Lifestyle & Cooking News & Event

CPF นำเทคโนโลยีหนุนประสิทธิภาพการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน – มุ่งเน้นใช้น้ำอย่างรับผิดชอบ


บริษัท  เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  มุ่งเน้นบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล  และใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตด้วยความรับผิดชอบ  ลดการสูญเสียน้ำ  และลดพึ่งพาการใช้น้ำจากแหล่งน้ำภายนอก  ยึดหลัก  3Rs   คือ ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำกลับมาใช้ใหม่  (Recycle) และนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)  โชว์ผลสำเร็จลงทุนเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการน้ำ  ทำให้ ปี  2565  สามารถเพิ่มปริมาณการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่และนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ  สนับสนุนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน                              

นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด  สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์   เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตอย่างรับผิดชอบ  โดยได้กำหนดนโยบายบริหารจัดการน้ำมุ่งเน้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ทั้งการใช้น้ำภายในองค์กรและลดการพึ่งพาแหล่งน้ำภายนอก  ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)และหลัก 3 Rs  คือ ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านการบำบัด  (Recycle) และนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด (Reuse)  ทำให้ผลการดำเนินงาน ปี 2565 ในกิจการประเทศไทย  เวียดนาม  กัมพูชา  อินเดีย ฟิลิปปินส์ ตุรเคีย มาเลเซีย และลาว  สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่และนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำปริมาณรวม  55 ล้านลูกบาศก์เมตร  เป็นผลจากการลงทุนในเทคโนโลยี  เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน                                    

ซีพีเอฟ พัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการจัดการน้ำในองค์กร ทั้งในธุรกิจสัตว์บก  และธุรกิจสัตว์น้ำ โดยนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์โดยตรงในกิจกรรมต่างๆ  ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น  รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนน ส่วนกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling Process) จะนำระบบกรองความละเอียดสูงแบบอัลตราฟิเตรชั่น (Ultrafitration : UF) และระบบกรองน้ำขั้นสูงแบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis : RO) มาใช้ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจนได้น้ำสะอาด คุณภาพตามมาตรฐานการประปา หมุนเวียนกลับมาใช้ในระบบสนับสนุนการผลิต (Utility System) ที่ไม่สัมผัสโดยตรงกับอาหาร เช่น  ระบบระบายความร้อนของระบบทำความเย็น ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์                    

นางกอบบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สายธุรกิจต่างๆของซีพีเอฟ ยังได้พัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินโครงการลดการใช้น้ำในฟาร์และการใช้น้ำจากภายนอก  อาทิ  ธุรกิจสุกร  ดำเนินโครงการบริหารน้ำบำบัดจากไบโอแก๊สสู่กรีนฟาร์ม สามารถใช้น้ำบำบัดจากไบโอแก๊สทดแทนการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้กว่า 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  และดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ย  โดยส่งมอบน้ำปุ๋ยให้แก่เกษตรกรที่ขอรับน้ำจากการบำบัดจากฟาร์มสุกร ซึ่งมีธาตุอาหารของพืชไปใช้แทนปุ๋ยเคมี  ธุรกิจไก่ไข่ ลดการใช้น้ำในระบบไบโอแก๊สและนำน้ำทิ้งที่เกิดขึ้นจากระบบไบโอแก๊สในบ่อรับน้ำ  หมุนเวียนกลับมาใช้ผสมมูลไก่ก่อนเข้าบ่อ Cover Lagoon   ธุรกิจไก่เนื้อ  ทำโครงการเปลี่ยนเครื่องล้างอุปกรณ์ภายในโรงฟัก เพื่อลดการใช้น้ำจากเครื่องล้าง ถาดไข่ฟัก ถาดเกิด   กล่องลูกไก่ ภายในโรงฟัก เป็นต้น                  

นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจในการจัดการความเสี่ยงเพื่อส่งเสริมความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายภายในปี 2573  คู่ค้าธุรกิจที่ได้รับการระบุว่ามีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำในระดับสูง ให้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกันนี้  ซีพีเอฟคำนึงถึงชุมชนรอบข้างโดยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีคุณภาพ สร้างความตระหนักให้พนักงานรู้ในคุณค่าและ มีส่วนร่วมในการดูแลการใช้น้ำภายในองค์กร ตลอดจนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า ซึ่งเป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำธรรมชาติที่นำมาใช้ในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การดำเนินธุรกิจ   การอุปโภคบริโภค   สร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

“ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร  ต้องพึ่งพิงทรัพยากรน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมในการดำเนินธุรกิจ อาทิ  ใช้น้ำในการเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ การผลิตไอน้ำในระบบอุตสาหกรรม (Steam Boiler) การหล่อเย็น  การเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ในกิจกรรมต้นน้ำ การเลี้ยงสัตว์ของคู่ค้าธุรกิจ  การส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งน้ำ  การจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนรอบข้าง บริษัท ฯจึงให้ความสำคัญกับการจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDGs ข้อ 6 การสร้างหลักประกันเรื่องน้ำให้มีการจัดการอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ ” นางกอบบุญ กล่าว


You Might Also Like...