WH Cafe ยึดโยงธรรมชาติกับคาเฟ่ไว้ร่วมกัน
จาก “วังหิ่งห้อย” (Wang Hinghoi) ร้านอาหารไฟน์ไดนิงที่มีคอนเซ็ปต์เปิดบริการเพียง 18 เดือน ตามวัฏจักรชีวิตของหิ่งห้อย ถูกส่งต่อมาสู่โปรเจ็กต์ใหม่ที่ยังคงใช้สถานที่เดิม โดยยึดโยงธรรมชาติกับคาเฟ่ไว้ด้วยกัน แล้วเปลี่ยนการเล่าเรื่องใหม่ให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สู่การเป็น WH Cafe ในวันนี้
เรื่องราวและการออกแบบของ WH Cafe เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคุณก้อง-ก้อง เลิศกังวานไกล Branding Creative Director กับคุณไนท์-วิทยา บุญญสิริกุูล Interior Designer และคุณตู่-ศุภสิทธิ์ เทพอำนวยสกุล Landscape Architect ที่ร่วมกันร้อยเรียงเรื่องราวทั้งบรรยากาศ ธรรมชาติ และการตกแต่งพื้นที่ภายใต้โจทย์ตั้งต้นในคอนเซ็ปต์ Nature Takeover
WH Cafe : เล่าเรื่องธรรมชาติโอบล้อมคาเฟ่
จากทางเข้าที่นำเอาความร่มรื่นของต้นไม้นำสายตา เข้าสู่ทางเดินกำแพงดินที่ทอดตัวไปถึง WH Cafe เบื้องหลังประตูบานใหญ่สีขาวที่วันนี้ถูกตกแต่งใหม่ท่ามกลางต้นไม้สีเขียวนานาพรรณ ทำให้บรรยากาศดูผ่อนคลาย นั่งสบายๆ ได้ตลอดวัน
คุณก้อง-ก้อง เลิศกังวานไกล Branding Creative Director ผู้วางคอนเซ็ปต์ WH Cafe เล่าว่า “ด้วยคอนเซ็ปต์แรกที่คิดไว้ เหมือนกับเราปิดร้านไปสักพักหนึ่งแล้วปล่อยให้ธรรมชาติเติบโตด้วยตัวมันเอง เลยเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ Nature Takeover ที่เล่าเรื่องถึงการกลับเข้ามาที่ร้านอีกครั้งโดยมีธรรมชาติรุกคืบเข้าไปตามโครงสร้างต่างๆ ซึ่งในภาพจริงที่ออกแบบมาคือการสร้างบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ ด้วยการออกแบบพื้นที่ใหม่และนำพรรณไม้ต่างๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่อินดอร์ได้อย่างกลมกลืน
“จากวังหิ่งห้อยเดิมกลุ่มเป้าหมายคือคู่รักที่ต้องการความโรแมนติก หรือชาวต่างชาติที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ พอมาเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่เรามีกลุ่มเป้าหมายใหญ่ขึ้นคือกลุ่มครอบครัว กลุ่มคนทำงาน โดยมีกุญแจหลักคือธรรมชาติเป็นตัวคลุมทั้งหมด ในอนาคตตรงนี้จะกลายเป็น Urban Space ที่ถูกเรียกว่าเป็นโครงการ Urban Yard เปรียบเสมือนสวนหลังบ้านของเมืองใหญ่ที่เราอยากให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อมาพักผ่อนสัมผัสกับธรรมชาติได้”
WH Cafe : ดีไซน์ฟังก์ชันกับธรรมชาติภายใน
คุณไนท์-วิทยา บุญญสิริกุล Interior Designer เล่าถึงการดีไซน์ว่า “ด้วยดีไซน์และธรรมชาติ จะทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันภายในพื้นที่อินดอร์ จึงเป็นความท้าทายทั้งการออกแบบแสงซึ่งโจทย์หลักคือเรื่องการบาลานซ์ของแสง ด้วยการออกแบบกรอบไฟเพดานให้เหมือนช่องสกายไลต์ และคำนวณเรื่องแสงให้มีความสมดุลกันระหว่างแสงธรรมชาติกับแสงประดิษฐ์ เป็นการช่วยลดทอนความอึดอัดให้ไม่รู้สึกว่านั่งอยู่ใต้หลังคา ตลอดจนการควบคุมอุณหภูมิและทิศทางของเครื่องปรับอากาศภายในให้สอดคล้องไปด้วยกันระหว่างพื้นที่อินดอร์และเอาต์ดอร์
