Uncategorized

เพราะโลกของเด็กสำคัญ สถาปัตยกรรมจิ๋ว ที่มีผลต่อการพัฒนาของเด็กน้อย


เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติในช่วงเดือนมกราคม จะพาทุกคนไปสัมผัสกับสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อเด็กๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจในเชิงลึก เรามาดูกันว่าสถาปนิกและนักออกแบบจะมีแนวคิดหรือใส่ไอเดียความสนุกเพื่อเป็นการกระตุ้นทักษะในหลายๆ ด้านของเด็กๆ ได้อย่างไร

Peter Zumthor สถาปนิกชาวสวิตเซอร์แลนด์ผู้ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 21 โดยเขาเชื่อว่าการจะเข้าใจงานออกแบบอย่างถ่องแท้นั้น ต้องสร้างประสบการณ์และการรับรู้ที่ทำให้ผู้คนสามารถจับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 สื่อสารผ่านทางที่ว่างและวัสดุ โดยปราศจากคำพูดหรือการอธิบายใดๆ เช่นเดียวกับความเข้าใจว่าเด็กมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการสังเกตปัจจัยต่างๆ ในเชิงลึก อย่างเช่นลักษณะทางพันธุกรรม การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ตลอดจนสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิต การเล่น และการเรียนรู้

นอกจากนี้ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ (Dr. Maria Montessori) แพทย์และนักการศึกษาชาวอิตาลี เริ่มพัฒนาการศึกษาเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยการสอนแบบมอนเตสซอรี่ เน้นการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กได้ทำตามความสนใจของตนเองอย่างเป็นอิสระ เสริมความคิดสร้างสรรค์ และความมีระเบียบวินัยในตนเอง ซึ่งเทคนิคและวิธีการนี้จะเอื้อต่อพัฒนาการที่ดีของเด็ก โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงการกระตุ้นทักษะของเด็กๆ ให้เด็กๆ นับถือตนเอง และเสริมด้านทักษะเกี่ยวกับการเข้าสังคม

ดังนั้นการจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีได้ครอบคลุมทั้ง 3 องค์ประกอบหลักนี้ จะต้องมีการออกแบบสิ่งแวดล้อมที่สร้างความรู้สึกสงบ ในขณะเดียวกันก็พร้อมเป็นพื้นที่เปิดรับให้เด็กๆ เกิดปฏิสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้ สถาปนิกส่วนใหญ่จึงเริ่มต้นการออกแบบจากห้องนอน เนื่องจากเป็นที่ที่เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ และสร้างพื้นที่ที่เป็นไปตามวิธีการของมอนเตสซอรี่ ร่วมกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับเด็ก ความปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งความสำคัญด้วยเช่นกัน ต้องระมัดระวังในเรื่องของโครงสร้าง เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นเหลี่ยมมุม นักออกแบบจึงหันไปใช้การออกแบบรูปทรงโค้งมนมากกว่าแบบเหลี่ยมที่ทำให้เกิดอันตรายขึ้นกับเด็กๆ  

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือต้องเลือกใช้พื้นผิวที่ทำความสะอาดง่าย ปราศจากสารเคมี เลือกใช้พื้นผิวมันวาวต้านเชื้อแบคทีเรียหรือกึ่งมันเงาประเภทไมโครไฟเบอร์ หรือไวนิล หรือแม้แต่เรื่องของขนาดก็ต้องออกแบบให้เหมาะกับความสูงและสรีระ เนื่องจากการอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กลงจะช่วยขจัดความรู้สึกถูกกดดันจากขนาดของห้องและขนาดของเฟอร์นิเจอร์ ทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยและไม่ถูกจำกัด

พื้นที่ที่ส่งเสริมด้านการออกกำลังกาย

เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สถาปนิกได้ออกแบบพื้นที่ที่เปิดใช้งานความคิดสร้างสรรค์ตามธรรมชาติ อิสระในการเล่นและการสำรวจ ไม่ว่าจะผ่านโครงสร้างทางเรขาคณิตที่วางซ้อนกัน ผ่านเกม และผ่านความบันเทิงอื่น เนื่องจากเด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการมีส่วนร่วมทางกายภาพในรูปแบบของเกมและการออกกำลังกาย

 พื้นผิวที่ใช้ประสาทสัมผัส

การใช้พื้นผิวที่ทำให้เกิดเสียง และการใช้ผิวสัมผัสอย่างกระจก ช่วยกระตุ้นการรับรู้ของร่างกายและอารมณ์ของเด็ก ทำให้พวกเขาเรียนรู้วิธีการแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ การเข้าถึงและการปรับตัว นอกจากนี้พื้นผิวที่มีสีสันช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็กได้ เช่นเดียวกับการเขียนบนกระดานไวต์บอร์ดด้วยปากกาสีต่างๆ ทำให้พวกเขาพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวผ่านการวาดภาพ ระบายสี ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าสิ่งนี้ช่วยเสริมการรับความรู้สึกของเด็กได้ดียิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล
www.archdaily.com


You Might Also Like...