Café Kitchen & Home

Tangible คาเฟ่ที่เกิดจากการทดลองและใช้วัสดุในมุมมองใหม่


TANGIBLE คือคาเฟ่และสตูดิโอออกแบบที่มีทั้งความสนุก เป็นพื้นที่ปล่อยไอเดีย เป็นที่นั่งจิบกาแฟที่เปิดต้อนรับทุกคนให้ได้รู้จักตัวตนและแนวคิดความเป็น Trimode Studio ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบที่เติบโตมาบนเส้นทางงานออกแบบดีไซน์ โดยมีคุณนิ-ชินภานุ อธิชาธนบดี คุณหงส์-ภิรดา และคุณหยก-ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา 3 ดีไซเนอร์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ทำงานสร้างสรรค์หลายแขนงทั้งงานไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องประดับ โปรดักต์ เฟอร์นิเจอร์ อินทีเรีย จนถึงแบรนด์ดิง       

คุณนิ-ชินภานุ แนะนำถึง TANGIBLE ว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว Trimode Studio ได้ย้ายมาอยู่บนพื้นที่ใหม่แห่งนี้ โดยใช้พื้นที่แนวตั้ง 5 ชั้นที่เป็นตึกคลังยาเก่าริมถนนเจริญกรุง มาแปลงโฉมเป็นสตูดิโอออกแบบและคาเฟ่ในสไตล์ของพวกเขาเอง ทำการทดลองโดยใช้งานวัสดุในมุมมองใหม่ที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อตัวผู้พบเห็นหรือผู้ที่สนใจ จึงเป็นที่มาของคาเฟ่และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่รวมอยู่ในสตูดิโอออกแบบแห่งใหม่ของ Trimode พวกเขานิยามว่าเป็น Creative Flow Space ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งจับต้องได้ และเป็นที่มาของคำว่า “TANGIBLE”

“เพราะจุดเริ่มต้นของ Trimode Studio มาจากที่เราทำรีเทลแฟชั่นและร้านอาหารไว้ค่อนข้างเยอะ เราจึงทำในสิ่งที่ถนัดคือคาเฟ่และรีเทล หลายคนที่มาเยือน TANGIBLE มักบอกว่าที่นี่เป็นคาเฟ่เท่ๆ ออกแนวเกาหลีๆ  ซึ่งในเรื่องสไตล์ผมไม่เคยปิดกั้น แต่ลูกค้าจะให้คำจำกัดความว่า ‘มาคาเฟ่เกาหลีย่านเจริญกรุงกัน’ เราแปลกใจจึงทำการบ้านด้วยการไปถามลูกค้าที่มาถึงความแตกต่างระหว่างเกาหลี ญี่ปุ่น หรือสไตล์ต่างๆ ที่เขาพูดถึงว่าคืออะไร เราได้คำตอบว่าเกาหลีมันคือความคมบางอย่าง ความครีเอทีฟที่มีความทันสมัย”

โดยความเท่และทันสมัยของที่นี่สัมผัสได้ตั้งแต่ภายนอกอาคารที่ตกแต่งด้วยอะลูมิเนียมคอมโพสิตไร้การปรุงแต่ง ส่วนประตูทางเข้าถูกออกแบบเหมือนประตูลิฟต์ เป็นบานสไลด์เปิดเข้าไปสู่ภายในร้าน ด้วยความที่อยากให้คนที่มาเกิดความสงสัยก่อนว่าที่นี่คืออะไร จึงมีแท่นกระจกอยู่ด้านหน้าคล้ายกับที่กดลิฟต์และตัวอักษรกลับด้านของคำว่า TANGIBLE เขียนไว้บนผนังด้านบน ซึ่งต้องใช้วิธีอ่านผ่านกระจกสะท้อนกลับมาเป็นชื่อร้าน TANGIBLE

ส่วนด้านในเน้นวัสดุตกแต่งประเภทโลหะ สเตนเลส อะลูมิเนียม และปูนที่ไม่ได้มีดีแค่ความเท่ แต่ยังสะท้อนการพลิกแพลงวัสดุเหล่านี้สู่มุมมองใหม่ๆ โดยพื้นที่ชั้น 1 ออกแบบให้พร้อมรองรับการเป็น Cafe Gallery ด้วยดีไซน์เคาน์เตอร์บาร์และสเตปโลหะสีทองที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นที่จัดวางสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ที่มีจำหน่ายภายในร้าน เป็นโซนที่นั่งระดมความคิด หรือในวันที่ต้องต้องการแสดง Exhibition ก็สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดแสดงงานได้ทันที

