บ้านหลังเล็กสีขาวอยู่ท่ามกลางสนามหญ้าสีเขียวและไม้ยืนต้นหลากหลายชนิดที่เป็นเหมือนฉากหลังในภาพวาดบนผืนผ้าใบ ลมพัดมาเอื่อยๆ ปะทะกับผิวน้ำเกิดระลอกคลื่นเล็กๆ ปรากฏอยู่ในบึง ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความสบาย ผ่อนคลาย และรู้สึกอบอุ่นในคราวเดียว
เราจึงขอเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านดนตรีริมน้ำ” บ้านที่ถูกสร้างขึ้นใหม่แทนศาลาพักผ่อนของครอบครัวมณีรัตนะพร จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเด็กๆ เรียนดนตรี (เปียโน พิณจีน) เรียนภาษา (จีน) รวมถึงเป็นที่รับรองให้ผู้ปกครองมีมุมหย่อนใจระหว่างรอ
ภาพศาลาริมน้ำอายุกว่า 20 ปี
นี่เป็นภาพบ้านหลังจากได้รับการปรับปรุงแล้ว
คุณโบว์-พิชญา มณีรัตนะพร ทำหน้าที่ออกแบบบ้านดนตรีริมน้ำหลังนี้ให้กับพี่สาว คุณดาว-สุมนตา มณีรัตนะพร หรือที่นักเรียนเรียกกันว่าครูดาว ซึ่งสอนประจำอยู่ที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่า เซ็นทรัล บางนา คุณโบว์บอกว่า “บ้านนี้เกิดขึ้นจากช่วงโควิดระบาดซึ่งพี่สาวต้องสอนออนไลน์มากขึ้น มีนักเรียนมาเรียนที่บ้าน ในช่วงแรกมีพื้นที่ที่สามารถรองรับได้ แต่พอคุณพ่อเกษียณพื้นที่เริ่มไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจทำพื้นที่แยกออกมาเพื่อให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น เราใช้ศาลาเก่าอายุประมาณ 20 ปีที่ไม่ได้ใช้งานมาเปลี่ยนให้เป็นบ้านหลังนี้แทน ส่วนแนวคิดในการออกแบบคือต้องการความอบอุ่น ผ่อนคลาย นำสิ่งที่ชอบมารวมอยู่ในนี้ทั้งหมด”
ด้านคอนเซ็ปต์คุณโบว์บอกเพิ่มเติมว่า “อยากให้อารมณ์เกิดกับนักเรียนที่มาเรียน เข้ามาบ้านหลังนี้แล้วรู้สึกผ่อนคลาย สภาพแวดล้อมช่วยส่งเสริมการเรียน ทำให้มีสมาธิมากขึ้น เพราะต่างจากเรียนในบ้านที่ค่อนข้างมืด พอมาอยู่ตรงนี้เราอยากให้ได้แสงธรรมชาติ จึงลองสำรวจพื้นที่ดูว่าจะสร้างไว้ตรงไหนของบ้านได้ สุดท้ายตัดสินใจว่าริมน้ำน่าจะเหมาะกับทำเป็นสถานที่เรียนมากที่สุด
“แต่ความยากในการสร้างตรงริมน้ำก็มี เพราะเราต้องลงเสาเข็ม ตอนแรกแพลนไว้ว่าเป็นบ้านน็อกดาวน์แบบง่ายๆ แต่พอกำหนดตำแหน่งพื้นที่ตรงนี้ก็มีเงื่อนไขว่าหากทำบ้านน็อกดาวน์ต้องสร้างให้ห่างออกมาอีก 6 เมตร ซึ่งโบว์มองว่ากินพื้นที่สนามหญ้าไปเยอะมาก ถ้าสร้างจริงแล้วสเปซไม่สวยแน่นอน ริมน้ำน่าจะเหมาะสมที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องลงเข็มไมโครไพล์จริงจัง เผื่อในอนาคตเราอยากต่อชั้นสองก็สามารถทำได้”
ก่อนจะกลายเป็นบ้านดนตรีริมน้ำ ที่ตรงนี้เคยเป็นศาลาที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน สภาพค่อนข้างเสื่อมโทรมไปตามเวลา ทัศนียภาพโดยรอบได้รับการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น “เราย้ายศาลาไปไว้หลังบ้าน ส่วนสวนเราให้นักจัดสวนมาช่วยดีไซน์ โบว์โอเพ่นให้คนออกแบบสวน ให้โจทย์เพิ่มไปนิดหน่อยตามที่โกว (คุณสุดา มณีรัตนะพร) อยากให้มีสวนครัวด้วย คอนเซ็ปต์จึงออกมาเป็นสวนในคาเฟ่บวกกับสวนครัว มีไม้ดอกไม้ประดับเข้ามาเพิ่มสีสัน ก็ถือเป็นการรีโนเวตสวนไปในตัว รื้อทิ้งบ้างแล้วแต่งบางส่วนเพิ่มไปบ้าง”
