Lifestyle & Cooking News & Event

สวพส. ลงนาม MOU ร่วมกับบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด (กาแฟชาวไทยภูเขา)


สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. นำโดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ นางสาวนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด (กาแฟชาวไทยภูเขา) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding :MOU) เพื่อการพัฒนากาแฟและพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูงแบบยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการยกระดับการผลิต การตลาด การเพิ่มมูลค่า และการสร้างคุณค่าของกาแฟและพืชท้องถิ่น ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรภายใต้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มู่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) และการดูแลทรัพยากรบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมการรับรองพืชจากแหล่งปลูก ผลิตภัณฑ์ชุมชน และผู้ประกอบการ และภายใต้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Forest stamp – ไม่เผา ไม่บุกรุกป่า สร้างระบบวนเกษตร ผลิตภัณฑ์ของคนดี)

 นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า  การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายร่วมมือด้านการส่งเสริมความรู้และการพัฒนาระบบการปลูกและผลิตกาแฟอะราบิก้าด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรภายใต้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนของการแลกเปลี่ยนข้อมูล บุคลากร และทรัพยากร ความร่วมมือด้านการยกระดับการผลิต และการเพิ่มมูลค่าของพืชท้องถิ่น เพื่อให้ได้กาแฟอะราบิก้าคุณภาพดี  สวพส. จะทำหน้าที่ในการสนับสนุน และประสานงานในการรับรองมาตรฐาน GAP อินทรีย์ และอื่น ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น สนับสนุนและพัฒนาสถาบันเกษตรกรในการผลิตกาแฟและพืชท้องถิ่น ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรภายใต้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral)

ทั้งนี้ จะเกิดเป็นโมเดลทดสอบการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของกาแฟอาราบิกาและพืชท้องถิ่นสู่ตลาดด้วยคุณค่าจากภายในพื้นที่ชุมชนและสังคมยอมรับ จากชุมชนเกษตรกรต้นน้ำที่ดูแลนิเวศน์สิ่งแวดล้อม ไปยังระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการแปรรูปใช้ทรัพยากรการเกษตรอย่างรู้ค่าสูงสุด จนไปถึงผู้บริโภคที่ได้ตะหนักรับรู้สนับสนุนสินค้าคุณภาพสู่ความยั่งยืน การทำงานสองฝ่ายมีแผนปฏิบัติงานรายพื้นที่อย่างจริงจังร่วมกัน ภาครัฐเข้าช่วยแก้ปัญหาตามความต้องการเฉพาะของพื้นที่ จะมีการทบทวนแผนงาน ปรับปรุง เรียนรู้ไปด้วยกัน หากโมเดลนี้เกิดผลตามที่มุ่งหวัง จะเกิดเป็นความได้เปรียบใหม่ด้านการแข่งขันของภาคเกษตรไทยและจะสามารถขยายขอบเขตไปยังภาคเอกชนอื่นที่สนใจ  หน่วยงานนโยบายภาครัฐ ตลอดจนภาคการศึกษา ในการต่อยอดและเชื่อมโยงความร่วมมือได้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป


You Might Also Like...