เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นผลงานออกแบบมากมายของ Context Studio กันมาบ้างแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นผลงานการออกแบบของ คุณต้น-บดินทร์ พลางกูร ที่เกิดจากฝีมือของคนๆ เดียว ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบจนจบงาน อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจและทำอย่างไรให้งานแต่ละชิ้นนั้นมีความพิเศษในแบบของตัวเอง ตามไปคุยกับคุณต้นพร้อมกับเราดีกว่าค่ะ
“ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดภาพ แต่ไม่รู้ว่าถ้าเรียนมาทางด้านนี้จะไปทำอาชีพอะไรต่อได้ จึงตัดสินใจศึกษาด้านอินทีเรียดีไซน์ที่ประเทศอังกฤษ แล้วความชอบอย่างวาดภาพก็ทำเป็นงานอดิเรกแทน แต่ทุกวันนี้เวลาผมทำงานออกแบบทุกครั้งก็ยังสเก็ตแบบด้วยมือก่อน เขียนคอนเซ็ปต์งานทั้งหมดไว้ในสมุดสเก็ต” คุณต้นเริ่มต้นแนะนำตัวเองอย่างเป็นกันเอง
หลังจากเรียนจบกลับมาคุณต้นได้เริ่มต้นทำงานที่ B&B Boffi แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ครัวและห้องน้ำจากอิตาลี “ผมทำงานที่ B&B Boffi ได้ประมาณ 3 ปี ด้วยความที่เป็นโชว์รูมของสินค้าที่มีความชัดเจนของแบรนด์อยู่แล้ว ผมเลยไม่ค่อยได้ทำงานออกแบบที่จริงจังมากนัก ส่วนใหญ่จะช่วยเรื่องจัดสเปซให้กับบ้านลูกค้ามากกว่า แต่พอทำงานได้สักระยะหนึ่งเราก็อยากทำงานที่เป็นอินทีเรียเต็มตัว จึงคิดว่าอยากลองไปสมัครบริษัทที่ทำงานด้านนี้โดยตรง แต่เนื่องจากผมไม่มีผลงานเกี่ยวกับงานอินทีเรียอื่นนอกจากห้องครัว ซึ่งเขาอยากได้งานที่เป็นดีไซน์ของเรามากกว่า เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นต้องเริ่มทำ Port งานก่อน เป็นจุดเริ่มต้นให้เรารับทำงานออกแบบเพื่อจะได้มีผลงานไปสมัครงานในบริษัทได้”
สำหรับจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจของ Context Studio นั้น คุณต้นบอกกับเราว่า “ผมเริ่มต้นจากทำทุกอย่างคนเดียว เพราะตอนนั้นคิดเพียงว่าอยากมีผลงานเพื่อใช้ยื่นสมัครงาน แต่พอทำไปทำมาจึงเกิดเป็นบริษัท Context Studio เราต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทเพื่อความน่าเชื่อถือของลูกค้า แต่จริงๆ แล้วทั้งบริษัทมีผมทำงานเพียงคนเดียว ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน แม้ว่าการทำงานคนเดียวจะต้องมีความรับผิดชอบสูง แต่ผมมองว่าทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วจากความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
“การทำงานของผมเริ่มจากใช้บริบทต่างๆ มาสร้างคอนเซ็ปต์ให้กับงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โชว์รูม อาคารหรือบ้าน รวมไปถึงงานออกแบบอื่นๆ เช่น แบรนด์นั้นเป็นอย่างไร มีคาแรกเตอร์แบบไหน สภาพแวดล้อมโดยรอบของสถานที่ที่เราจะทำงาน ขนาดพื้นที่ ตลอดจนเรื่องของขั้นตอนการผลิตโปรดักต์ของเขา ทั้งหมดนี้จะทำให้เรามีไอเดียไปต่อยอดในการทำงานออกแบบต่อไป ซึ่งตัวผมเองไม่ได้หาข้อมูลแค่จากในอินเทอร์เน็ต ถ้าเป็นไปได้เราจะไปดูพื้นที่จริง ดูขั้นตอนการทำงานของเขาว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจ และบางครั้งเราก็ได้ไอเดียจากสิ่งเหล่านี้แหละครับ”
จริงๆ ผมไม่เคยวางการทำงานของตัวเองว่าอยากให้เป็นไปในสไตล์ไหนเลย แต่การออกแบบทุกครั้งสิ่งที่ผมให้ความสำคัญอย่างแรกคือความเป็นตัวตนของลูกค้า อย่างผลงานการออกแบบร้านตัดผมชลาชล สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต กับ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน ที่เซ็นทรัล เวสต์เกต คอนเซ็ปต์การออกแบบคือต้องมีความล้ำสมัย ดูโมเดิร์น เน้นโทนสีขาวและเส้นสายที่สะท้อนแบบไม่รู้จบเหมือนเป็นการพัฒนาที่ไม่มีสิ้นสุด แต่สาขาอีสต์วิลล์ ผมอยากออกแบบให้ต่างไปจากเดิม ซึ่งแบรนด์ชลาชลเองมีความชัดเจนของแบรนด์อยู่แล้ว จึงอยากออกแบบให้เข้ากับบริบทโดยรวมของเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ที่เน้นความเป็นธรรมชาติ คอนเซ็ปต์ของที่นี่มีแรงบันดาลใจมาจากรูปร่างของแกรนด์แคนยอน ผ่านกาลเวลาและการกัดเซาะของน้ำ ตีความหมายมาจากชลาชลที่แปลว่าสายน้ำนั่นเอง โดยเรายังคงไว้ซึ่งความเป็นโมเดิร์นแต่ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย”
