เดิมบ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ของหมอมี นายบุญมี เกษมสุวรรณ หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อหมอมี ข้าราชการตำแหน่งประจำห้องปรุงยา ณ กองโอสถศาลา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องของยาสมุนไพรไทยและยาฝรั่ง หลังจากหมอมีออกจากราชการก็หันมาทำธุรกิจด้วยการเปิดร้านขายยาเป็นของตัวเองในชื่อ บริษัท หมอมี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนโบราณ จากนั้นก็รีโนเวตปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารบ้านหมอมี และหยุดกิจการไป จากนั้นก็มีคนมาเช่าต่อจนกระทั่งบ้านหลังนี้ได้ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งโดยได้เชฟแอน-อังคณา เอี่ยมสอาด เข้ามาทำร้านอาหารไทยในชื่อ บ้านดาหลา บาย อังคณา
ร้านอาหารไทยกลางเมือง
จริงๆ ที่นี่เป็นโปรเจ็กต์ที่ชาวต่างชาติอยากเปิดร้านอาหารไทยในกรุงเทพฯ ซึ่งเขาชอบเมนูที่เราทำ ตอนนั้นแอนมีโอกาสได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มหนึ่งชื่อ “Potioneer” เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเชฟ ซึ่งเปิดโอกาสให้เชฟได้แสดงฝีไม้ลายมือแบบออกนอกกรอบ เพราะไม่ถูกจำกัดด้วยคอนเซ็ปต์ของตัวร้าน โดยเราได้เข้าไปจอยไปครีเอตเมนูของเราว่ามีเมนูอะไรบ้าง แล้วมีนักลงทุนคนนี้เขาสนใจก็ได้คุยกัน เขาอยากเปิดร้านอาหารไทยที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยากได้บ้านไทยที่อยู่ใจกลางเมือง มีที่จอดรถ
พอเราได้โจทย์ปุ๊บคิดเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะยากมากที่จะหาบ้านไทยใจกลางเมืองแล้วมีที่จอดรถ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้นะคะ เซอร์เวย์หาสถานที่อยู่พักหนึ่งจนมีรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่ามีบ้านตรงนี้เขาเพิ่งปล่อยเช่า อยากมาดูไหม พอมาเห็นแล้วปรากฏว่าบ้านหลังนี้คือสิ่งที่เราคิดไว้
บ้านหลังนี้ถูกรีโนเวตทำเป็นฟังก์ชันร้านอาหารเอาไว้เรียบร้อย เพราะครอบครัวของหมอมีเขาเปลี่ยนจากบ้านมาเป็นร้านอาหารอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ฉะนั้นตัวบ้านจึงค่อนข้างมีความสมบูรณ์ แต่เมื่อเราเข้ามาทำได้ในแง่ของการตกแต่งเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเจ้าของบ้านไม่อยากให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของบ้าน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีมูลค่า
บ้านไทยที่มีลูกเล่น
