ความสุขที่ออกแบบได้เองในบ้านไม้ “ใจอิ่ม ริมน้ำ”
ครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปดูบ้านไม้หลังหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี บรรยากาศดีและดีไซน์ออกมาได้น่าอยู่มาก ซึ่งเรามีนัดกับเจ้าของบ้านและสถาปนิก โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ บ้านใจอิ่ม ริมน้ำ ทันทีเราเห็นภาพของบ้านไม้ตั้งตระหง่านท่ามกลางธรรมชาติ และย่างกรายเข้าสู่บ้านหลังนี้ จู่ๆ ก็สัมผัสได้ถึงความสบาย สรรพสิ่งรอบด้านทำหน้าที่ให้ผู้มาเยือนอย่างเราหลงรักที่นี่ได้อย่างง่ายดาย สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของเจ้าของบ้านที่ไม่ยึดติดอยู่กับค่านิยมของสังคม ไม่ต้องหรูหรา แต่ให้ความรู้สึกจริงใจและคุ้นเคย
คุณหน่อย – ปวริศา พานิชศิริ เจ้าของบ้านใจอิ่มริมน้ำ เล่าให้เราฟังว่าต้องการสร้างบ้านไม้ริมน้ำ เพราะเธอเกิดและเติบโตในบ้านไม้ หากมีโอกาสและถึงช่วงวัยเกษียณก็อยากสร้างบ้านตามความฝันและลงมือตกแต่งทุกอย่างด้วยตัวเอง “พี่อยากได้บ้านสองชั้นที่เรียบ ดูโปร่งโล่ง แต่คงความสวยงาม สามารถใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นวัสดุที่เรานำมาใช้ในการสร้างและแต่งบ้าน เป็นวัสดุหาง่าย นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
เราจึงใช้หลักการประยุกต์ ประหยัด ประโยชน์ ด้วยการนำวัสดุพื้นถิ่น อย่างกาบหมากมาตกแต่งชิงช้า ส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่นไม้กวาด 100 ปี สนับสนุนงานออกแบบจากอุตรดิตถ์ เช่น แจกัน หมอน โคมไฟจากใบตอง มีของเก่าที่เราสะสมบ้าง บางครั้งของตกแต่งเราไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นเซ็ต บางชิ้นอาจมีเพียงชิ้นเดียว แต่เมื่อนำมาจัดวางเข้าคู่กันก็สวยงาม เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยสร้างความสุนทรีให้กับเราได้”
เอกลักษณ์ของบ้านหลังนี้นอกจากความสวยงามที่มีความนอบน้อมไปกับบริบทรอบๆ แล้ว สถาปนิกยังออกแบบโดยอ้างอิงหลักการสร้างบ้านแบบสมัยก่อนผสมผสานกับความสมัยใหม่ เพื่อความเหมาะสม และเป็นบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการให้กับเจ้าของบ้านให้ได้มากที่สุด
คุณน็อต-สุริยา เขาทอง สถาปนิกเจ้าของเพจช่างเฮ็ดแบบ ได้เล่ารายละเอียดในแต่ละจุดให้ฟังว่า “ผมได้รับโจทย์จากพี่หน่อยว่าเขาต้องการบ้านไม้ที่มีลักษณะเป็นพื้นถิ่น แต่มีความทันสมัย ผมตั้งใจออกแบบให้ทุกมุมบ้านกลายเป็นหน้าบ้านทั้งหมด สามารถเข้าออกได้ทุกทาง ตำแหน่งของห้องครัว ห้องน้ำไว้ทางทิศใต้กับทิศตะวันตก เพื่อให้โดนแสงแดด ฆ่าเชื้อโรค ส่วนการออกแบบห้องน้ำใช้ปูนซึ่งต่างจากส่วนอื่นๆ ที่เป็นไม้เก่า
