ซีพีเอฟ เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น จากสัดส่วน 35% เพิ่มเป็น 50 % โดยนำนวัตกรรม ระบบดิจิทัล และเทคโนโลยีทันสมัย มาใช้ในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่นโยบายบริหารจัดการสูญเสียอาหาร อาหารส่วนเกินและขยะอาหาร ตลอดกระบวนการผลิต ตอบโจทย์เทรนด์โลก สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
วันอาหารโลก (World Food Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี โดยในปี 2021 นี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) กำหนดแนวคิดในการรณรงค์ “Our actions are our future – Better production, better nutrition, a better environment and a better life” ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งซีพีเอฟในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก พร้อมสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนใหม่ “CPF 2030 Sustainability in Action” เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอีก 9 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2573) ซึ่งบริษัทฯ ยังยึด 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดิน น้ำ ป่าคงอยู่ ในด้านของอาหารมั่นคง กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น จากปัจจุบัน 35% จะเพิ่มเป็น 50% การเพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำจาก 20% เป็น 40%
ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ อาทิ การพัฒนาโปรตีนทางเลือก Plant- Based Protein ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ที่ผลิตจากพืช 100% การนำโปรไบโอติกมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์แข็งแรงตามธรรมชาติ ไม่ป่วยง่าย ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง ผลิตภัณฑ์ “เบญจา ชิกเก้น” (Benja Chicken) นวัตกรรมเนื้อไก่สดพรีเมียม ไก่ที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์หมูชีวา เนื้อหมูที่มีโอเมก้า 3 เป็นต้น จากความมุ่งมั่นการนำความรู้ เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ในการออกผลิตภัณฑ์อาหาร และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งองค์กร ทำให้ในปีนี้ บริษัทได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก มุ่งมั่นพัฒนาและผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในประเด็นการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) และการผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) ร่วมส่งเสริมคนไทยบริโภคอย่างรู้คุณค่าของอาหาร ขับเคลื่อนนโยบายลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดจนร่วมมือกับประชาคมโลกในการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมกันและพอเพียงให้กับทุกคน ทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤติ
“การแพร่ระบาดของโควิด- 19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ซีพีเอฟ ไม่เคยหยุดนิ่งเพื่อพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมในระบบการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตอบสนองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่ผู้คน รวมทั้งทำการตลาดอย่างรับผิดชอบ การเข้าถึงผู้บริโภคจำนวน 35 ล้านรายต่อวัน ด้วยอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” นายวุฒิชัย กล่าว
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดีว่าธุรกิจอาหารเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เราจึงรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กร นำแนวคิดการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ (Waste to value)ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยเริ่มที่ตัวของพนักงานเอง อาทิ ซีพีเอฟเปิดตัว กิจกรรม “กินเกลี้ยง เลี้ยงโลก” ปลูกฝังพนักงานรู้คุณค่าอาหาร บริโภคอาหารให้หมดจาน การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพื่อลดการสูญเสีย ตลอดจนถึงช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อลดขยะอาหาร ให้ความรู้ผู้บริโภคกินอย่างรู้คุณค่าไม่เหลือทิ้ง เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารให้กับทุกคน
นอกจากนี้ ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสูญเสียอาหาร อาหารส่วนเกินและขยะอาหาร ตลอดกระบวนการผลิต โดยริเริ่มโครงการ “Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด (GEPP) เพื่อนำอาหารส่วนเกินไปปรุงเป็นเมนูพร้อมทาน อร่อยและปลอดภัย กว่า 12,000 มื้อ ให้แก่ผู้ยากไร้ และกลุ่มเปราะบางมากกว่า 10,000 คน และยังส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้ถึงการเก็บขยะพลาสติกส่งกลับคืนเพื่อนำไปย่อยสลายอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยลดอาหารส่วนเกินได้มากกว่า 2,800 กิโลกรัม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 6,014 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า