คงศักดิ์ วิจักขณทูล หรือคุณโจ นอกจากจะเป็นเจ้าของบริษัท ดีลายสถาปนิกซึ่งเปิดมานานกว่าสิบปี แล้วเขายังทำหน้าที่เป็น Managing Director ไม่เพียงจะดูแลรับผิดชอบงานด้านบริหารของบริษัทแล้ว ยังเป็นบริษัทสถาปนิกที่คำนึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ากับหลากหลายโปรเจ็กต์ทั้งงาน Residential และงาน Commercial รวมถึงยังมีความชำนาญในเรื่องของการรีโนเวท
ผมว่าผมชอบต่อเลโก้
รู้สึกสนุกและชอบเกมที่มีมิติ เป็นสิ่งที่เราชอบตั้งแต่เด็กๆ เลยสนใจ อยากเข้าเรียนสถาปัตยกรรม จึง เริ่มศึกษาและดูว่าแต่ละคณะเรียนอะไรบ้าง ผมจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม ได้เข้าไปเรียนแล้ว เหนื่อยดี หนักดี แต่ก็ยังชอบนะ มันสนุกและค่อนข้างตรงกับที่เราคิดไว้ คือได้ใช้ความคิด ไม่ใช่แค่วาดรูปเก่งแต่ต้องจินตนาการให้ออกถึงสิ่งเราคิดว่าจะออกมาเป็นอย่างไร มองจากภาพ 2 มิติแล้วต้องแปลงให้เป็น 3 มิติให้ได้ ผมว่าผมชอบกลไกอะไรตรงนั้น
ทักษะพิเศษในการเป็นสถาปนิก
ความถนัดในเรื่องวาดภาพไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มาฝึกฝนเอาเอง แต่ในเบื้องต้นทุกคนเข้าใจว่าเป็นสถาปนิกต้องวาดรูปเก่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็น เราต้องจินตนาการให้ออกในเรื่องของพื้นที่ เรามองภาพ 2 มิติที่เป็นแปลน เป็นรูปด้าน ต้องมองให้ออกว่าจะออกมาเป็นรูป 3 มิติอย่างไร มีการเจาะหน้าต่างตรงนี้ๆ แสงจะเป็นอย่างไร สวยไหม สำคัญที่เราต้องนึกภาพให้ออกว่าห้องนี้ออกแบบมาแล้วจะสวยอย่างที่เราตั้งใจไว้หรือเปล่า
Before ภาพผลงานก่อนรีโนเวทบ้านหลังหนึ่ง
After ผลงานหลังจากรีโนเวท
สิ่งที่ได้จากการเรียน
ผมได้ตรรกะอะไรหลายอย่าง เป็นการจับเอาฟังก์ชัน ความต้องการลูกค้ามาประมวลผลใหม่ ให้ออกแบบอาคารออกมาได้ตามนั้น โดยที่มีทั้งความต้องการของลูกค้า โครงสร้างวิศวกรรมต่างๆ กฏหมาย การประหยัดพลังงาน ที่เราต้องมาประมวลผล แน่นอนว่ามันไม่ได้หมดทุกอย่าง แต่เราต้องมีตรรกะที่ดีพอว่าแบบไหนคือที่ดีที่สุดที่จะทำ บางอย่างอาจได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ประหยัดพลังงานไม่ได้เลย หรือความต้องการอาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันมีสิ่งที่ดีกว่าอะไรแบบนั้น ก็เป็นหน้าที่เราที่จะต้องชี้แจง
เป็นสถาปนิกเต็มตัว
พอเรียนจบก็ได้มาทำงานด้านนี้โดยตรง ผมจบในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง อสังหาริมทรัพย์ล้มหมด ตอนนั้นสถาปนิกตกงานเยอะมาก แต่อาจารย์ที่สอนอยู่ (อาจารย์กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล) เขาเรียกผมไปทำงานด้วยที่บริษัทลีแอนด์ออเร็นจ์ จำกัด (ประเทศไทย) หลังจากนั้นอาจารย์ไปเปิดบริษัทเองชื่อ สถาปนิก สเปซไทม์ จำกัดท่านก็ดึงผมไปทำงานด้วย ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์เป็นสิบปี เราได้เรียนรู้ และได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์เยอะเลย