บริเวณชั้นล่างฟังก์ชันทุกส่วนสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด ใช้โต๊ะทานข้าวเป็นทั้งที่รับแขก นั่งเล่น ใกล้ๆ กันเป็นพื้นที่สำหรับทำครัว เป็นครัวที่ใช้งานง่ายๆ ก่อด้วยปูนให้อารมณ์แบบครัวต่างจังหวัด
ชั้นบนเราออกแบบบันไดเวียนขวา ตามความเชื่อไทยโบราณ เมื่อขึ้นมาแล้วจะเจอกับไฮไลท์ที่ทำให้บ้านได้รับแสงและลมจากภายนอกก็คือ การนำอิฐมาเรียงให้เกิดความน่าสนใจซึ่งเป็นไอเดียจากเจ้าของบ้าน ส่วนด้านบนออกแบบเป็นหน้าต่างบานเลื่อน
ข้อดีของบ้านหลังนี้อยู่ตรงมีต้นสะเดาที่ปลูกอยู่ด้านหน้า เพราะตามหลักการออกแบบโคกหนองนาคือ เขาจะเขียนไว้ว่าให้ปลูกต้นไม้ที่มีรสขมอยู่ทางทิศใต้ของตัวบ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยอายุยืนยาว เนื่องจากลมจะพัดผ่านทางทิศใต้แล้วรับเอาความขมนั้นไว้ เสมือนยารักษา ซึ่งเป็นความโชคดีที่บ้านหลังนี้มีต้นสะเดาอยู่ตรงนี้พอดี”
ระหว่างที่เดินขึ้นบันไดจากชั้นล่างขึ้นไปยังชั้นสอง คุณน็อตบอกว่าความรู้สึกระหว่างเดินขึ้นบันไดอาจจะดูบีบนิดหน่อย แต่เมื่อขึ้นมาชั้นบนแล้วจะรู้สึกถึงความว้าว เราจะพบกับชานหน้าห้องนอนที่สามารถสามารถนั่งเล่น นอนเล่นได้
“ทางเจ้าของบ้านอยากให้มีมุมพักผ่อนยื่นออกมา เพื่อเปิดรับวิวฝั่งนี้ซึ่งมองออกไปเห็นเห็นคลองมะดัน เห็นแปลงปลูกผัก เราเลยออกแบบเป็นเปลตาข่าย ส่วนหลังคามุงเป็นลอนคู่แล้วปูทับด้วยหญ้าคา ฝ้าตีเอียงตามจันทัน ซึ่งปกติจะตีตรง แต่ถ้าตีเอียงตามจันทันแล้วให้ความรู้สึกโปร่งกว่า แล้วเราตกแต่งฝ้าด้วยไม้ไผ่สาน ทำชานยื่นออกมาเล่นระดับเหมือนบ้านโบราณ
ออกแบบให้มีสองห้องนอน ซึ่งเป็นห้องนอนของพี่หน่อยและลูกสาว ดีไซน์เรียบง่ายตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ใกล้ๆ กันมีห้องน้ำ ซึ่งจุดนี้อาจต่างจากบ้านสมัยก่อนที่ห้องน้ำมีเฉพาะชั้นล่าง แต่เรานำมาไว้ชั้นบน เพื่อรองรับการใช้งานให้สะดวกมากขึ้น”
เมื่อเราถามถึงเสน่ห์ของบ้านไม้ คุณหน่อยบอกกับเราว่า “มันคือความไม่สมบูรณ์ มีร่องรอยได้ แหว่งได้ ต้องการให้ทั้งผู้อยู่และผู้มาเยือนรู้สึกอบอุ่นและสมดุล เพลิดเพลินกับบรรยากาศริมคลอง ฟังเสียงนกร้อง วัวเล็มหญ้า ปลากระโดดน้ำ ทั้งหมดนี้เป็นความสุขที่เรียบง่ายแต่งดงาม”
สิ่งที่เจ้าของบ้านพูดกับรายละเอียดที่แฝงอยู่ภายในบ้านหลังนี้พยายามจะกระซิบบอกเรานั้นมันเป็นเรื่องเดียวกัน การอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อยู่ใกล้ๆ ธรรมชาติอย่างไม่เบียดเบียนเกินไปก็สามารถดำเนินชีวิตให้มีความสุขได้อย่างใจอิ่มเช่นเดียวกับเจ้าของบ้านหลังนี้