Design Kitchen & Home Uncategorized

HandlewithClay เซรามิกที่มีลูกเล่นและสีสันแพรวพราว


ด้วยความตั้งใจอยากทำงานเซรามิกที่มีความสนุก มีลูกเล่นในตัว ไม่ใช่แค่งานปั้นแต่ใส่กิมมิกเข้าไปด้วยเพื่อให้ชิ้นงานมีความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร พร้อมกับวางคอนเซ็ปต์ไว้เป็น My Mahanakhon อาณาจักรเซรามิกที่มีพร้อมกับตัวละครมากมาย

HandlewithClay Ceramics

เริ่มต้นจากความหลงใหลในการปั้นดินมาตั้งแต่สมัยเรียนของคุณพิม-พิมพารัตน์ ตันติสุขารมย์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ HandlewithClay Ceramics ซึ่งจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ วิชาเอกเซรามิก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ตอนแรกเลือกเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่กลับมาชอบงานด้านปั้นดินมากกว่า จนกระทั่งได้ต่อยอดมาถึงปัจจุบันที่ทำเซรามิกขายเอง

“พอมาเรียนปั้นดินแล้วชอบจึงย้ายมาเรียนเซรามิก เพราะรู้สึกว่าสนุก ทำแล้วเราลืมเวลาไปเลย เราตั้งเป้าไว้ว่าเรียนจบอยากนำมาทำเป็นอาชีพ แต่พอเรียนจบมาจริงๆ ได้เริ่มต้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานประจำก่อนที่โรงงานเซรามิก เป็นฝ่ายประสานงาน คอยดูแลช่างปั้น คุยประสานงานกับลูกค้า และดูในส่วนของการออกแบบ การทำโมฯ และระหว่างที่ทำงานประจำก็ทำงานของตัวเองไปด้วย เริ่มจากงานแก้วเซรามิกที่ทำภายใต้แบรนด์ HandlewithClay Ceramics ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนเรียน งานที่ทำก็ออกไปขายตามตลาดงานคราฟต์ต่างๆ แล้วต่อยอดมาทำงานชิ้นใหญ่ขึ้น เช่น ลำโพงเซรามิก โคมไฟ จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการ Designers’ Room & Talent Thai 2019” และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเต็มตัวของแบรนด์ HandlewithClay Ceramics

ปั้นดินให้เป็น My Mahanakhon

My Mahanakhon เป็นเมืองที่คิดขึ้นมา มีทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตต่างๆ เป็นโครงสร้าง โดยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เน้นดีไซน์ที่แตกต่าง ใช้งานได้จริง โดยเอกลักษณ์ของงานแต่ละชิ้นจะมีเท็กซ์เจอร์ที่ขรุขระ และใส่เทคนิคปัดสีแอนทีกและเคลือบซึ่งทำให้งานดูเก่าโบราณ แต่มีรูปทรงที่ทันสมัย

“คอลเล็กชันแรกที่ทำออกมาถือเป็นชิ้นงานตั้งต้นที่ยังไม่ได้อยู่ในคอนเซ็ปต์ My Mahanakhon มีชื่อว่า ‘Crazy Electric’ เป็นโคมไฟรูปทรงตึกที่ถูกปั้นแต่งพร้อมด้วยสวิตช์ไฟมากมาย งานชิ้นนี้เป็นการสื่อให้เราเลือกเปิดปิดสวิตช์ไฟชีวิตของตัวเอง เพราะในชีวิตจริงมีทางเลือกมากมายที่เข้ามา อาจมีถูกบ้างผิดบ้าง แต่สุดท้ายแล้วจะต้องมีสักทางที่มันใช่ เช่นเดียวกับโคมไฟนี้ที่สวิตช์ไฟจะมีเพียงหนึ่งปุ่มเท่านั้นที่นำแสงสว่างให้

“จากงานคอลเล็กชันแรกก็พัฒนามาเป็นโคมไฟไร้สาย เปลี่ยนจากไฟบ้านเป็นแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ โดยพัฒนางานเข้าสู่คอนเซ็ปต์ My Mahanakhon ผ่านตัวละคร สิ่งของ สถานที่ต่างๆ เช่น งานคอลเล็กชัน Fire Exit, Motel, ปั๊มน้ำมัน, ถังเชื้อเพลิง, ลำโพง, แก้วน้ำ, แม็กเนต ล่าสุดได้ทำงาน NFT Project ซึ่งปกติจะสเก็ตช์งานในกระดาษก็เปลี่ยนมาทำในคอมพิวเตอร์และให้เป็นไฟล์ที่สามารถทำขายได้ จนมาเป็นโครงการ NFT Project Roadmap ที่ทำออกมาเป็นไฟล์งานขายบนเครือข่ายคริปโตฯ

“ซึ่งในงาน NFT ตัวละครที่คิดสร้างสรรค์ออกมาก็ยังคงคอนเซ็ปต์ My Mahanakhon คือมหานครแห่งความสนุกสนาน ตัวละครแต่ละตัวมีแต่สิ่งที่สนุกในการคิดคาแรกเตอร์ของตัวละคร มีความเร็วแค่ไหน กินอะไรเป็นอาหาร บางตัวกินเนื้อ บางตัวกินพืช เราสร้างตัวละครให้เห็นภาพว่าตัวไหนคือนักล่า ตัวไหนคือผู้ถูกล่า”

สำหรับผลงานที่ออกแบบตามจินตนาการเหล่านี้  นอกจากจะส่งผ่านความคิดสร้างสรรค์และความสนุกไปถึงผู้ใช้แล้ว ยังทำให้เกิดเหตุการณ์ประทับใจเหมือนกัน “ครั้งหนึ่งเรามีเหตุการณ์ประทับใจในการทำงาน มีลูกค้าต่างชาติชาวเอเชียติดต่อมาขอให้ผลิตโคมไฟ เพื่อนำไปขอแฟนแต่งงาน เพราะแฟนเขาชอบโคมไฟของเรามากจึงบอกกับเขาว่า ถ้าหาโคมไฟชิ้นนี้ได้จะแต่งงานด้วย เขาจึงหาเราจนเจอ และติดต่อมาให้เราผลิตโคมไฟสีชมพูเพื่อไปขอแฟนแต่งงาน” 

แบรนด์เซรามิกทำมือที่เกิดจากความชื่นชอบในความไม่สิ้นสุดของกระบวนการผลิตเซรามิก  และมีความตื่นเต้นที่ได้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างในงานแต่ละชิ้น เรียกว่าสนุกทั้งผู้ปั้นและผู้ใช้งานที่สามารถหยิบมาใช้เล่นฟังก์ชันได้อย่างสนุก
สามารถติดตามผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/handlewithclay, https://opensea.io/HANDLEwithClay


You Might Also Like...