Café Kitchen & Home

เพราะมีนา จึงมีข้าว ร้านอาหารไทยเรือนไม้ล้านนา กับเอกลักษณ์ข้าว 5 สี


“เพราะมีนา จึงมีข้าว” ทำให้หญิงสาวได้กินข้าวจากนาของย่ามาตลอด ประกอบกับมีพื้นที่ของครอบครัวที่ปลูกต้นไม้ไว้เมื่อ 30-40 ปีก่อนที่ให้ความร่มเงา ร่มรื่น และมียุ้งข้าวโบราณ จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลให้สาวเชียงใหม่ จาว-จาวรี ทองดีเลิศ ลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ กลับมาพลิกฟื้นผืนดินของตัวเอง โดยได้แรงสนับสนุนจากครอบครัวและร่วมกับคนรัก เชฟปุ้ย-รัชนันทน์ พันธุ์กาฬสินธุ์ สร้างร้านมีนา (Meena Rice Based Cuisine) ขึ้นมา ซึ่งที่นี่เป็นร้านอาหารไทย 4 ภาค มีข้าวเป็นพระเอกของร้าน โดยที่ลูกค้าสามารถออกแบบข้าวในจานให้มีสีสันแบบที่ไม่เหมือนใคร จนถูกยกให้เป็นร้านอาหารระดับมิชลินของเชียงใหม่

เพราะมีนา จึงมีข้าว

จากประตูไม้บานเล็กนำเราเข้าสู่พื้นที่ขนาดใหญ่ ระหว่างทางเดินที่เชื่อมสู่ตัวร้านอาหาร มีต้นไม้ร่มครึ้มตลอดทาง มีร้านขายของแฮนด์เมดน่ารักๆ และร้านกาแฟ ก่อนเข้าสู่ร้านมีนาที่เป็นเรือนไม้ทรงล้านนามีน้ำล้อมรอบ ที่สำคัญไฮไลต์ที่นี่มี “หลองข้าว” ในภาษาล้านนา หรือ “ยุ้งข้าว” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา สร้างจากไม้ทั้งหลัง และนี่เองที่คุณจาวนำเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวมาเป็นคอนเซ็ปต์ในการสร้างร้านนี้ขึ้นมา

ตอนแรกจาวทำงานที่กรุงเทพฯ ประมาณ 4-5 ปีก็เริ่มรู้สึกอยากกลับบ้าน เพราะตั้งแต่เด็กจาวเกิดและเติบโตที่เชียงใหม่ ที่ไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะงาน เราจบนิเทศศาสตร์ก็สนุกกับงาน ได้ออกต่างจังหวัดบ่อยๆ แต่วิถีชีวิตในกรุงเทพฯ เป็นอะไรที่เราไม่คุ้นเคยทำให้อยากกลับบ้าน ก็คิดวางแผนว่าถ้ากลับมาแล้วจะทำอะไรดี พอดีคุณแม่มีร้านขายของก็เริ่มไปช่วยงานที่ร้านก่อน หลังจากนั้นจาวได้เจอกับแฟน เขาเป็นเชฟมีร้านอาหารอยู่ที่ซิดนีย์ และเป็นช่วงเวลาที่เขาปิดร้านที่นั่นพอดี พอเขามาเที่ยวเชียงใหม่ก็มาคุยกันว่าจะเริ่มต้นทำอะไรกันดี พอดีคุณพ่อมีที่อยู่ตรงนี้ ก่อนจะมาเป็นร้านบริเวณนี้เป็นป่าไมยราบ ยังไม่มีร้านค้า ไม่มีถนนคนเดินเหมือนตอนนี้ มีบ้านแค่หลังเดียว จาวก็มีความคิดว่าเราน่าจะพัฒนาทำอะไรได้ และเราก็เห็นโรงข้าว หรือยุ้งข้าวเก่าที่พ่อเขาทำไว้อยู่แล้ว เลยมีไอเดียอยากจะเปิดพื้นที่เป็นร้านอาหาร เริ่มลงมือทำกันเองเป็นปี ด้วยความที่มียุ้งข้าวอยู่แล้ว จึงคิดคอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวโยงกับข้าวขึ้นมา 

ข้าว 5 สี กับบรรยากาศในป่าใหญ่

เสน่ห์ของที่นี่นอกจากอาหารที่นำข้าวมาเป็นส่วนประกอบหลักแล้วคือ บรรยากาศการได้มานั่งกินอาหารท่ามกลางต้นไม้ใหญ่เสมือนอยู่ในป่าจริงๆ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้คุณจาวเล่าว่า หลังจากเข้ามาปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ ก็เริ่มจากทำอาหารที่มีบริการแค่ 5 โต๊ะเท่านั้น ซึ่งร้านนี้เริ่มจากที่คนถ่ายข้าวสีและมาเช็กอิน ทำให้ชื่อของมีนา มีข้าวกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยผลตอบรับที่ดีจึงขยับขยายส่วนต่างๆ จนเต็มพื้นที่ซึ่งมีที่นั่งทั้งแบบอินดอร์และเอาต์ดอร์ที่สามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบล้านนา และสัมผัสอากาศธรรมชาติ อีกทั้งยังมีโซนศาลาริมน้ำที่มีความเป็นส่วนตัว