“รายละเอียดอื่นๆ ที่ผมใส่ใจในการออกแบบ ด้วยความที่เราทำงานทั้งหมดคนเดียว เวลาได้คุยกับลูกค้าทำให้ได้เห็นความเป็นตัวตนของเขาจริงๆ จึงนำสิ่งเหล่านี้มาใส่ไว้ในงานออกแบบของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้าน Chant’s Café ที่ตกแต่งโดยเน้นโทนไทยๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนเป็นคาเฟ่สำหรับชุมชน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ การทำลายแผนที่ในส่วนของผนังร้านก็ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของลูกค้า เวลาที่เข้ามาแล้วดูว่าบ้านเราอยู่ตรงนี้ ร้านอยู่ตรงนี้ หรือแม้กระทั่งวัสดุที่เลือกใช้อย่างไม้ เหล็ก ทองเหลือง ที่ผมออกแบบและสั่งทำเฉพาะให้กับทางร้าน”
คุณต้นไปเวิร์กชอปทำทองเหลืองที่จังหวัดอุบลราชธานี
หรือจะเป็นรายละเอียดของร้านกางเกงยีนแบรนด์ของคนไทยอย่าง Indigoskin ที่คุณต้นนำรายละเอียดของกางเกงยีนมาสร้างเป็นคอนเซ็ปต์ให้กับร้าน แม้ว่าเนื้อผ้าของกางเกงยีนจะนำเข้ามาจากญี่ปุ่น แต่เมื่อซับข้างในของกางเกงนั้นออกแบบเป็นลายสระบัวของไทย กระดุมเป็นลายกนก ร้าน Indigoskin จึงมีความผสมผสานระหว่างความเป็นมินิมอลแบบญี่ปุ่น แต่แฝงไปด้วยลวดลายความเป็นไทยจากลายสระบัวที่แบรนด์เลือกใช้นั่นเอง ที่สำคัญคือคุณต้นได้ไปเวิร์กชอปการทำลวดลายจากทองเหลืองด้วยตัวเองที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เกิดไอเดียและวิธีการทำงานออกแบบชิ้นนี้ แม้กระทั่งการใส่เมล็ดกาแฟจริงๆ บนทอปเคาน์เตอร์ของร้านกาแฟ Hey สาขาโฮมโปร พระราม 9 ที่คุณต้นเป็นคนออกแบบ “ผมเป็นคนชอบทำงานคราฟต์อยู่แล้ว อย่างตอนเรียนที่อังกฤษเขาจะเน้นให้ทำเวิร์กชอปเป็นหลักทั้งงานไม้ งานเชื่อมเหล็ก งานปูน คือทำได้ทั้งหมด เวลาเราไปคุมงานช่างบางอย่างที่ช่างทำไม่ได้เราก็ต้องทำเอง”
House of Fritz Hansen ผลงานที่ได้รับเลือกให้เป็น Best Concept Store in The World
และสำหรับโชว์รูม House of Fritz Hansen แห่งนี้คุณต้นเล่าให้เราฟังถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบว่า “ตัวโครงสร้างบ้านเดิมมีความผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและยุโรป ก่อสร้างประมาณ พ.ศ. 2503 และแบรนด์ Fritz Hansen นี้จะเป็นสาขาแรกในประเทศไทย จึงอยากให้มีกลิ่นอายความเป็นเราอยู่ในโชว์รูมด้วย และยังให้ความรู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์ของเขาก็เข้ากับบ้านไทยได้
อย่างแรกที่ทำเลยคือรื้อฝ้าออกทั้งหมดเพื่อโชว์ให้เห็นโครงสร้างเพดาน ทุบผนังห้องให้เชื่อมถึงกัน ส่วนของทางเข้าทำเป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัดและลดทอนความเป็นบ้านให้ดูเป็นโชว์รูมมากขึ้น ส่วนหน้าต่าง ประตูคงเดิมไว้ และทำให้ลายขอบบัวชัดขึ้น และจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้เหมือนเป็นมุมต่างๆ ของบ้าน อยากให้คนที่เข้ามารู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เหล่านี้สามารถเข้ากับบ้านเขาได้จริงๆ ทำให้ที่นี่ได้รับเลือกให้เป็น Best Concept Store In The World และยังเป็นไอเดียสำหรับสาขาต่อไปอย่างในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการนำบ้านเก่าดั้งเดิมมารีโนเวตเป็นโชว์รูม House of Fritz Hansen ของประเทศนั้นๆ อีกด้วยครับ”
สามารถติดตามผลงานของคุณต้นเพิ่มเติมได้ที่ Facebook/ contextinterior