ด้วยนิยามในการออกแบบเครื่องเรือนของ Studio Röder เรียบง่ายแต่มีความหมายที่ลึกกว่าหน้าตาของผลงานการออกแบบที่มีความน้อยแต่เท่แบบจุลนิยม (Minimalism) นั่นคือการเน้นให้เห็นถึงพื้นที่ว่างที่ผลงานการออกแบบของเขาจะไปปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ได้ และยังช่วยใส่วงเล็บให้พื้นที่ว่างนั้นมีความแตกต่างออกไป
Flip Pulpit เป็นชื่อที่มีความขบถและล้อเลียนอยู่ในตัว แต่แสดงให้เห็นประโยชน์และการเชื่อมสัมพันธ์ถึงกันของวัตถุ 2 สิ่งอย่างน่าประหลาด นั่นคือแท่นเทศนาของนักบวชกับโต๊ะทำงาน ซึ่งการปรับสัดส่วนของวัตถุทั้งสองนี้สร้างสรรค์ให้รูปทรงมีความเรียบง่าย มีประโยชน์และความแปลกออกไป แต่ยังคงความเรียบและปรับให้พื้นที่ว่างที่จัดวาง Flip Pulpit นี้แตกต่างออก
เมื่อใช้งานในรูปแบบของโต๊ะข้าง (Console) ตำแหน่งของขาที่กำกับด้านกว้างของโต๊ะเสริมให้สัดส่วนระหว่างช่วงที่สามารถเลื่อนเก้าอี้เก็บไว้เมื่อเลิกใช้งานผสานเป็นพื้นที่ที่ดูสะอาดและเรียบร้อย ส่วนพื้นที่ว่างใต้หน้าโต๊ะถูกเน้นให้เห็นถึงสัดส่วนที่ควรปล่อยพื้นที่นั้นไว้ให้ว่าง ในขณะที่บังตาขนาดเล็กเหนือหน้าโต๊ะที่อีกด้าน ช่วยแบ่งพื้นที่หน้าโต๊ะให้สามารถซ่อนหรือหลบความกระจัดกระจายจากสิ่งของที่นำมาขึ้นโต๊ะใช้งาน เช่น ใช้เป็นแนววางสายไฟของโคมแสงสว่างในขณะเสียบใช้งานหรือเป็นแนวพิงหนังสือที่ใช้สอยได้กึ่งการเป็นชั้นวาง
แต่เมื่อ Flip Pulpit ถูกตั้งตะแคงขึ้น ความเรียบเท่และมีนัยในรายละเอียดของความเป็นโต๊ะทำงานก็แปรไป บังตาที่อยู่เหนือหน้าโต๊ะกลายเป็นค้ำยัน และหน้าโต๊ะที่ใช้หินเทียม HMPE 1000 (High Molecular Polyethylene ที่ผลิตขึ้นจากการผสมกันของซีเมนต์ แก้ว เส้นใย Calcium Silicate และเคมีประสานเฉพาะ) ความหนา 0.05 เมตร ก็เปลี่ยนเป็นฉากกั้นแสงที่ขับให้ขากำกับด้านยาวและขากำกับด้านกว้างเปลี่ยนเป็นรูปร่างคุ้นตาของคริสตสัญลักษณ์ ไม้กางเขน ซึ่งประยุกต์เป็นชั้นวางของได้ หรือจะเพียงตั้งขึ้นเพื่อการเปิดพื้นที่ใช้สอยของห้องให้มากขึ้น
โต๊ะข้างตัวนี้มีขนาด 0.50 สูง 0.53 และยาว 1.20 เมตร และผลิตขายตามคำสั่งซื้อโดย Studio Röder ผลิตขายเองและสนับสนุนช่างฝีมือในเยอรมนี ตามหลักการของความยั่งยืนที่ผลงานออกแบบสามารถมีส่วนช่วยสร้างงานให้ผู้ผลิตรายย่อยในชุมชนตามที่สาธารณรัฐเยอรมนีส่งเสริม
ภาพ : Peter Oliver Wolff