าย ถ้าเป็นน้ำพริกกะปิผมก็จะใส่เมล็ดพริกลงไปซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารชนิดนั้นๆ เป็นคอนเซ็ปต์ที่ว่าซื้อให้คนที่เราอยากให้ เราจะส่งโปสต์การ์ดนี้ไปด้วยความรัก ความรู้สึกดีๆ และได้ประสบการณ์ดีๆ ไม่ใช่แค่ว่าได้โปสต์การ์ดไปเก็บ แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดูวิธีการทำอาหารและปลูกผักก็ได้  

หยิบดอกไม้ ใบหญ้า มาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่
นอกจากงานออกแบบโปรดักต์แล้ว ผมยังสนใจเรื่องการทดลองวัสดุ โดยการทดลองชุดแรกได้หยิบวัสดุธรรมชาติมาทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ดอกดาวเรือง ต้นปอเทือง ดอกอัญชัน ดอกกล้วยไม้แห้ง และเปลือกมังคุด มาหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป อย่างดอกดาวเรืองเวลาที่เขานำมาทำพวงมาลัยก็จะมีช่วงที่ขายไม่หมด ดอกไม้จะถูกทิ้ง เรามองว่าตัวดอกนั้นมีเส้นใยสูง และเมื่อแห้งแล้วสีของดอกยังคงติดทนนาน เมื่อนำมาทดลองผลลัพธ์คือสามารถทำกระดาษได้ และสีก็ยังคงติดทนอยู่ จากนั้นนำเอากระดาษดอกดาวเรืองที่ได้มาทดลองให้สามารถกันน้ำ แล้วนำมาต่อยอดเป็นแจกันกระดาษดอกดาวเรือง จากการนำขยะดอกดาวเรืองมารีไซเคิลเป็นกระดาษ อีกทั้งมองเห็นถึงปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง คิดว่าถ้านำขวดน้ำกลับมาใช้ได้อีก หรือชะลอการทิ้งขวดด้วยวิธีการอย่างอื่น เช่น แจกันกระดาษจะไม่สามารถใช้งานในตัวเองได้ถ้าไม่มีขวดพลาสติก เหมือนเราหาเสื้อผ้ามาใส่ให้ขวดน้ำเพื่อให้คนเห็นถึงมูลค่า ตรงนี้ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ 2 ต่อ คือนำดอกดาวเรืองมารีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ และยังช่วยชะลอการทิ้งขวดพลาสติกได้ด้วย

หรือการทดลองเรื่องสี อย่างดอกอัญชันที่สามารถสกัดสีออกมาได้ก็นำมาทดลองทำสีโปสเตอร์ คอนเซ็ปต์เรื่องสีจริงๆ เกิดมาจากที่เราอยู่บ้านมันจะมีช่วงที่เก็บของทิ้ง หรือของที่ซื้อเก็บไว้ อย่างขมิ้น กาแฟ เก็บจนหมดอายุ จะทิ้งก็เสียดายเลยนำมาทดลองทำสีดู  ในส่วนนี้ผมก็นำไปแชร์ให้คนทั่วๆ ไปสามารถนำไปทำตามได้ด้วย อย่างเช่นงานสีผมค่อนข้างจะทดลองหลายวัตถุดิบ ทั้งดอกอัญชัน ดอกกุหลาบ ดอกชบา กาแฟ กระเจี๊ยบ ชาเขียว ผมมองว่านำสิ่งพวกนี้มาสร้างกิจกรรมดีกว่า ทำงานอยู่ที่บ้านก็สามารถสร้างกิจกรรมในครอบครัวได้ ซึ่งงานทดลองสีงานนี้จะนำไปจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2022 และมีการสอนทำสีโปสเตอร์จากอาหารและวัตถุดิบจากธรรมชาติในรูปแบบออนไลน์ภายในงานนี้ด้วย

ต่อยอดแบรนด์ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ผมมองว่ามันจะถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนแรกๆ เราอาจจะเป็น Eco Design จัดๆ ไปเลย แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรามองว่าเรื่องรักษ์โลกมันไม่ใช่เรื่องขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราสามารถมองในมุมเล็กๆ ของคนทั่วไป หรือแม่บ้านก็สามารถรักษ์โลกได้จากสิ่งรอบๆ ตัว เราอยากเป็นแนวทางในการแนะนำการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมของเรา เช่น นำขยะในบ้านมาแปรรูป ทำคนละมือคนละไม้มันก็เป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ของเราก่อน สร้างขึ้นเองได้ด้วยวิธีบ้านๆ จากในครัว เอาเครื่องปั่นมาใช้ เอาหม้อมาต้ม ส่วนที่ซื้อก็ซื้อไป ส่วนที่เราทำได้ก็ทำไป คือไม่ได้ไปล้ำเส้นใคร เรามองว่าทุกๆ อย่างสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยความเข้าใจของเราเอง

Facebook/Lukyangdesign
Instagram/Lukyang


You Might Also Like...