คุณชินภานุบอกถึงไอเดียพื้นที่ตรงนี้ว่าอยากให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด และรองรับกิจกรรมได้หลากหลาย ดังนั้นจึงไม่เหมือนร้านกาแฟหรือร้านอาหารที่เตรียมที่นั่งไว้สำหรับนั่งทานได้อย่างเดียว “เราต้องการสร้างความเคลื่อนไหวทางงานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ แล้วความเป็นร้านกาแฟหรือความเป็นฟังก์ชันจริงๆ ค่อยๆ ไหลกลับเข้ามา โจทย์หนึ่งเลยเราต้องการความ Flexible มากๆ ในตอนออกแบบ เพราะเราไม่รู้ว่าพื้นที่นี้จะกลายเป็นอะไร ฉะนั้นอุปกรณ์ต่างๆ จะต้องพร้อมเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ง่าย

“ชั้น 2 เป็น Multi-Function Space ที่ให้น้องๆ ในทีมออกแบบได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน หรือเป็นที่เปลี่ยนบรรยากาศจากห้องทำงานบนชั้น 3 มาสู่พื้นที่สำหรับระดมความคิดกัน รวมไปถึงเป็นที่จัดแสดงงานตามวาระต่างๆ ในชั้นบนนี้เรามองว่าเป็น Exhibition ตอนแรกคือไม่มีที่นั่งเลย พอเดินขึ้นมาก็จะเจอเรื่องราวธรรมชาติที่เรานำเสนอ แต่ที่นั่งเราเพิ่มมาทีหลังเพราะรู้สึกว่าเมื่อคนเริ่มมาเยอะๆ มันเกิดความวุ่นวายในระดับหนึ่ง คนก็จะเดินวนไปวนมา ไม่เกิดความนิ่ง เราจึงนำที่นั่งมาวาง เมื่อซื้อกาแฟแล้วนำขึ้นมานั่งดื่มได้”

ในส่วนของการออกแบบจะเต็มไปด้วยการตกแต่งที่สร้างความรู้สึก Energetic ความมีพลัง กระปรี้กระเปร่า มีความคิดสร้างสรรค์ที่ลื่นไหล “เราเรียกว่าพื้นที่ที่ไม่ Finish เพื่อเปิดความคิดสร้างสรรค์ เราไม่อยากให้คนเดินมาเห็นว่านี่คือกระจก นี่คือหิน เราเลยปล่อยพื้นที่ให้มีความดิบแบบเรียลของโครงสร้างที่ซ่อนอยู่กับงานที่ Finish เส้นทางการเดินของที่นี่ ทุกๆ เหลี่ยม ทุกๆ มุมเวลาเดินจะเห็นมุมมองใหม่ๆ ในทุกอย่างก้าวเสมอ

“อีกสิ่งหนึ่งคือกระบวนการลดทอนกระบวนการ ฟังแล้วอาจจะดูยาก แต่งานของ Trimode เราชอบทดลองวัสดุ อย่างอะลูมิเนียมที่นำมาใช้ตกแต่ง เวลามองจะเห็นเป็นสีรุ้ง ปกติเวลานำอะลูมิเนียมมาใช้จะต้องเตรียมผิวและนำไปทำ Powder Coat จากเดิมที่จะต้องทำขั้นตอนต่างๆ นี้จึงลองคิดว่าถ้าตัดการทำ Powder Coat ออกจะเป็นอย่างไร เพราะเราสังเกตเห็นผิวด้านในของอะลูมิเนียมแล้วรู้สึกชอบมากกว่า

เมื่อนำมาใช้โดยลดทอนขั้นตอนออกก็ไม่ทำให้เกิดฝุ่นละออง ความร้อน และไม่ต้องใช้สารเคมี ทั้งยังเป็นการต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับวัสดุพื้นฐานได้โดยที่ไม่ต้อง Finishing ผิวด้วย หรือผิวสเตนเลสที่เป็นเหมือนวัสดุที่ผ่านการขัดเงา แต่เรากลับชอบวัสดุต้นทางก่อนที่จะขัด เรามองว่ามันสวยกว่า สิ่งที่ได้มาต้องไม่เกิดกระบวนการสร้างฝุ่นละอองจากการขัดผิว โดยพื้นผิวสเตนเลสนี้ชื่อ No.1 เป็นพื้นผิวที่ทั่วไปไม่ใช้กัน แต่เรานำมาทำเฟอร์นิเจอร์

หากใครอยากปลุกสมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ ลองมานั่งจิบกาแฟ ดื่มด่ำบรรยากาศภายในคาเฟ่ TANGIBLE กันดูได้ เพราะที่นี่ได้เชื่อมโยงงานดีไซน์ผ่านเครื่องดื่ม ไลฟ์สไตล์ และแฟชั่นที่ทำให้คนภายนอกเข้าถึงตัวตน และประสบการณ์ของ Trimode Studio ในมุมมองด้านงานออกแบบที่ไม่ต้องยึดติดกับการใช้งานแบบเดิมๆ แล้วยังมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย  

เจ้าของ-ออกแบบ : Trimode Studio
ถนนเจริญกรุง ปากซอยเจริญกรุง 82
เปิดบริการ : 09.00-18.00 น. (ปิดวันอังคาร)
https://www.facebook.com/Tangiblebkk


You Might Also Like...