Café Kitchen & Home

Early BKK คาเฟ่ที่ออกแบบโดยเริ่มต้นจากคำว่า “ลด”


จากคนตัวเล็กๆ ที่สำนึกรักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนที่เขาอยู่ ทำให้คุณเค-เคฑิตา ชัยศักดิ์ศิริ และคุณกิ๊ฟ-กรัณฑารณ์ ธนะกวินวัจน์ จับมือเพื่อร่วมกันทำ Early BKK โดยตั้งใจให้เป็น Neighborhood Café ร้านกาแฟที่ไม่ได้มีดีแค่เมล็ดกาแฟไทย แต่ยังใส่ใจเรื่องของการแยกขยะ และอยากสื่อสารข้อความบางอย่างผ่านงานดีไซน์ และการออกแบบด้วยการนำงานรีไซเคิลมาเป็นวัสดุหลัก ทำให้ผู้คนเกิดการรับรู้และค่อยๆ ซึมซับกับแนวคิดแบบกรีนคอนเซ็ปต์

ลดก่อนเริ่ม

เราใช้เวลา 2 ปี จะทำอย่างไร เป็นรูปแบบไหน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องวัสดุ แต่รวมถึงเรื่องของอาหารที่เราเสิร์ฟในร้านด้วย ทุกเมนูจะต้องแชร์วัตถุดิบด้วยกันได้ ถ้ามีเมนูใหม่เราจะซื้อเพิ่มแค่อย่างเดียว ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นขยะ เพราะการคิดแบบนี้มันช่วยเซฟการทิ้งให้น้อยลง

ส่วนเรื่องของการดีไซน์เรามองก่อนว่าขยะในหมู่บ้านนี้อะไรที่จับต้องง่าย และอะไรที่ผ่านตาผ่านมือพวกเขาอยู่บ่อยๆ ซึ่งนั่นก็คือเครื่องดื่ม เลยยึดเอาเครื่องดื่มเป็นแกนหลักเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ขวดเครื่องดื่ม กล่องนม สิ่งนี้มันสอดคล้องกับชีวิตของคนเรา เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าไม่ได้ไกลตัวพวกเขาเกินไป เมื่อวานมันคือขยะ แต่วันนี้เรานำสิ่งนั้นกลับมาใช้อีกครั้งสำหรับการตกแต่งร้าน  

ลดคนให้น้อย ใช้เวลาให้สั้น

ด้วยความที่เราชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็กๆ พอทำงานเกี่ยวกับ Business Development ในด้านงานดีไซน์เริ่มมองเห็นถึงปัญหา อยากลองหาวัสดุทดแทน เพราะงานดีไซน์ที่ทำก็มีแต่วัสดุเดิมๆ เราจึงเริ่มจากการดีไซน์คอนเซ็ปต์เอง หาคนเขียนแบบให้ซึ่งได้ทาง Spacecraft มาช่วยดูแลโปรเจ็กต์นี้ เราคุยกับเขาชัดเจนว่ามีวัสดุอยู่แล้ว แค่ขึ้นแบบให้โดยเรามีทิศทางการออกแบบไว้ว่า ลดคนให้น้อย ใช้เวลาให้สั้น จะเห็นว่าโครงสร้างใช้เสาเหล็กบีม ออกแบบจากเหล็กบีมมาตรฐานโดยไม่เสียขยะเยอะ แต่อย่างไรการทำร้านใหม่ก็สร้างขยะอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้นำขยะกลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด แข็งแรงและยังดูสวยด้วย

ลดการใช้วัสดุแล้วใช้งานรีไซเคิลทดแทน

วัสดุหลักอีกอย่างที่เรานำมาคือขวดเบียร์ เริ่มจากฟาซาด (Façade) ที่นำมาเรียงในโครงสร้างเหล็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับด้านหน้าของคาเฟ่แล้วยังตอบโจทย์ในเรื่องของการลดความร้อนที่เข้าสู่พื้นที่ภายในคาเฟ่ และยังทำให้เกิดเอฟเฟกต์แสงและเงาสู่สเปซภายใน

รวมถึงการนำขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ขวดเบียร์มาทำให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อทำเป็นทอปเคาน์เตอร์ที่ให้อารมณ์เหมือนเทอร์ราซโซ (งานหินขัด) ซึ่งนี่ก็เป็นอีกวัสดุที่ช่วยเพิ่มลวดลายและเพิ่มมิติได้ด้วยการนำขวดแก้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรืออย่างโครงสร้างของทอปเคาน์เตอร์ที่ใช้เทคนิคการปั๊มขวดลงไปบนผนังคอนกรีต เพื่อทำให้เกิดแพตเทิร์นและเท็กซ์เจอร์ดูน่าสนใจ

Metal Deck ก็เป็นอีกวัสดุที่สวยเท่ในตัวมันเอง โดยเราไม่ต้องทำฝ้าเพิ่ม บวกกับเราอยากได้บรรยากาศภายในร้านที่ดูโปร่ง ซึ่งจุดนี้ก็สามารถลดการใช้วัสดุสำหรับการทำโครงสร้างได้ หรือแม้แต่กระเบื้องพื้นที่เลือกใช้เป็นแผ่นดินเผา มีคุณสมบัติที่สามารถเก็บความเย็นได้ เราก็นำไปปูพื้นบริเวณชั้นบนที่เป็นพื้นที่ Semi-Outdoor เพราะเราไม่ได้เปิดแอร์ตลอด เลยต้องการให้ภายในห้องสามารถเก็บความเย็นไว้ได้ ฉะนั้นพอเราปิดแอร์ห้องจึงไม่รู้สึกร้อนมาก

ลดการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่

เราออกแบบเฟอร์นิเจอร์เองโดยใช้ Enviro Board เศษกล่องนมที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ มาตัดแล้วอัดขึ้นเป็นแผ่นใหม่ ทำเป็นโต๊ะและผนัง รวมถึงจานรองแก้วที่ทำจากฝาขวดน้ำนำมาตัดแล้วอัดความร้อน หรืออย่างแกนทิชชูขนาดใหญ่ที่นำมาทำเป็นขาโต๊ะแล้วเพิ่มความแข็งแรงด้วยฐานเหล็ก  

 ลดขยะแล้วรับผิดชอบให้มากขึ้น

การบริหารจัดการภายในร้านของ Early BKK สะท้อนให้เห็นวิธีคิดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คำนึงตั้งแต่ก่อนสร้าง ออกแบบ เลือกวัสดุ บรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร ทุกอย่างอยู่ภายใต้ Green and Sustainable Concept รวมถึงการแยกขยะ เพื่อหวังลึกๆ ในใจว่า พวกเขาขอเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสื่อสาร และช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทุกคนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง อย่างน้อยๆ ก็เริ่มจากที่บ้านของตัวเอง เพียงเท่านี้ก็ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น

เครื่องดื่ม Salted Caramel Mac และ Yuzu Espresso
Avocado Toast และ Grilled Ham Cheese
Corn Ribs

ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการออกแบบแล้ว ในเรื่องของเครื่องดื่มและอาหาร ก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน อย่างกาแฟเลือกใช้เมล็ดกาแฟไทย รวมถึงการเลือกวัตถุดิบต้องไม่สิ้นเปลือง สามารถใช้ร่วมกันได้ในหลายๆ เมนู เพื่อลดการเกิดขยะให้น้อยที่สุด

Early BKK
รามคำแหง ซอย 110 กรุงเทพฯ
เปิดให้บริการ ทุกวัน 08.00-17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 08.30-16.00 น. (ปิดวันอังคาร)
โทร. 09 8962 2652


You Might Also Like...