เรียนรู้จากอาจารย์
ผมทำงานกับอาจารย์ ไม่มีความเป็นเจ้านายกับลูกน้อง เขาสอนเราหมด ตั้งแต่การเข้าไปหาลูกค้า เขียนแบบเสร็จจนก่อสร้าง เขาเอาแบบให้เราเข้าไปดูหน้างาน ซึ่งผมจะถูกผลักดันตรงนั้นเยอะมาก เพราะในงานออกแบบเราออกแบบได้แต่เรื่องการก่อสร้างเป็นอีกวิชาชีพหนึ่ง ดังนั้นคนที่เป็นสถาปนิกควรจะรู้ด้วยว่าที่เราออกแบบก่อสร้างได้จริงหรือเปล่า อาจารย์เขาเน้นเรื่องนี้ให้เรามาดูหน้างานมาเวิร์คกับผู้รับเหมาว่ามันไปได้ขนาดไหนอย่างไร
ดังนั้นพอเรารู้ว่าวิธีนี้ทำได้ทำไม่ได้ มันก็จะไปเป็นเทคนิคสำหรับงานต่อๆ ไป แต่บางคนที่จบใหม่ทำงานเขียนแบบแต่ไม่ได้ไปดูงานตั้งแต่แรกจนบจบโครงการ แต่สำหรับผมพอถึงช่วงก่อสร้างก็ให้ไปดูซีเนียร์ที่มีประสบการณ์เพราะว่าการก่อสร้างถ้าเกิดการผิดพลาดมันเสียหายเยอะ เขาเลยอยากให้เรามีกระบวนการเรียนรู้ตรงนั้นให้ครบซึ่งผมว่ามันดีมากครับ นอกจากนั้นแล้วอาจารย์ยังอยากให้เราลองใช้วัสดุใหม่ๆ โดยเริ่มจากการการรีเสิร์ช การทำวิจัย ไม่ว่าเราจะใช้วัสดุอะไรก็ตามต้องคอยรีเสิร์ชวัสดุนั้นๆ เพราะก่อนที่เราจะทำอะไรก็ต้องรู้จักวัสดุนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งก็ช่วยได้มากจริงๆ ไม่อย่างเราก็จะได้รูปแบบและอาคารสถาปัตยกรรมเดิมๆ
คอนเซ็ปต์ของดีลายสถาปนิก
ผมเริ่มอิ่มตัวและอยากจะลองทำอะไรเองบ้าง แต่เราพอมีฐานลูกค้าอยู่ก็เลยลองเสี่ยง ผมวางคาแร็กเตอร์ให้กับดีลายสถาปนิก 2 สไตล์ สไตล์แรกคือเน้นพื้นที่ที่ใช้จากภายนอก เป็นเอาท์ดอร์ที่ใช้งานได้จริง ในงานออกแบบผมพยายามเน้นธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มากกว่า หมายถึงว่าเราคำนึงเรื่องทิศทางแดด การเปิดช่องหน้าต่างให้กว้างมากที่สุด เพราะรู้สึกว่าเรื่องของเดย์ไลท์ การระบายอากาศอย่างไรก็ดีกับมนุษย์
อีกเรื่องคือการรีโนเวท ทำมาเยอะและหลายโปรเจ็กต์ เริ่มเชี่ยวชาญเรื่องนี้ จุดเด่นก็คือ การปรับปรุงแปลงโฉมอาคารให้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เจ้าของต้องการอย่างหนึ่งแต่เขานึกไม่ออกว่าจะใส่เข้ามาในอาคารอย่างไร เราต้องจินตนาการ ดูแปลนและคิดออกมาให้เขาเห็นให้ได้ งานระบบเป็นอย่างไร ตรงไหนทุบได้ ไม่ได้ เรื่องรีโนเวทยากกว่างานขึ้นใหม่ แต่สำหรับเราแล้วสบายมาก เช่น จะรีโนเวทอาคารที่มีฝ้าแต่พอเปิดฝ้าปุ๊บเราจะเจออะไรบ้างก็ไม่รู้ บางทีเจอเซอร์ไพรส์ก็มี บางโปรเจ็กต์ที่ทุบเอาฝ้าออก ใต้พื้นไม้มันยังดีอยู่นะ เหมือนที่นี่ (ออฟฟิศ) ก็เลยออกแบบแบบไม่มีฝ้า
เราให้ความสำคัญกับเลือกใช้วัสดุ เพราะสุดท้ายแล้วมันกลายเป็นขยะบนโลกทั้งนั้น เราควรคำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดกับโลกด้วย พยายามใช้ของเดิมให้มากที่สุดแล้วมาแต่งเติมให้ดูดีก็กลายเป็นดีไซน์ที่สวยได้
http://www.delinearchitects.com
https://www.facebook.com/DelineArchitects/