“โดยในส่วนของสเปซกับโครงสร้างทำอย่างไรให้ต้นไม้เป็นพระเอกของพื้นที่ด้านใน เนื่องจากอาคารเดิมถูกออกแบบเป็นสีดำ จึงเปลี่ยนสีใหม่ออกมาเป็นสีขาวอมเทาเพื่อขับสีของต้นไม้ให้โดดเด่นได้ดีที่สุด และเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้จะเป็น Yellow Oak มีการนำเก้าอี้หวายสานเข้ามาทำให้ดูเชื่อมโยงกับบรรยากาศเอาต์ดอร์ได้ดี และโต๊ะก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้มินิมอลเรียบๆ และก็มาจบที่ Textile ลายผ้าของหมอนที่มีลายใบไม้และการเลือกใช้โทนสีเขียว สีเทาเข้ามาร่วมด้วย ในขณะที่พื้นของร้านเลือกที่มีลักษณะเป็นเอาต์ดอร์ เลือกใช้เป็นพื้นทรายล้างบวกกับพื้นหินโรยที่เป็นเท็กซ์เจอร์เดียวกัน”
WH Cafe : การวางสเปซระหว่างต้นไม้กับอินทีเรีย
คุณตู่-ศุภสิทธิ์ เทพอำนวยสกุล Landscape Architect เล่าว่า “ด้วยคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ค่อนข้างท้าทายและรู้สึกน่าสนใจ เพราะเป็นการเอาแลนด์สเคปเป็นตัวนำ จากภาพรวมโครงการเราอยากสร้างประสบการณ์การเข้าถึงร้านอาหารที่มีความแตกต่าง เริ่มจากสวนด้านหน้าที่ออกแบบให้เกิดสเกลที่ดูแปลกตา มีการใช้เนินและใช้กลุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อสร้างความรู้สึกขณะเดินเข้ามาให้เหมือนผ่านอุโมงค์ต้นไม้ และด้วยพื้นที่ใกล้เคียงที่เห็นรถไฟฟ้าซึ่งยังมีความเป็นเมืองอยู่ พอมาถึงตรงนี้เราอยากให้ตัดขาดจากพื้นที่รอบๆ เพื่อเข้าสู่ทางเข้าที่เป็นกำแพงดิน จากนั้นจะเริ่มรู้สึกถึงสเปซที่ถูกปิดล้อม เมื่อเดินเข้ามาถึงบรรยากาศภายในร้านเราอยากให้เกิดเซอร์ไพรส์ด้วยภาพร้านอาหารที่แทรกขึ้นท่ามกลางธรรมชาติที่โอบล้อบ จึงเกิดเป็นสเปซย่อยๆ ในการแทรกพรรณไม้ต่างๆ เข้ามา ซึ่งการวางผังก็สำคัญ เพื่อให้ตำแหน่งที่นั่งกับการใช้งานสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ และในรายละเอียดของต้นไม้ต่างๆ ที่มีหลายสเกลเพื่อให้มีความเป็นธรรมชาติ เช่น ไม้สูง ไม้ระดับสายตา และระดับล่าง จึงต้องไล่ระดับต่างๆ ให้สวยงาม
“ในขณะเดียวกันความยากของแลนด์สเคปคือคอนเซ็ปต์ของการใช้ต้นไม้ในพื้นที่ที่เป็น Control Environment คือมีเครื่องปรับอากาศ และแสงที่มีจำกัด เพราะต้นไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งแต่ละฤดูกาลแสงก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นการเลือกชนิดต้นไม้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องเป็นไม้ที่ทนและอยู่ได้ หลักๆ พรรณไม้ที่เลือกมาต้องเหมาะกับสภาพแสงและความชื้นเพราะส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ปิด เช่น เป็นต้นไม้ที่อยู่ระดับล่างๆ ส่วนใหญ่ต้องเลือกเป็นไม้ที่รับแสงน้อยได้อย่างเสน่ห์จันทร์ พลูด่าง พุดจีบ วาสนานางฟ้า ที่สามารถปรับตัวกับสภาพแสงต่างๆ ได้ดี งานนี้นับเป็นการเติมพื้นที่สีเขียวให้คนที่มาได้มีความสุขกับธรรมชาติ และทำให้ชีวิตคนเมืองมีความรื่นรมย์มากขึ้น”
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า WH Cafe คาเฟ่ในบรรยากาศโปร่งสบายที่ซ่อนอยู่ในเมืองคอนกรีตแห่งนี้ นอกจากเรื่องของอาหารที่อร่อยแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกดีต่อใจที่ได้มาเสพบรรยากาศผ่อนคลายไปกับต้นไม้สีเขียวนานาพรรณอีกด้วย
149 ถนนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ (ที่เดียวกับร้านวังหิ่งห้อย)
เปิดบริการทุกวัน 08.00-16.00 น.
Facebook : Wh.Cafe.Bkk Instagram : Wh.Cafe.Bkk