จากวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ของประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ นำไปสู่การจัดตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ (CPF RD CENTER) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาอาหารที่มีรสชาติอร่อย ถูกหลักโภชนาการ ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอาหาร ส่งเสริมคู่ค้าและพันธมิตร ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในสังคม
“ภารกิจของเรา คือ การทุ่มเท เพื่อสร้างสรรค์สินค้าคุณภาพ ปลอดภัย รสชาติอร่อย ดีต่อสุขภาพ และมุ่งมั่นเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ นำนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นอยู่เสมอ”
นลินี โรบินสัน
ผู้บริหารสูงสุด ด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ
“เส้นทางอาหารรสชาติอร่อยระดับโลก”
ศูนย์วิจัยฯ รวบรวมผู้เชี่ยวชาญมากมายหลายแขนง กว่า 400 คน พร้อมเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัย รองรับการวิจัยอาหารแบบครบวงจร ผสานความรู้หลากหลายศาสตร์ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์การอาหาร โภชนศาสตร์ ไบโอเทคโนโลยี ชีวเคมี วัสดุศาสตร์บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงวิศวกรรมอาหาร เพื่อวิจัยเชิงลึก ศึกษาทั้งวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตตามมาตรฐานระดับสากล ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า
ขั้นตอนแรก กระบวนการสร้างสรรค์ ทีม R&D ผนึกกำลังกับทีมการตลาดและการขาย เพื่อศึกษาแนวโน้มตลาด สร้างแนวคิดสินค้าที่โดนใจผู้บริโภคที่สุด ขั้นตอนที่สอง การกำหนดสูตร ทีมเชฟกับนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยร่วมกันออกแบบวัตถุดิบ ส่วนผสมเครื่องปรุง และเทคโนโลยีการผลิต นำไปจำลองในห้องแลปและครัวทดลอง รวมถึงศึกษาบรรจุภัณฑ์อาหาร เน้นเรื่องความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนที่สาม การทำสินค้าต้นแบบ เพื่อให้นักชิมมืออาชีพทดสอบสูตรด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สี กลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัสของอาหาร ประเมินความชอบของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ควบคู่กับงานด้านการวิเคราะห์ทางเคมี เพื่อนำไปพัฒนาสูตรอาหารต่อ
‘โรงงานต้นแบบ’
เมื่อได้สูตรต้นแบบที่ดีที่สุด เราจะขยายระดับการผลิต โดยทดสอบในโรงงานต้นแบบ(Pilot Plant) ที่จะจำลองทุกขั้นตอนการผลิตจากโรงงานใหญ่ เพื่อให้มั่นใจว่า “เมื่อส่งต่อไปสู่สายการผลิต ความอร่อยจะไม่ลดลง” จนกลายเป็นสินค้าสด พร้อมปรุง พร้อมทานมากมาย วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ต่างๆ กว่า 37,000 SKUs ส่งออกไปกว่า 40 ประเทศ ให้ผู้คน 4,000 ล้านคน ได้อิ่มท้อง
‘นวัตกรรม’ ตอบโจทย์ความยั่งยืน
ศูนย์วิจัยฯ ริเริ่มนำเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร เช่น การใช้พลังงานคลื่นไมโครเวฟมาใช้ฆ่าเชื้อโรค ถนอมอาหาร จาก 1 สัปดาห์ กลายเป็น 1 เดือน เพื่อลดปัญหาขยะจากอาหาร (FOOD WASTE) และพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน สามารถนำกลับมารีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเติบโตของประชากรโลกและทรัพยากรที่มีจำกัด
‘โปรตีนทางเลือก’
นอกจากนี้ ยังวิจัยและผลิตนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต โปรตีนทางเลือก อย่าง เนื้อจากพืช ศึกษาลักษณะโปรตีนจากพืชแต่ละชนิด ลงลึกถึงโครงสร้าง ด้วยนวัตกรรม Plant-Tec ก่อนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ลักษณะ กลิ่น เนื้อสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการ รสชาติที่อร่อยเหมือนเนื้อสัตว์จริง ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก รางวัล Superior Taste Award จาก International Taste Institute ประเทศเบลเยียม
‘อาหารเสริม-โพรไบโอติกส์-อาหารทางการแพทย์’
ศูนย์วิจัยฯ มุ่งส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภคแบบบูรณาการ ผ่านการพัฒนาอาหารที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ ลดเค็ม ลดหวาน รวมถึงพัฒนาอาหารเสริม อย่าง โพรไบโอติกส์ (Probiotic) ที่ค้นคว้าวิจัยสายพันธุ์จุลินทรีย์ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ระบบขับถ่าย และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จนคว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศมากมาย หรือแม้แต่อาหารทางการแพทย์ นูทริแมกซ์ (Nutrimax) ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เติมพลังให้ผู้ป่วยระยะพักฟื้น ต่อสู้โรคภัยจนกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง