เราอยู่กันที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งใจกลางถนนสุขุมวิท ก่อนจะถึงจุดนัดหมายเรารู้สึกตื่นเต้นและประหม่าเล็กน้อย เพราะเจ้าของที่ยินดีเปิดบ้านให้ทีมงานได้เข้าไปถ่ายทำในวันนี้คือ คุณธรณ ชัชวาลวงศ์ แฟชั่นดีไซเนอร์ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ TAWN C. และเมนเทอร์ รายการทีวีเรียลลิตี้ Project Runway Thailand
คุณธรณเปิดประตูออกมาต้อนรับทีมงานด้วยรอยยิ้มและพูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเอง ความรู้สึกตื่นเต้นยังคงทำหน้าที่ต่อ เพราะทันทีที่ประตูถูกเปิดออก เผยให้เห็นบรรยากาศภายในเหมือนเราได้หลุดเข้าไปในโลกอีกใบ ผิดกับภาพภายนอกที่แสนวุ่นวาย
หากกล่าวถึงแบรนด์ TAWN C. หลายคนรู้จักว่าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าชุดราตรี ชุดเดินพรมแดง แต่ในฐานะตัวตนของเจ้าของแบรนด์ คุณธรณยังเป็นเมนเทอร์รายการทีวีโปรเจกต์ รันเวย์ไทยแลนด์ และบทบาทที่คนให้ความสนใจคือ การเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ขององค์กรนางงามจักรวาล หรือมิสยูนิเวิร์ส ในช่วงเวลาหนึ่ง
คุณธรณเริ่มต้นเล่าให้ฟังเพื่อให้เราเข้าใจวิธีคิด การออกแบบ วิถีชีวิตที่ส่งผลให้บ้านหลังนี้ตอบสนองความเป็นอยู่ของตัวเอง “ไม่ว่าจะเป็นคนทำทีวีหรือนางงาม สุดท้ายกลับมาที่เบสเราก็คือ การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่เรารัก แฟชั่นเป็นเรื่องเดียวกับอินทีเรีย เพราะว่าตัวเองชอบ และต้องการที่จะอยู่ใน Environment ที่นำพามาซึ่งแรงบันดาลใจ คราวนี้ก็ยากละ…เพราะแต่ละช่วงวัยความชอบมันเปลี่ยนไปไม่เหมือนกันเลย ตอนซื้อที่นี่ผ่านมา 18 ปีแล้ว ความชอบเราเป็นแบบหนึ่ง พออยู่ไปก็ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน ปีนี้อายุครบ 49 ประเมินตัวเองว่าอีกสิบปีเราจะอยากอยู่ใน Environment แบบไหนให้เหมาะ ให้เป็นตัวของเรา ก็เลยรีโนเวตห้องนี้เป็นครั้งที่สอง
“ในการออกแบบคอนโดนี้ในครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ผมปรึกษาอินทีเรียดีไซเนอร์ เพราะเห็นว่ามุมมองในด้านการจัดสเปซกับฟังก์ชันให้ลงตัวเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มแรกจัดให้มันสมมาตรก่อน ผมเคยอยู่ซานฟรานซิสโกมาก่อนก็จะปักใจกับประตูแฝด ประตูคู่ ประตูเลื่อนมากเลยอยากได้ บอกเขาว่าโจทย์คืออยากได้ประตูเลื่อนให้มันเป็นส่วนกั้นห้อง
“หลังจากการจัดสเปซ ถัดมาคือการทำให้เป็นสมมาตร แล้วหาความชอบ ผมชอบสไตล์ Chinoiserie เป็นฝรั่งกึ่งจีน ซึ่งตอนแรกบรรยากาศมีความเป็นปารีเซียงมากๆ ห้องสีขาว พื้นลายก้างปลา 5 ปีถัดมาห้องข้างๆ ย้ายออก เราติดต่อขอซื้อต่อแต่กลายเป็นว่าหลังจากที่ได้ห้องนั้นมาเป็น 10 ปีกลับไม่ได้ทำอะไรเลยแค่เอาไว้เก็บเสื้อผ้า เป็นออฟฟิศ เพราะตอนนั้นอยากให้ออฟฟิศอยู่ใกล้บ้าน ตื่นนอนก็สามารถเดินออกจากห้องไปทำงานได้เลย แต่หลังจากที่ใช้เป็นออฟฟิศผ่านไป 1 ปีคิดว่าการมีโฮมออฟฟิศไม่เวิร์ก รู้สึกว่างานใกล้ตัวเรามาก ไม่สามารถอยู่แบบสงบสุข จึงเปลี่ยนห้องนั้นเป็นห้องสำหรับเก็บของและเก็บเสื้อผ้าของแบรนด์ ซึ่งตอนนี้รีโนเวตให้กลายเป็นห้องนอนโดยเชื่อมทะลุถึงกันทั้งหมด”
สถานที่ที่คุ้นเคยและเดินทางสะดวก
คุณธรณเลือกอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม เพราะเขายังคงไปทำงานทุกวัน จึงจำเป็นต้องหาที่อยู่ที่อำนวยความสะดวกในเรื่องของการเดินทางเป็นอันดับแรก ดังนั้นคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้าจึงตอบโจทย์ บวกกับความคุ้นชินที่เขาเคยอยู่บ้านกับคุณแม่ในย่านเอกมัยมาตั้งแต่เด็ก
“ผมโตมาแถวนี้เลยอยากอยู่ละแวกนี้ไม่เกินเอกมัย ไม่เกินพร้อมพงษ์ บังเอิญมาเจอคอนโดในซอยนี้ซึ่งเมื่อก่อนมีต้นไม้ใหญ่เยอะมาก เป็นคนชอบต้นไม้เลยอยากได้คอนโดในซอยนี้ พอมีโอกาสก็รีบซื้อ ที่นี่เป็นคอนโดเก่าได้ห้องที่เป็นห้องหัวมุม เต็มไปด้วยกระจกและมีระเบียง ซึ่งเจ้าของเดิมเขาอยู่ที่นี่มาเป็นสิบปีแล้ว ห้องก็จะโล่งๆ เป็นพื้นออริจินอล พอเราเข้ามาก็เริ่มปรับฟอร์ม เปลี่ยนฟังก์ชัน เช่น เอาเครื่องซักผ้าที่อยู่ในห้องครัวออก เพราะอยากได้เตาอบ ผมยอมสละพื้นที่ในห้องน้ำ เพื่อที่จะเอาเครื่องซักผ้าไปไว้ในนั้น แล้วยอมให้ห้องนอนหายไปห้องหนึ่ง เพื่อที่จะได้มีประตูเลื่อนอย่างที่เราชอบ
“ผมว่ามันคือความพึงพอใจที่อยู่ๆ ไปก็อยากได้ห้องกินข้าว ก็เลยเอาห้องนี้เป็นห้องกินข้าว ห้องถัดไปเป็นห้องหนังสือที่ผมใช้ทำงาน ใช้วาดรูป อยากมีมุมที่เป็นมุมหนังสือให้เราได้อ่านในตอนเช้า นั่งกินกาแฟ ห้องถัดไปที่เป็นลิฟวิงรูมที่มักใช้ในช่วงเย็น”
การจัดสเปซที่มาพร้อมกับความสมมาตร
“ผมเริ่มปรับฟังก์ชันก่อนเป็นอันดับแรก เพราะอินทีเรียบอกว่าจะสวยไม่สวยขึ้นอยู่กับการจัดสเปซ หนึ่งต้องลงตัว สองต้องจัดให้สมมาตร เวลาผมไปบ้านที่นิวยอร์ก หรือเมืองนอกจะเห็นว่าอพาร์ตเมนต์เขาไม่ได้ทำห้องแบบเปิดโล่งนะ การแบ่งซอยพื้นที่ผมว่ามีความแปลกดี มันให้ความรู้สึกว่าอีกมุมหนึ่งจะไปไหน ผมใช้สีในแต่ละห้องไม่เหมือนกัน อย่างห้องนี้เป็นสีเขียวมอส ห้องนั้นเป็นสีเขียวโอเรียนทัล ห้องนี้อาจจะเข้มขึ้นมาหน่อย ด้วยความที่ผมชอบต้นไม้ก็จะจินตนาการว่าห้องนี้จะเป็นอย่างไรแล้วก็วาดภาพขึ้นมานำไปใส่กรอบ เปลี่ยนจากกรอบสีเงินเป็นกรอบไผ่สีทอง
“สังเกตว่าจะเห็นกรอบกิ่งไผ่สีทองในบ้านแทบจะทุกจุด มันเริ่มจากห้องแรกที่ผมสั่งกิ่งไผ่ตัวนี้จากร้านกรอบรูปแล้วเอามาแปะแทนคิ้ว จากนั้นก็ใช้กิ่งไผ่สีทองมาใช้ตกแต่งทั้งตู้ ประตูบานเลื่อน”