“ด้วยความที่เรากินข้าวจากนาของย่ามาตลอดตั้งแต่เด็ก ย่าเป็นชาวนาและย่าก็ส่งข้าวเป็นกระสอบมาให้ตลอดก็เลยคิดคอนเซ็ปต์ ตั้งชื่อร้านว่ามีนา ‘มีนา เพราะมีข้าว’ เลยเป็นคอนเซ็ปต์ของร้านตั้งแต่แรก และจาวก็เป็นคนที่ชอบอะไรที่เป็นสีสัน กระจุกกระจิก ก็เลยคิดทำข้าว 5 สีขึ้นมาเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน คือ ข้าวกล้องแดง ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวอัญชัน ข้าวดอกคำฝอย และข้าวหอมมะลิ และเราก็ให้คนที่มาสามารถออกแบบข้าวที่ตัวเองอยากกินได้ เช่น อยากกินข้าวสีธงชาติไทย สีพาสเทล ส่วนเมนูเราก็มีข้าวเป็นพระเอกเป็นส่วนประกอบ เช่น กุ้งชุบข้าวทอด ข้าวจี่หมูกระเทียม ซี่โครงหมูอบน้ำผึ้งข้าวไรซ์เบอร์รี หรือการนำข้าวเบือของทางภาคอีสานมาเป็นส่วนประกอบในเมนูซึ่งทำให้อาหารมีความนัวขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มก็จะเป็นเมนูน้ำสมุนไพรไรซ์เบอร์รี คือทุกอย่างก็จะมีข้าวเป็นพระเอกไปหมดเลย

“นอกจากนี้ยังเน้นผักท้องถิ่นและผักจากทางใต้ เพราะแม่จาวเป็นคนใต้ ส่วนพ่อจาวเป็นคนภาคกลาง แฟนจาวเป็นคนภาคอีสาน และจาวเป็นคนเหนือ เริ่มแรกเราก็เอาอาหารใต้ของแม่ อาหารภาคกลางของอา และอาหารภาคอีสานของแม่แฟน มารวมกันคิดเป็นเมนูต่างๆ ออกมาเป็นอาหาร 4 ภาคที่เราชอบกิน และผักต่างๆ จะเป็นผักที่ปลูกเองด้วย ดอกไม้เราก็ปลูกเอง ผักออร์แกนิก ผักอินทรีย์เราก็คัดสรรจากแหล่งปลูกผักอินทรีย์ด้วย แรกๆ เราก็เลือกเมนูที่แม่ทำอร่อย เช่น แกงชะพลูหอยเราก็เปลี่ยนจากหอยเป็นปู

แม่ของแฟนทำหมกหน่อไม้ เราก็ให้แม่ๆ อาๆ มาสอน เป็นอาหารที่ครอบครัวเรากิน อาหารที่เราคุ้นเคย มีครบทุกภาค และยังมีเมนูใหม่ๆ เพิ่มขึ้นก็มาจากพี่ป้าน้าอาของเรา อย่างอาหารเหนือ เช่น ผักเชียงดาผัดไข่ ตำขนุน ลาบปลา น้ำพริกอ่องที่เราใส่หมูและธัญพืชลงไปด้วยกลายเป็นน้ำพริกอ่องธัญพืช เมนูที่นำดอกไม้ท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบในการทำ หรือตามฤดูกาลมีผลผลิตอะไรเราก็นำมาเป็นวัตถุดิบ ออกเมนูใหม่ๆ มา”

มีนากับชุมชนโหล่งฮิมคาว

การเดินทางของจาวในวันนี้ถือเป็นเรื่องที่เกินตามความคาดหมาย เราไม่ได้คิดว่าประสบความสำเร็จ แค่เราอยู่ในชุมชน ช่วยคนในชุมชนและทำธุรกิจในบ้าน ได้อยู่กับญาติพี่น้อง มีคุณพ่อคุณแม่ที่ช่วยสนับสนุนทุกอย่าง ซึ่งเขาค่อนข้างทำงานกับชุมชนเยอะ อยากให้ชุมชนมีความยั่งยืน ท่านก็จะคอยบอกว่าเราต้องช่วยกันซึ่งในชุมชนเรามีตลาดฉำฉาที่อยู่ทางหน้าซอย ร้านมีนาจะอยู่ท้ายซอย ระหว่างกลางซอยก็จะมีร้านค้าเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ และเราก็มาคุยกันในชุมชนว่าอยากหาอาชีพที่ยั่งยืนให้กับพวกเรา ก็เริ่มมีบ้านที่เข้ามาทำงานหัตถกรรมของตัวเอง มีถนนคนเดิน และมีการจัดงานประจำปี ที่แต่ละบ้านจะมาระดมความคิด ประชุมงานกัน จนกลายเป็นชุมชนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมประจำปีที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งเราใช้ชื่อชุมชนว่า “โหล่งฮิมคาว” เป็นภาษาเมือง แปลว่าพื้นที่กว้างๆ ริมแม่น้ำคาว ซึ่งเดินไปนิดเดียวก็จะเป็นริมน้ำแม่คาว เป็นชุมชนวัดสีมารามที่อยู่ต้นซอย และแม่น้ำคาวจะอยู่สุดทาง สำหรับใครที่มาร้านมีนาก็สามารถมาเดินเล่นในชุมชนได้ มีถนนคนเดินทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันธรรมดา อีกทั้งยังมีกิจกรรมประจำปีที่มาสร้างสีสันในทุกช่วงฤดูหนาวอีกด้วย

ร้านมีนา (Meena Rice Based Cuisine)
ชุมชนโหล่งฮิมคาว หมู่ที่ 2 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดบริการ ทุกวัน 10.00-20.00 น. 
โทร. 09 5693 9586, 08 5508 3307, 08 6390 4277 

https://www.facebook.com/meena.rice.based


You Might Also Like...