โจทย์ในการทำบ้านของแต่ละครอบครัวมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความพึงใจ ความชอบ รวมถึงการดำเนินวิถีชีวิต เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก จากที่เคยอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์เพื่อทำธุรกิจส่วนตัว แต่เมื่อลูกสาวอย่างน้องเอมิ-สรารินทร์ สังฆคุณ เริ่มโตขึ้น และบ้านหลังเดิมไม่ตอบรับกับความต้องการอีกต่อไป คุณแม่เอ๋และคุณพ่อวุฒิ จึงขยับขยายย้ายที่อยู่เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่
ได้เวลาขยับขยาย
“จุดเริ่มต้นในการทำบ้านหลังนี้เป็นเพราะลูกเริ่มโต ก่อนหน้านี้เราอยู่บ้านที่เป็นอาคารสำหรับค้าขาย เป็นอาคารขนาด 2 ชั้นและมีพื้นที่จำกัด ไม่เพียงพอกับการปรับปรุงหรือเพิ่มห้อง เราเลยสร้างบ้านติดกับบ้านคุณแม่ ซึ่งเป็นที่ที่เราคุ้นเคยเพราะอยู่มาตั้งแต่เด็ก
“หลังจากได้ที่ดินแล้วเริ่มมองหาผู้รับเหมา เราหาแบบบ้านกันเยอะมาก สุดท้ายความชอบก็วนกลับมาเป็นบ้านในแบบที่เราชอบ เป็นบ้านหลังคาทรงจั่ว จากนั้นก็เริ่มเขียนแบบเอง ส่วนฟังก์ชันอยากได้แบบเรียบๆ ง่ายๆ โดยเขียนมือเพื่อสรุปเป็นแบบคร่าวๆ ให้ช่างได้ดู แล้วก็จ้างคนเขียนแบบโดยอิงจากแบบที่เราเขียนอีกที”
คุณเอ๋และคุณวุฒิเล่าให้ฟังต่อว่า แรกเริ่มที่นี่เป็นสวนมะม่วง หลังจากนั้นถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรือนสำหรับปลูกแคคตัส พวกเขาเข้ามาเคลียร์พื้นที่เพื่อเตรียมสร้างบ้าน ถมที่ไม่ให้สูงไปกว่าพื้นที่เดิม ตัดต้นไม้ออกเหลือไว้เพียงแค่ต้นลิ้นจี่ที่อยู่ด้านหลัง กับต้นแก้วเจ้าจอมทางด้านหน้า ซึ่งเป็นไม้ประธานหลักในสวนหน้าบ้าน
บ้านเรียบๆ สไตล์ญี่ปุ่่น
“ความคิดแรกในการทำบ้านนี้คือ บ้านเรียบๆ สไตล์ญี่ปุ่น ไม่ใช่สไตล์นอร์ดิกแต่มีเชิงชายสั้นๆ โดยด้านหน้าเผื่อไว้สำหรับสวน เราเลยเว้นพื้นที่ด้านหน้าไว้เยอะหน่อย ขนาดพื้นที่บ้านหลังนี้หน้ากว้างประมาณ 10 เมตร ลึก 13 เมตร เป็นบ้านที่สร้างเองหลังแรก แล้วก็อยากให้เป็นที่พักอาศัยระยะยาวเผื่อสำหรับลูกเมื่อเขาโตขึ้น”
ด้วยความที่คุณเอ๋ชอบแต่งบ้านมาแต่ไหนแต่ไร มีนิตยสารญี่ปุ่นเป็นข้อมูลอ้างอิง เพราะฉะนั้นการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านจึงมีแค่พอใช้งานและจำเป็น สิ่งสำคัญในการทำบ้านหลังนี้เน้นบรรยากาศที่เรียบง่าย โปร่งโล่ง อยู่สบาย อาศัยแสงธรรมชาติและลมภายนอกให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเราจึงสังเกตเห็นว่าออกแบบเพดานไว้สูงมากทีเดียว ขณะที่หน้าต่างออกแบบขนาดใหญ่วางตำแหน่งต่ำเล็กน้อยเพื่อให้ห้องดูสว่าง
ส่วนเฟอร์นิเจอร์เลือกเป็นลอยตัวเพื่อง่ายต่อการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันในอนาคต ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์จากบ้านหลังเก่า มีของใหม่เพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น นี่ก็เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงความชอบของเจ้าของบ้านที่โปรดปรานเฟอร์นิเจอร์ไม้ รวมถึงโมเดลบ้านหลังคาจั่วที่มีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ถูกนำมาวางตกแต่งตามมุมต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้บ้านดูมีชีวิตชีวา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเสียงสะท้อนว่าสไตล์บ้านจะเป็นรูปแบบอื่นไม่ได้เลยนอกจากบ้านหลังคาจั่ว
