หลายครั้งที่เรื่องของภาชนะ อย่างจานหรือชามมักถูกพูดถึงในฐานะแค่อุปกรณ์รองรับอาหาร อันมีวัตถุประสงค์เพียงในด้านความสวยงามเป็นหลัก แต่จะใครจะรู้บ้างว่าที่จริงแล้วภาชนะสามารถบอกเล่าอะไรกับเราได้มากกว่านั้น เราจะมาเล่าเรื่องความหลงใหลที่อาจทำให้คุณหลงรัก อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่เคียงข้างห้องครัวมาตลอดอย่างจานชามมากขึ้นก็เป็นได้
คุณนันทพร ลีลายนกุล, คุณธีรยุทธ คงดี (สามี) และน้องอิ่มบุญ คงดี (ลูกสาว)
คุณนันทพร ลีลายนกุล หรือคุณโอ เจ้าของเพจ The Dish Whisperer คือคนที่ออกตัวว่าสะสมและชื่นชอบในภาชนะเซรามิกมากจนถึงขั้นเสพติดก็ว่าได้ โดยเฉพาะเซรามิกจากญี่ปุ่นที่ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องปั้นดินเผา
บรรดาภาชนะเซรามิกหลากหลายรูปทรงที่คุณโอเก็บสะสมไว้
ภายในห้องเก็บมีการจัดอย่างมีระเบียบเป็นหมวดหมู่
“จุดเริ่มต้นคือพี่เป็นคนชอบภาชนะเกี่ยวกับอาหารอยู่แล้ว เพราะชอบบรรยากาศของการมานั่งทานอาหาร ดื่มชากาแฟด้วยกัน เพราะช่วยให้การพูดคุยผ่อนคลายเป็นกันเอง แต่คนที่นำเข้าสู่วงการจริงๆ เลยคือคุณอุรุดา โควินท์ นักเขียนสาวรางวัลซีไรต์ ที่มาชี้เป้าว่าที่ไหนขายจานก็เลยตามไปซื้อ ทำให้ได้รู้จักแม่ค้าคนอื่นๆ อีกหลายคน ทีนี้เลยกลายเป็นซื้อเยอะขึ้นๆ ชนิดพิมพ์แบงก์ไม่ทันเลย”
บรรยากาศภายในห้องทานอาหารที่ตกแต่งด้วยบรรดาเครื่องเซรามิกต่างๆ
ภายในบ้านสีขาวที่แวดล้อมด้วยพืชผักสวนครัวที่คุณโอปลูกไว้ เราได้พบกับเหล่าภาชนะเซรามิกจำนวนมาก ถูกจัดวางเรียงรายไว้ในห้องเก็บใกล้ๆ ครัวเป็นหลักฐานยืนยันได้ถึงความชื่นชอบ ทุกครั้งก่อนลงมือทำอาหาร คุณโอจะเดินเข้าไปเยี่ยมเยียนภายในห้อง แล้วเลือกหยิบภาชนะขึ้นมาทีละชิ้นเพื่อดู จับ และฟังว่าจานหรือชามใบนั้นกำลังกระซิบสื่อสารอะไรออกมา ซึ่งสิ่งนี้ก็ได้กลายเป็นที่มาของชื่อเพจThe Dish Whisperer ของคุณโอนั่นเอง
จานที่โดดเด่นด้วยการวาดลวดลายแบบต่างๆ ลงไปบนเนื้อจานด้านใน
จานลายผ้า ถือเป็นอีกหนึ่งจานใบโปรดเพราะจานมีลวดลายแบบผ้าซึ่งเป็นสิ่งที่คุณโอชอบ
“ชื่อเพจ The Dish Whisperer คำว่า Dish ก็คือภาชนะ เพราะอาหารทุกอย่างที่ทำเริ่มต้นมาจากภาชนะ คือพี่จะมองจานหรือชามใบนั้นๆ ก่อนว่ารูปร่างแบบนี้เหมาะกับอาหารอะไร ตัวอย่างเช่น จานที่อยู่ในมือตอนนี้เป็นทรงกลม รับน้ำได้นิดหน่อย ลายของเนื้อจานก็สวยมาก ถ้าใส่อาหารชิ้นใหญ่ไปก็จะบัดบังความสวยไปเสียหมด พี่ก็จะเลือกทำอาหารที่เป็นขนาดเล็กๆ อย่างสลัดซัลซามะเขือเทศ วางกับมะเขือม่วงย่าง มีน้ำสลัดนิดหน่อย จัดวางให้ยังเห็นเนื้อจานอยู่แบบนี้เป็นต้น หรืออย่างจานเปลที่มีขนาดใหญ่ ก็ไม่ได้แปลว่าต้องใส่อาหารจนเต็ม เพราะถ้าเยอะไปก็ดูไม่อร่อย แบบนี้เราอาจจะใช้วิธีใส่อาหารหลายๆ อย่าง โดยจัดให้เป็นคำๆ แทนก็ได้ สรุปคือถ้าจินตนาการแล้วเราท้องร้องตาม แบบนี้โอเค”
ไม่เพียงจานชาม แต่ช้อนเซรามิกก็มีสีสันและรูปร่างที่สวยงามแตกต่างกันไป
กาและจอกน้ำชาที่มีรูปร่างไม่สมส่วน แต่กลับดูเป็นธรรมชาติและมีเสน่ห์
ไม่ใช่เพียงความสวยงามภายนอก แต่ภาชนะยังมีคุณสมบัติสามารถทำให้อาหารเปลี่ยนจากแค่ของกิน เป็นสุนทรียะอย่างหนึ่งได้ด้วย “พี่ได้เห็นสิ่งนี้จากศิลปินเซรามิกคนหนึ่งที่พี่ชื่นชอบมาก คือ อาจารย์คาซูมิ เป็นชาวญี่ปุ่นที่เคยมาเปิดสตูดิโอในเมืองไทย อาจารย์ทำแก้วเบียร์ที่ทำให้เมื่อรินเบียร์ลงไปแล้วจะเกิดฟองหนานุ่ม เพราะความพรุนของพื้นผิวแก้วมันพอเหมาะ ซึ่งมันสะท้อนให้พี่เข้าใจเลยว่าภาชนะไม่ได้มีไว้แค่ใส่อาหาร แต่ยังเกี่ยวข้องเป็นหนึ่งเดียวกับอาหารอย่างแท้จริง”
จานสีขาวลายฟ้าที่ถือเป็นจานใบแรกที่คุณโอเก็บตอนไปเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น เป็นจานก้นลึกที่ใส่ได้ทั้งน้ำและแห้ง ลวดลายดูอ่อนหวาน ถือเป็นหนึ่งในจานที่มีความสำคัญทางจิตใจต่อผู้เป็นเจ้าของ
วันนี้เพจ The Dish Whisperer ก็ยังคงสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมไปกับจานชามเซรามิกสวยๆ ที่เรียงรายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันนี้หากใครแวะเข้ามาเยี่ยมเยือนบ้านหลังสวยสีขาว ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นร้าน The Dish Whisperer ตามชื่อเพจ ก็สามารถแวะเข้ามาทานอาหารโฮมเมดฝีมือของคุณโอและสามีที่ใส่มาในชามเซรามิกให้ได้สัมผัสเสน่ห์ของภาชนะแสนสวยของเจ้าของบ้านไปได้พร้อมๆ กัน
คุณโอกับห้องเก็บถ้วยชามเซรามิก
“ถ้าถามพี่ว่าอะไรคือเสน่ห์ของเซรามิก คงต้องบอกว่าเพราะพี่เป็นคนชอบอะไรที่ไม่สมมาตร บ้านหลังที่เราอยู่นี่ก็ไม่สมมาตร แต่มีความไม่เท่ากันนิดๆ ซึ่งเซรามิกก็เป็นแบบนั้น วิธีการผลิตของมันทำให้แต่ละใบไม่มีทางเหมือนกันเลย ไม่ว่าจะด้วยสีหรือด้วยทรง คล้ายเป็นการบอกกับเราว่า ชีวิตไม่จำเป็นต้องเป๊ะไปทั้งหมดหรอก แล้วเราจะมีความสุขกับมันมากขึ้น”
★★★★★
บทความจากคอลัมน์ ” Decollector ” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 125 ประจำเดือนมกราคม 2560