ตอนนี้ประเทศจีนกำลังเป็นประเทศที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบ้านเรา ครั้งนี้เราขอต้อนรับทุกคนด้วยการพาไปเยี่ยมชมและสัมผัสกับบ้านดินถู่โหลว ในอำเภอหย่งติ้ง มณฑลฝูเจี้ยน นอกจากจะได้พบกับความมหัศจรรย์เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เราจะได้ทราบกันว่าเพราะเหตุผลอะไรทำไมเขาจึงสร้างที่พักอาศัยในรูปแบบนี้ นอกจากนั้นแล้วสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนยังจัดอันดับให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความงามระดับ A5 ของเมืองจีน
ทั้งยังได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ 36 โดยในปี 2008 มีบ้านดิน 46 หลังที่ตั้งอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน ได้รับรางวัลมรดกโลกจากยูเนสโก ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวจีนแคะหรือเค้อเจีย ได้รับการจารึกว่า เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่สามารถผสมผสานวัฒนธรรม และประโยชน์ใช้สอยเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน
ที่อยู่แบบโบราณของชาวจีนแคะ
บ้านดินนี้เป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านของชาวจีนฮากกา(จีนแคะ) ซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่ในเขตพื้นที่แนวหุบเขาซึ่งเป็นรอยต่อของมณฑลฝูเจี้ยน เจียงซีและกว่างตง สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 12-20 (ปลายราชวงศ์ถัง ต้นราชวงศ์ซ่ง)
ผู้ที่สามารถสร้างบ้านลักษณะนี้ได้เป็นตระกูลที่ค่อนข้างมีฐานะ ซึ่งบ้านดินหนึ่งหลัง เท่ากับหนึ่งตระกูล เต็มไปด้วยลูกหลาน และบริวารเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็น สังคมขนาดย่อมจนได้รับขนานนามว่า เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กกลางหุบเขาที่มีความคึกคักไม่เป็นรองที่ไหน
อาคารดินขนาดใหญ่
ที่พักอาศัยมีลักษณะเป็นอาคารดินขนาดใหญ่ มีทั้งรูปทรงเรขาคณิตทั้งทรงกลม และสี่เหลี่ยม ขนาดความสูงของอาคารอยู่ที่ 3-5 ชั้น รองรับผู้พักอาศัยได้มากถึง 800 คน ฐานรากของอาคารสร้างขึ้นจากหินปูนอัดแน่น 2-3 ชั้น มีท่อระบายน้ำแบบวงกลมรอบฐานชั้นบนสุด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนสร้างความเสียหายให้กับผนัง ผนังชั้นนอกสร้างจากดินเหนียว ผสมและอัดแน่นเข้ากับวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น ทราย ปูนขาว ข้าวเหนียว ไข่ขาว น้ำตาลทรายแดงในสัดส่วนที่เหมาะสม ภายในเสิรมด้วยโครงไม้ไผ่เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและยึดเกาะ
ออกแบบผนังให้มีความหนา 1-2 เมตร จึงมีความแข็งแกร่งและแน่นหนามาก นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติกันไฟและสามารถป้องกันการโจมตีจากอาวุธของศัตรูแล้วยังสามารถกันลม กันแผ่นดินไหว ในขณะเดียวกันก็ช่วยเรื่องของอุณหภูมิที่ให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวและเย็นสบายในฤดูร้อน เหนือผนังดินขึ้นไปเป็นหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีชายคายื่นยาวออกมาเป็นพิเศษ เพื่อกันน้ำฝนกัดเซาะตัวกำแพง
ปิดภายนอก เปิดภายใน
แนวคิดในการออกแบบอาคารดินเป็นลักษณะปิดภายนอก เปิดภายใน เหมือนป้อมปราการ และเนื่องจากผนังมีความหนา จึงเปิดช่องว่างตรงกลาง ไม่มีหลังคาคลุม เพื่อให้อากาศถ่ายเท และได้รับแสงสว่างจากภายนอกได้อย่างเพียงพอ มีทางเข้าออกเพียงประตูเดียวเท่านั้น โดยเสริมความแข็งแรงด้วยแผ่นโลหะหรือหินแกรนิตด้านนอก เหนือประตูมีรางน้ำ หากถูกโจมตีด้วยไฟ ชาวบ้านจะลำเลียงน้ำจากชั้น 2 เพื่อดับไฟ
ส่วนตำแหน่งของหน้าต่างมีเฉพาะชั้นที่ 3 ถึงชั้นที่ 5 ซึ่งเป็นชั้นสำหรับที่อยู่อาศัย ชั้นสองเป็นพื้นที่สำหรับยุ้งฉาง เก็บธัญพืช ออกแบบให้ไม่มีหน้าต่าง เพื่อป้องกันความปลอดภัยจากโจรขโมย ส่วนชั้นล่างเป็นห้องครัว ห้องกินข้าว บ้างก็เป็นเล้าหมู คอกวัว
สำหรับที่พักอาศัยแบ่งเป็นห้องย่อยๆ ขนาดเท่ากัน เพื่อให้ทุกครอบครัวได้อยู่เป็นสัดส่วน โดยทุกห้องหันหน้าเข้าหาศูนย์กลางของบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง คล้ายกับคอร์ตยาร์ดที่สามารถใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างเช่น งานพิธีต่างๆ หรือไว้สำหรับพบปะสังสรรค์ นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำ ห้องอาบน้ำ โรงโม่แป้ง รวมไปถึงโรงเรียนที่ใช้งานร่วมกันได้ ชั้นบนของบ้านมีช่องระบายลมที่พร้อมเปลี่ยนเป็นหอยืนยาม และป้อมยิงสู้กับโจร
บ้านดินแห่งเมืองฝูเจี้ยนไม่ได้เป็นแค่สถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่น แต่ยังเป็นมรดกโลกที่อยู่ท่ามกลางภูเขานับเป็นความสวยงามที่ดูเรียบง่าย ทั้งยังมีสมดุลระหว่างธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นได้อย่างกลมกลืม โดยมีการรักษาและสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันมีอายุมากกว่า 800 ปี หากใครมีโอกาสไปเที่ยวประเทศจีน อยากให้ลองแวะไปชมความมหัศจรรย์ เรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของครอบครัวชาวจีนที่นิยมอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ รวมถึงวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งเมืองฝูเจี้ยน
ข้อมูลอ้างอิง
https://whc.unesco.org/en/list/1113/
https://en.wikipedia.org/wiki/Fujian_tulou
ภาพบางส่วนจาก https://whc.unesco.org/