VICHOKE ART-ROOM ศูนย์เรียนรู้ศิลปะที่เป็นทั้งหอศิลป์ ห้องสมุด และห้องเรียนศิลปะ
อาคาร 2 ชั้นที่ด้านหน้าโดดเด่นด้วยโครงเหล็กทาสีฟ้าอมน้ำเงิน คือศูนย์เรียนรู้ศิลปะ VICHOKE ART-ROOM สถานที่รวบรวมผลงานศิลปะของศาสตราจารย์เกียรติคุณวิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) พ.ศ. 2555
หลังการเสียชีวิตของอาจารย์วิโชค เมื่อพ.ศ.2563 อาจารย์วิน-รศ. ดร.วิชญ มุกดามณี คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ทายาทคนเดียวเป็นผู้สืบทอดมรดกทางด้านศิลปะ จึงได้ลุกขึ้นมาสร้างสิ่งที่ระลึกถึงผู้เป็นพ่อ โดยปรับปรุงอาคารแห่งนี้ที่เป็นทั้งที่พำนักของครอบครัวและเป็นสตูดิโอทำงานศิลปะของอาจารย์วิโชค ให้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็น Public Space เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ศิลปะ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
“ผมเริ่มสร้างที่นี่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 โดยให้คอนเซ็ปต์สถาปนิกว่าเป็นบ้าน แต่จะแบ่งพื้นที่บ้านส่วนหนึ่งเป็น Public Space โดยพื้นที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น โซนที่อยู่อาศัยที่แยกเป็นสัดส่วน โซนด้านหน้าเป็นกึ่งพับบลิก เนื่องจากผมเป็นศิลปินด้วยก็อยากมีพื้นที่ทำงาน มีสตูดิโอ มีห้องสมุดคือเราอยากให้หนังสือของคุณพ่อถูกจัดเก็บอย่างเป็นที่ และให้เข้ามาใช้งานได้ มีแกลเลอรีแสดงงาน และเปิดให้คนภายนอกสามารถมาจัดงานได้ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรม และด้วยความที่ผมเป็นอาจารย์ก็จะมีลูกศิษย์ที่อยากทำคอร์สเรียนก็เลยทำเป็นที่พักอยู่ชั้นบนสำหรับรองรับลูกศิษย์ที่จะมาทำงานศิลปะ ทำกิจกรรม”
“ดังนั้นสถาปนิกจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ๆ คือ ไพรเวท กึ่งไพรเวท และพับบลิก ส่วนการตกแต่งเราอยากให้มีความเป็นคุณพ่อ จึงดีไซน์ด้านหน้าเป็นปราสาท ซึ่งก็เป็นชิ้นงานของคุณพ่อเอามาเป็นต้นแบบ ซึ่งในงานของคุณพ่อจะมีสีน้ำเงินค่อนข้างเยอะเราก็นำมาใช้ วัสดุที่ใช้เป็นพวกเหล็ก ซึ่งงานของคุณพ่อจะเป็นสื่อผสม วัสดุก็จะมีโลหะ จึงเลือก เหล็กฉีก ตะแกรงเหล็ก มาใช้” อาจารยวินกล่าว
สำหรับภายใน VICHOKE ART-ROOM แห่งนี้ ถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นลานอเนกประสงค์ สำหรับเป็นห้องแสดงนิทรรศการ ชั้นบนมีห้องสมุดที่รวบรวบหนังสือศิลปะที่อาจารย์วิโชคซื้อหาและได้รับมาจากที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้เป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ ศึกษาหาความรู้ เตรียมการสอน นอกจากนี้ยังมีห้องแกลเลอรี ห้องพักสำหรับศิลปิน และสตูดิโอทำงานศิลปะ
นิทรรศการจัดแสดงงานศิลปะด้านทัศนศิลป์ของอาจารย์คุณวิโชค มุกดามณี ประกอบด้วย Art Gallery นิทรรศการที่เปิด VICHOKE ART-ROOM เป็นการพูดถึงใบหน้า ซึ่งในงานศิลปะจะมีใบหน้าซ่อนอยู่ เป็นองค์ประกอบที่ได้มาจากเค้าโครงของใบหน้าคน ผลงานจิตรกรรมบนผ้าใบ แผ่นไม้ อะลูมิเนียม ผลงานศิลปะที่ผสมวัสดุธรรมชาติและอุตสาหกรรม หรือสื่อผสม ผลงานปะติด ผลงานในแนวทางจัดวาง (Installation) ห้องสมุดศิลปะ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะ Art Classes and Workshops และ Art Studio
“ผลงานของอาจารย์วิโชค ที่ดังๆ คืองานที่เป็นอลูมิเนียม ซึ่งท่านจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คน ชีวิตที่เปลี่ยนไปของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต และตอนที่คุณพ่อไปประเทศญี่ปุ่น ท่านไปเจอเทคนิคว่าวญี่ปุ่นที่มีการฉลุ ในงานของคุณพ่อจึงได้นำเทคนิคการฉลุมาจากตรงนั้น พอพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมก็ไปหยิบวัสดุอลูมิเนียมที่สื่อถึงความเป็นอุตสาหกรรม สีสะท้อนแสง สีกากเพชร ที่นำมาใช้ นอกจากนี้เราก็นำผลงานด้านอื่นๆ ของท่านมาจัดแสดงด้วย เช่น งานเซรามิก คุณพ่อเป็นศิลปินท่านแรกๆ ที่นำเซรามิกมาทำเป็นงานไฟน์อาร์ต เลยเป็นกลุ่มผู้บุกเบิก ซึ่งงานที่นำมาแสดงก็เป็นงานที่ได้รางวัลระดับชาติด้วย ส่วนผลงานที่เก่าที่สุดอายุประมาณ 20 ปี คือผลงานภาพนู้ดซึ่งจัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติเมื่อปี 2563 ก็ถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ด้วย”
สำหรับที่มาของชื่อ VICHOKE ART-ROOM อาจารย์วินเล่าว่า “คำว่า ‘อาร์ตรูม’ คือความเป็นห้องๆ หนึ่งในบ้าน ศิลปินหลายๆ ท่าน เวลาทำงานก็จะมีบ้านและมีตึกๆ หนึ่ง หรือห้องๆ หนึ่งที่แยกออกไปเพื่อเป็นสตูดิโอทำงาน บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน ผมเป็นผู้อาศัยมาตลอด แล้วเป็นบ้านของคุณพ่อ วันนี้เราต้องมาเป็นผู้ดูแล เราก็อยากจะใช้ชื่อคุณพ่ออยู่เพราะท่านเป็นเจ้าของบ้าน จึงเป็นที่มาของ VICHOKE ART-ROOM”
“ทั้งความทรงจำ ผลงาน ความรู้ ความรักความอบอุ่นในครอบครัว อัดแน่น อบอวลในบ้านหลังนี้ คุณแม่และผม จึงคิดปรับปรุงบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ศิลปะ VICHOKE ART- ROOM ขึ้น ด้วยเจตนาที่ต้องการเผยแพร่ผลงานและความรู้มากมายที่คุณพ่อเก็บสะสมไว้ ให้สาธารณชนได้เรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง งานบางชิ้นอาจจะไม่มีใครเคยเห็น ถ้าหากปล่อยไว้จะน่าเสียดาย “อาจารย์วินกล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถนัดหมายเข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ผ่านทางเพจ Vichoke Art-Room : ศูนย์เรียนรู้ศิลปะ วิโชค มุกดามณี