เมื่อเราได้บ้านในฝันอย่างที่ตรงกับภาพในจินตนาการแล้วก็เอาคอนเซ็ปต์ที่คิดกันไว้มาทำให้เป็นบ้านไทยที่มีลูกเล่น เนื่องจากเราต้องการความคอนทราสต์ ภายนอกเป็นบ้านไทยที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรเนสซองส์ แต่บรรยากาศด้านในมีกลิ่นอายความเป็นใต้ๆ เพราะพื้นเพของเราเกิดที่เกาะพงัน จึงมีความผูกพันกับอาหารใต้มาตั้งแต่เด็ก จึงอยากนำรสชาติอาหารใต้แบบดั้งเดิมมาสู่เมืองกรุงฯ เหมือน East Meets West ผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก
ในส่วนของการคัดเลือกเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นสั่งทำจากโรงงาน เพื่อให้มีเอกลักษณ์ ทุกชิ้นสั่งทำหมด แต่มีบางอย่างที่มีการปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ รวมถึงงานประติมากรรม งานศิลปะ ซึ่งเขาชื่นชอบงานอาร์ต ชอบการตกแต่ง แล้วเมื่อนำมาผสมผสานกับบ้านไทยหลังนี้ก็ยิ่งสวยงามลงตัว ทุกอย่างเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่กำหนดเอาไว้ โดยเรามีทีมทำทั้งหมดตั้งแต่แบรนดิง คนออกแบบ ซึ่งในส่วนนี้เป็นฝั่งของนักลงทุนที่เขาอยากได้ เขาตั้งโจทย์ว่าต้องการร้านอาหารที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไว้สำหรับรองรับแขกบ้านแขกเมือง โดยเราทำหน้าที่สร้างสรรค์เมนูอาหาร วางคอนเซ็ปต์ว่าอยากให้ที่นี่เป็นที่พักผ่อนในเมือง อยากให้ต่างชาติและคนเมืองได้เข้ามารู้จักอาหารไทยมากขึ้น ไม่ใช่รู้จักแค่เมนูต้มยำกุ้ง ผัดไทย เลยมีคอนเซ็ปต์ในการสร้างสรรค์อาหารเป็นแนวพื้นบ้านที่ให้คนเมืองรวมถึงต่างชาติกินได้ง่ายๆ แต่ยังคงแนวคิดในการทำอาหารแบบเชฟแอน
สเปซภายใน
เมื่อเข้ามาสู่ด้านในร้าน เรามีสเปซเอาต์ดอร์ เอาไว้นั่งด้านนอกใต้ต้นไม้ให้รู้สึกผ่อนคลายสบายๆ ในช่วงฤดูที่ไม่ร้อนมาก อยากให้นั่งด้านนอก จิบชา กินขนม ซึ่งด้านล่างแอนเรียกว่า ดาหลาคาเฟ่ พื้นที่ก็จะมีทั้งอินดอร์และเอาต์ดอร์ เดินเข้ามาก็จะเจอกับห้องเบเกอรี่ที่เราตั้งใจอยากสื่อสารกับลูกค้า ให้เขาเห็นว่าขนมของที่นี่เราทำเองทุกอย่าง
ด้านล่างมีห้องไดนิงรูมสำหรับคนที่ไม่สะดวกขึ้นบันได อย่างกลุ่มผู้สูงวัย เรามีทางขึ้นสำหรับผู้สูงวัยและคนพิการโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย พอขึ้นมาจะเห็นว่าบ้านถูกแบ่งออกเป็นสองปีกซ้ายกับขวา ฝั่งแรกที่เราอยู่เป็นห้องไพรเวตที่สามารถจัดเลี้ยงและต้องการความเป็นส่วนตัวก็สามารถใช้บริการได้ มีทั้งหมด 4 ห้อง ซึ่งอีกปีกหนึ่งเป็นห้องไดนิงรูมใหญ่ เราตั้งชื่อว่าห้องดาหลา สำหรับลูกค้าวอล์กอินก็จะเป็นอีกโซนที่มองเห็นต้นไม้ ลักษณะเหมือนกลาสเฮาส์ที่นั่งกินอาหารได้สบายๆ
อาหารใต้ที่โชว์จุดเด่นของเชฟแอน