อีกหนึ่งความน่าสนใจภายในห้องนั่งเล่นยังอยู่ที่โคมไฟ ซึ่งคุณธรณบอกว่าจริงๆ แล้วคือเอาต์ดอร์ไลต์ที่อินทีเรียแนะนำ แต่มีการเปลี่ยนสีของฐานไฟจากทองเหลืองให้เป็นสีเงิน ช่วยปรับมู้ดแอนด์โทนให้การตกแต่งภายในดูแตกต่างไปจากการใช้ไฟดาวน์ไลต์ ซึ่งห้องนี้นอกจากจะใช้รับแขกแล้วยังเป็นห้องที่คุณธรณมักใช้ในช่วงเย็น
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มองข้าม
พื้นที่ถัดมาคือห้องนอนที่รีโนเวตขึ้นใหม่ เริ่มจากทำประตูให้ตรงเป็นแนวเดียวกัน เกิดเป็นสเปซที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้จึงหลอกตาด้วยการติดม่านเพื่อให้ดูเป็นเส้นเคิร์ฟ ส่วนบรรยากาศห้องนอนกำหนดให้เป็นสีน้ำตาลและน้ำเงิน เนื่องจากคุณธรณอยากได้ห้องนอนที่มืดสนิท เพราะต้องการพักผ่อน จัดวางตู้บริเวณหัวเตียงให้มีความสมมาตร ดีไซน์เป็นประตูแฝดแล้วดันหัวเตียงเข้าไปตรงกลางระหว่างตู้ทางซ้ายและขวา “ผมชอบการวางเตียงนอนให้มีอะไรเป็นกรอบอยู่ข้างๆ มีส่วนของบังตา โดยใช้ผ้ามากรุ คล้ายม่านทั้งหมด เพื่อให้ดูซอฟต์ขึ้น”
รีโนเวตครั้งนี้ขอทำตามใจ
“รีโนเวตครั้งแรกเราใช้อินทีเรีย แต่ครั้งที่สองขอทำตามใจตัวเอง เราได้เรียนรู้มาระดับหนึ่งในแง่ของการดีไซน์ คิดว่าถ้าทำแล้วบ้านเราไม่สวย ไม่เป็นไร เพราะเราอยู่เอง มันไม่มีผลกระทบกับใคร อีกอย่างที่ตั้งใจอยากทำก็คือ ไม่อยากซื้อของฟุ่มเฟือย เช่น ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เฟอร์นิเจอร์แพงๆ เราไม่เอา เน้นรีไซเคิลเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด อย่างทำสีใหม่ เปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนผ้า ซึ่งตอนนี้มันเป็นยุคของการรีไซเคิล อัปไซเคิล เราก็ต้องตระหนักถึงตรงนี้ด้วยเหมือนกัน”
ห้องครัวที่เปรียบเสมือนฝรั่งแต่งจีน
“ตอนรีโนเวตครั้งแรก เราบอกความต้องการในด้านฟังก์ชันกับอินทีเรียว่า สเตชันต้องเป็นแบบนี้ ขนาดเท่าไหร่ เราบอกความต้องการในแง่ของฟังก์ชันเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างคล่องตัว มีส่วนล้าง ส่วนเตรียม และส่วนปรุง ดีไซน์เดิมของครัวก่อนหน้านี้เป็นสีเทา หินอ่อนสีขาวล้วน ตัดกับฮาร์ดแวร์สีเงิน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสีครีมทั้งหมด จับคู่กับลายหินอ่อนที่เยอะและชัดเจนขึ้น ตัดกับฮาร์ดแวร์สีทอง สไตล์ห้องครัวที่ตั้งใจไว้ก็ยังคงเป็น Chinoiserie เปรียบให้เห็นภาพก็คือ ฝรั่งแต่งชุดจีนที่มีฮาร์ดแวร์เป็นของจีนโบราณ และชามลายดอกไม้ Blue and White มาแต่งตรงผนังบ้างนิดหน่อย”
ได้ลงมือทำในสิ่งที่เรารัก
“การแต่งบ้านมันเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ เหมือนเราแต่งตัว เดี๋ยวก็ปรับเดี๋ยวก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้เปลี่ยนอารมณ์ด้วยดอกไม้ วันนี้เปลี่ยนสีผ้าปูที่นอน แฟชั่นกับการตกแต่งบ้าน ผมมองเป็นสองส่วน มันเป็นความชอบเป็นแพสชันของผม เพราะฉะนั้นการได้สร้างสรรค์การออกแบบเสื้อผ้ามันสอดคล้องกับการได้อยู่ในบรรยากาศที่นำพามาซึ่งแรงบันดาลใจ อินทีเรียดีไซน์กับแฟชั่นดีไซน์มักอยู่ด้วยกัน จะเห็นว่าแฟชั่นดีไซเนอร์หลายคนมักชอบออกแบบบ้านด้วย เพราะว่าการอยู่ใน Environment มันช่วยสะท้อนถึงความชอบเราในโมเมนต์นั้นซึ่งก็เป็นเรื่องที่เหมือนฝาแฝดกันนะ
“ส่วนที่สองคือ Professionally ในฐานะที่ตัวเองเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ผมคิดว่าการได้เปลี่ยนบรรยากาศนอกจากการทำเสื้อผ้าแล้วบางครั้งเราเปลี่ยนโฟกัสแทนที่จะตัดผ้ากลับมาตัดหินอ่อน แทนที่จะขีดเขียนบนกระดาษแพตเทิร์นแต่มาเขียนบนแผ่นไม้ มันได้แสดงความชอบในการสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบหนึ่งไปสู่วัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผ้า มันคือทั้งเรื่องส่วนตัวและในสายอาชีพครับ”
ออกจากกรอบแล้วเป็นตัวเองให้เต็มที่
“ในการทำงานร่วมกับอินทีเรียดีไซเนอร์ เรานับถือซึ่งกันและกันในฐานะนักออกแบบ ในมุมมองของเจ้าของบ้าน ตราบใดก็ตามที่ยังอยู่ในบัดเจ็ตและยังอยู่ในกรอบแห่งความชอบของผม ผมเปิดโอกาสให้อินทีเรียดีไซเนอร์นำเสนอมุมมองที่ได้รับการตีความได้อย่างเต็มที่ แต่ข้อจำกัดคือ เจ้าของบ้านต้องรู้สึกสบายใจ เพราะเป็นที่ๆ เราอยู่เอง ซึ่งต่างจากการออกแบบร้านบูติกของแบรนด์ TAWN C. ผมเปิดโอกาสให้อินทีเรียดีไซเนอร์ได้มีอิสระแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องของจินตนาการ ผมใช้บ้านหลังนี้เป็นโจทย์ แต่เร่งวอลลุ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีแฟนตาซี น่าหลงใหล และมีเสน่ห์ ซึ่งคนละโจทย์กับบ้าน เป็นร้านเสื้อผ้าที่ผู้หญิงเข้ามาแล้วเกิดความรู้สึกว่า สวยจัง อยากใส่เสื้อผ้าของแบรนด์นี้ เป็นเรื่องของจินตนาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เวลาเปลี่ยนไป ความชอบของเราก็เปลี่ยนได้ เคยอยู่ในกรอบ เราก็ออกมาได้ โจทย์ในการรีโนเวตบ้านครั้งนี้ที่ให้กับตัวเองก็คือ ชอบแบบไหน ทำแบบนั้น ไม่มีอะไรตายตัว
การได้นั่งพูดคุยกับคุณธรณในช่วงเวลากว่า 3 ชั่วโมง ระหว่างนั้นเราได้เห็นทั้งบรรยากาศพร้อมๆ กับการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านน้ำเสียงและแววตาที่เขาเล่า ล้วนแล้วแต่สะท้อนความเป็นตัวเขาได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ไลฟ์สไตล์ หรือพื้นที่ส่วนตัว เราค้นพบว่า…จริงๆ แล้วความสุขไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยสักนิด การได้ทำในสิ่งที่ชอบและตามใจคิดนั่นแหละคือความสุขที่สุดแล้ว