“เรามีเฟอร์นิเจอร์จากบ้านเก่าที่ตั้งใจจะนำมาไว้ที่บ้านหลังใหม่อยู่แล้วก็เลยง่ายกับการบอกผู้รับเหมา แล้วฟังก์ชันใช้งานภายในบ้านก็ไม่ได้หวือหวามาก เพราะไลฟ์สไตล์เราก็ง่ายๆ ไม่ได้ใช้อะไรมาก เมื่อเข้ามาถึงประตูหลักก็จะเจอกับโซนรับแขก แต่กลายเป็นว่าเป็นมุมที่ลูกชอบมานั่งดูทีวี ในขณะที่เวลามีแขกมาบ้านเขากลับชอบไปนั่งกันอยู่มุมโน้น ซึ่งตรงนั้นเป็นมุมที่เราใฝ่ฝันอยากมี มีมุมนั่งเล่น ทำขนมได้นิดๆ หน่อยๆ คุยงาน ปรึกษางาน จะเรียกว่าเป็นมุมสำหรับใช้งานอเนกประสงค์ก็ได้ แล้วเราก็เพิ่มเครื่องชงกาแฟ มีเตาอบสำหรับอบขนมง่ายๆ ถัดไปมีอ่างล้างจานเพื่ออำนวยความสะดวกอีกหน่อย เลยกลายเป็นมุมโปรดของเราที่ชอบมากเป็นพิเศษ”
ฟังก์ชันใช้สอยภายในบ้านถูกแบ่งเป็นปีกซ้ายและปีกขวา ตรงกลางเป็นช่องสำหรับทางเดินออกแบบให้เป็นซุ้มโค้ง เผยให้เห็นครัวที่อยู่ตำแหน่งด้านในสุด โดยระหว่างทางเดินออกแบบให้มีห้องนอนทางซ้ายสำหรับน้องเอมิ และห้องนอนขวาของคุณแม่เอ๋และคุณพ่อวุฒิ
“อยากให้คนเข้ามาแล้วเห็นว่ามีครัวอยู่ด้านใน เหมือนเป็นลูกเล่นเล็กๆ ว่า…ตรงนั้นมีครัวอยู่นะ ส่วนดีไซน์ห้องครัวเราเลือกเป็นงานบิลต์อิน เพราะจากประสบการณ์เราเคยผ่านมาหลากหลายรูปแบบ เรารู้แล้วว่าอะไรเหมาะกับเรา ครัวแบบไหนที่ตอบโจทย์ สุดท้ายก็เป็นครัวบิลต์อินเพราะว่าไม่ได้ทำอาหารร้อยเปอร์เซ็นต์ เลือกโทนสีเบจที่แมตช์กับทอปไม้ เพื่อให้อารมณ์มันสอดคล้องและล้อไปในทิศทางเดียวกันทั้งบ้าน
“สำหรับฟังก์ชันในครัวมีเรื่องหนึ่งที่รู้สึกไม่ชอบ เป็นประสบการณ์ที่เคยใช้ครัวจากบ้านหลังเก่าๆ มาก็คือไม่เลือกใช้เตาแบบฝัง เพราะทำความสะอาดยาก ก็เลยเลือกเตาแบบตั้งบนเคาน์เตอร์ทอป ซึ่งมันสามารถย้ายไปมาได้สะดวก ส่วนฟังก์ชันจัดเก็บเราออกแบบให้เพียงพอกับของที่มีจำนวนเยอะ เป็นตู้ปิด แล้วก็เลือกตู้สูงชนฝ้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บได้มากขึ้น ในขณะที่เครื่องปรุงเก็บไว้ภายในตู้เพื่อกันมดกันแมลง อาศัยแค่ยกเข้ายกออก เพราะเราชอบอะไรโล่งๆ อันไหนโชว์ได้ก็โชว์นิดหนึ่ง
“ส่วนทางด้านขวาอีกโซนหนึ่งคือ โซนซักล้าง แล้วก็ไว้สำหรับเก็บของที่ไม่ได้ใช้งาน อย่างเช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน ส่วนทางด้านซ้ายเป็นโต๊ะนั่งกินข้าวเล็กๆ”
สวนหน้าบ้านสไตล์ออสเตรเลียนคอตเทจ
มาถึงในส่วนของสวนหน้าบ้านซึ่งเป็นมุมโปรดของคุณพ่อวุฒิ ซึ่งรับหน้าที่ในการดูแลสวนและลงมือทำเองในทุกขั้นตอน โดยมีคุณเอ๋ช่วยเลือกต้นไม้และกำหนดตำแหน่งในการปลูก พวกเขาเลือกที่จะปูหญ้าถึงแม้จะต้องใส่ใจและดูแลมากเป็นพิเศษเพื่อให้หญ้าดูสวยเขียวชอุ่ม และค่อยๆ เลือกต้นไม้มาปลูกทีละต้นสองต้นจนกลายเป็นสวนที่ชวนให้อยากพักผ่อน มองเห็นความพลิ้วไหวของลมที่ปะทะกับต้นหลิวลู่ลม
ถัดไปเป็นต้นสนเกรลิเวีย แก้วเจ้าจอมพันธุ์สิบใบ และพันธุ์หกใบที่ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ดูน่ารักรับกับบ้านสไตล์ญี่ปุ่น รวมถึงไม้ดอกหลากสีสันที่สลับกันอวดโฉมโชว์ฟอร์มให้เจ้าของบ้านได้รู้สึกสดชื่น ช่างเป็นบ้านที่มีชีวิตชีวาและมีความน่ารักสดใสสอดแทรกอยู่ในของตกแต่งที่ได้มาจากการเดินทางและของสะสมที่ประดับประดาอยู่ตามมุมต่างๆ ท่ามกลางแบบบ้านที่ดูไม่ซับซ้อน เราสามารถรับรู้ได้ถึงความสุขที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ต้องหรูหราแต่เป็นตัวของตัวเอง อาศัยความเรียบง่ายเป็นแนวคิดหลัก ซึ่งทั้งหมดนี้พวกเขาได้ลงมือทำมันอย่างตั้งใจในทุกตารางนิ้วภายในบ้านหลังนี้
เจ้าของ คุณขัตติยา เหมณี และคุณสราวุฒิ สังฆคุณ