เราอยากนำเสนอพื้นที่บ้านเกิดเรา ซึ่งไม่ได้ดังแค่ฟูลมูนปาร์ตี้ มีอาหาร มีวัตถุดิบที่ดีอย่างมะพร้าว ซึ่งเราก็ใช้ของเกาะพงัน เป็นมะพร้าวที่ได้จีไอ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ว่าอุดมสมบูรณ์ มะพร้าวของที่นี่ไม่เหมือนกับที่อื่นตรงที่มีความมัน ความหวาน ความเข้มข้น ส่วนใหญ่เราเอาน้ำกะทิมาทำขนม ส่วนแกงเราอนุญาตให้ใช้จากที่อื่นได้ เพราะว่าเราเด่นที่พริกแกงเป็นสูตรที่ทำเอง หากต้องการกินอาหารใต้แบบออริจินอลก็มีร้านอาหารใต้หลายร้านที่เขานำเสนอ แต่สำหรับที่นี่อยากนำเสนอในรูปแบบที่เป็นเราให้รู้สึกเพลินตาเพลินใจ สัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ครบทุกประสาทสัมผัส และได้อยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปที่มีอายุกว่า 120 ปีแห่งนี้
เริ่มกันที่เซ็ตน้ำพริกโจรสลัด หรือก็คือน้ำพริกขยำ คนใต้เรียกน้ำพริกโจร มีความเป็นมาคือ โจรขึ้นบ้านแล้วหิวข้าวแล้วก็ต้องทำน้ำพริกกะปิแบบเร็วๆ หั่นๆ แล้วใส่กะปิ น้ำตาล มะนาวคลุกๆ แล้วกินเลย ซึ่งทางร้านปรับชื่อเป็นโจรสลัด เพราะมาจากทางใต้ เพิ่มโปรตีนด้วยเนื้อกุ้งลวก กินกับผักสด ปลาดุกฟู ไข่ต้ม
ขนมจีนน้ำยาเกาะพงัน นำเสนอเหมือนอาหารจานเดียว โดยทำให้ตัวน้ำยาข้นและเคลือบเส้น มาพร้อมกับผักที่เสิร์ฟอยู่ภายในจาน นอกจากนี้ยังมีเบือทอด ผักดองที่เป็นซิกเนเจอร์ของเกาะพงัน รสชาติอร่อยเข้มข้น
ปลาหมึกผัดหมึก นำน้ำหมึกมาผัดให้เข้ากับตัวหมึก ซึ่งทางร้านใช้เป็นหมึกกล้วย เนื่องจากเนื้อไม่หนาเกินไป ขนาดกำลังพอเคี้ยว กินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยเหาะ
สะตอผัดกุ้ง เป็นสะตอจากทางภาคใต้ ตัวซอสผัดเป็นซอสสูตรพิเศษแตกต่างจากร้านอื่นๆ รสชาติเข้มข้นเผ็ดกำลังดี
แกงเหลือง แกงที่ใช้ยอดมะพร้าวอ่อน ซึ่งเป็นส่วนบนสุดเพื่อให้ได้รสชาติที่หวาน กรอบ ส่วนเนื้อปลาเลือกใช้เป็นปลากะพงตัดเหมือนสเต็กปลา กินแบบเต็มปากเต็มคำ ส่วนน้ำแกงมีความเข้มข้นแต่ไม่เผ็ดจนเกินไป
พะโล้แห้ง มาจากเมนูที่เชฟแอนชอบกินพะโล้ นำมาออกแบบด้วยการทำเป็นน้ำพะโล้แบบขลุกขลิกและเข้มข้น เนื้อหมูสามชั้นมีความนุ่มละลายในปาก ไข่ยางมะตูม
ขนมโค ขนมประจำภาคใต้ด้านนอกเป็นแป้งข้าวเหนียวด้านในเป็นน้ำตาลมะพร้าว ด้านในทำเป็นไส้กระฉีก เอาน้ำตาลมะพร้าวไปผัดกับมะพร้าวทึนทึก นำมาปั้นใส่ในน้ำกะทิ ปรุงรสชาติให้หวานคล้ายกับบัวลอย เหมือนกินบัวลอยแต่ข้างในเป็นขนมโคโรยด้วยงาคั่ว
ขนมมะกรูดเชื่อม สร้างสรรค์โดยเชฟแอน เนื่องจากทางร้านใช้ผิวมะกรูดในการทำอาหารคาว จึงนำเนื้อด้านในไปเชื่อมให้เป็นของหวาน กินแล้วสดชื่นมากๆ
ร้านอาหาร ‘บ้านดาหลา บาย อังคณา’
ซอยเกษมสันต์ 3 (ใกล้ BTS สยามกีฬาแห่งชาติ) แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00-22.00 น.
โทร. 098 997 9782