รองเท้าคือหนึ่งในสินค้าแฟชั่นที่สร้างขยะตกค้างในระบบการจัดการมากที่สุด ปลายทางของรองเท้าส่วนมากคือการฝังกลบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถจัดการขยะเหล่านั้นได้ในหนึ่งชั่วอายุคน
การค้นคว้าและออกแบบ Biofabricate เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ในการออกแบบสินค้าแฟชั่นอย่างยอมรับผลเสียที่เกิดจากการผลิตสินค้าแฟชั่น และสร้างกลไกในการจัดการสินค้าด้วยตัวเอง นี่คือความร่วมมือระหว่าง Vivobarefoot แบรนด์รองเท้าจากมหานครลอนดอน กับ Balena สำนักงานออกแบบวัสดุทางเลือกเพื่อการออกแบบและผลิตรองเท้าสัญชาติอิสราเอล ที่คิดค้น BioCir วัสดุขึ้นรูปพื้นรองเท้าชนิดใหม่ที่สามารถสลายตัวได้ด้วยการเสื่อมสภาพจากภายในโครงสร้างทางชีวเคมีที่อ่อนไหวต่อความชื้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปทรงและสลายตัวได้เอง ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ European Green Award 2023
VivoBiome ซีรีส์รองเท้าที่ผลิตด้วยนวัตกรรมเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่ง Vivobarefoot และ Balena ไม่เพียงแต่ออกแบบวัสดุและรองเท้า แต่ยังปฏิวัติการขายรองเท้าใหม่ทั้งระบบ ภายใต้แนวคิด scan-to-print-to-soil หรือการผลิตรองเท้าแบบวัดตัวตัดในระบบดิจิทัล เพื่อพิมพ์รองเท้าออกมาตามขนาดของผู้บริโภค และเมื่อเสื่อมสภาพ รองเท้าคู่นั้นก็จะไม่เหลือแม้เพียงรอยเท้าบนพื้นดินที่ย่ำผ่าน แต่ยังไร้ Carbon Footprint อีกด้วย
VivoBiome รุ่นแรกที่เปิดตัวไปเมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา ใช้วัสดุที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะในชื่อ BioCirflex ซึ่งผ่านมาตรฐาน ASTM-D6400-04 หรือการประเมินแล้วว่าเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบดินในระดับดีเยี่ยม คือเกิดการปล่อยก๊าซมีเทนในระหว่างกระบวนการย่อยสลายที่ต่ำ และผลพลอยได้จากการย่อยสลายเป็นวัสดุที่ใกล้เคียงกับดิน และมีปฏิกิริยาการย่อยสลายไปในเชิงบวกกับระบบนิเวศ
แม้ราคาเปิดตัวของ VivoBiome จะสูงถึง 260 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือเกือบ 12,000 บาทในรูปแบบเริ่มต้น ซึ่งจะเพิ่มราคาไปอีกตามตัวเลือกเพิ่มเติม แต่ Ashley Clark ผู้ร่วมก่อตั้ง Vivobarefoot เชื่อว่า Vivobarefoot จะส่งข้อความถึงผู้บริโภคได้ว่า รองเท้าที่ถูกผลิตตามห่วงโซ่อุปทานแต่ขาดการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและเคลื่อนที่ไปตามกระแสแฟชั่นด่วนนั้น สร้างผลกระทบเป็นทอดๆ ที่น่าตกใจเพียงใด
ภาพ : Vivobarefoot, UK และ Balena, IL