คุณสุดาอธิบายเกี่ยวกับสวนเพิ่มเติมว่า “สวนครัวเราเลือกผักมาปลูกเอง เน้นเป็นผักประเภทสมุนไพรดีต่อสุขภาพ อย่างโหระพา แมงลัก กะเพรา ต้นหอม ผักชี ผักชีฝรั่ง มะนาว พริก โรสแมรี่ ผักชีลาว ชมพู่ ชะอม มะกรูด มะพร้าว กล้วย แล้วเคลียร์พื้นที่เปิดทางให้สวยด้วยการโรยหิน”
นอกจากให้ความสำคัญกับเรื่องสวนรอบๆ บ้านแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ทำให้บ้านดนตรีหลังนี้ดูโดดเด่นและน่าสนใจก็คือการยกสเตปพื้นขึ้นสูงจากระดับพื้นปกติ รวมถึงเพิ่มพื้นที่ให้มีระเบียงอยู่ด้านหลัง สามารถเดินเล่นชมวิวริมน้ำสัมผัสบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ หรือแม้แต่กลิ่นอายภายในบ้านที่ให้ความรู้สึกแบบเอเชียน โดยคุณโบว์ดึงมาเป็นลูกเล่นเนื่องจากเห็นว่าพี่สาวสอนภาษาจีนและพิณจีน
“ภายในโบว์มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 25 ตารางเมตร สร้างบรรยากาศให้เป็นบ้านสีขาวกับงานไม้ ผสมความเป็นเอเชียนเข้าไปนิดหนึ่ง ส่วนฟังก์ชันออกแบบให้รองรับกับการสอนทั้งหมด 3 วิชา มีทั้งโต๊ะสอนหนังสือ มีพื้นที่ให้วางกู่เจิงได้ 2-3 ตัว มีเปียโน มีพื้นที่พักผ่อนและมินิบาร์สำหรับผู้ปกครอง มีมุมสอนหนังสือ เรียกว่ารองรับทุกฟังก์ชันการใช้งาน โดยผู้ปกครองสามารถนั่งพักผ่อนขณะเดียวกันก็ดูลูกเรียนไปได้ด้วย
“ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่งก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ของที่บ้าน เน้นเก็บของเยอะหน่อย หรือตู้มินิบาร์ที่นำมาวางเป็นสินค้าใหม่ของ Whoop Studio ที่ตั้งใจให้เป็นบาร์ชงกาแฟ ออกแบบให้มีลิ้นชักเก็บของในตัว ตู้หวาย 2 ตัวสำหรับเก็บโน้ตเพลง หรือหนังสือ แล้วเราก็เจาะช่องให้เห็นวิวสวน วิวน้ำ ด้วยการทำหน้าต่างขนาดใหญ่เพื่อให้แสงเข้าได้เยอะ”
จุดเด่นที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในบ้านหลังนี้ยังอยู่ตรงไฟส่องสว่าง นอกจากจะได้รับแสงธรรมชาติส่องเข้ามาพื้นที่ภายในได้อย่างเต็มที่แล้ว นี่ยังเป็นความพิเศษที่คุณดาวบอกกับคุณโบว์เพิ่มเติม “พี่สาวต้องการให้บ้านดูสว่างมากๆ เพราะมีผลต่อการตื่นตัวสำหรับนักเรียน ไฟค่อนข้างสว่างเกินปกตินิดหนึ่ง เป็นไฟฝังฝ้าที่ใช้เหมือนกับออฟฟิศทั่วไป ถ้าแสงน้อยอาจทำให้เด็กๆ ง่วงนอน เราจึงเพิ่มสปอตไลต์บริเวณส่วนเปียโนเพื่อสร้างบรรยากาศเข้าไป ส่วนพื้นโบว์พยายามเลือกกระเบื้องที่ให้ความรู้สึกเหมือนซีเมนต์ เพื่อเข้ามาลดทอนไม่ให้การตกแต่งภายในดูเลี่ยนเกินไป ใช้กระเบื้องสีเทาอ่อนให้มีความดิบประมาณหนึ่ง แล้วตกแต่งพื้นด้วยพรมอีกหน่อยให้ดูเป็นบ้านฝรั่งมากขึ้นจะได้ดูไม่ญี่ปุ่นเกินไป”
ถึงแม้ที่นี่จะออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานเฉพาะจริง แต่ก็ซ่อนความเรียบง่าย อบอุ่น อ่อนโยนไว้ได้อย่างกลมกลืม บวกกับแสงเงาที่พาดผ่าน ผิวน้ำที่พลิ้วไหว ซึ่งเป็นตัวสร้างจังหวะจะโคนไม่ต่างจากตัวโน้ตที่ไล่โทนสูงต่ำทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวามากขึ้น