เลือกแปลนครัวง่ายๆ แบบไหนให้เหมาะกับพื้นที่บ้านเราดีนะ
จะออกแบบห้องครัวทั้งทีต้องเริ่มต้นจากตรงไหนดี ไม่ว่าใครที่กำลังมองหาไอเดียตกแต่งครัวหรือรีโนเวทห้องครัวใหม่ นอกจากเรื่องของดีไซน์ความสวยงามแล้วนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ การเลือกแปลนครัวให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นครัวบ้านหรือครัวคอนโด เพื่อความสะดวกสบายและคล่องตัวในการใช้งาน แต่จะเลือกแบบไหนดีตามไปทำความรู้จักกับ 6 แปลนครัวที่เรานำมาฝากกันได้เลย
1. ชุดครัวแนวตรง (In-line Layout)
แปลนครัวที่เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กหรือแคบ ส่วนใหญ่จะออกแบบให้ชุดครัวชิดกับผนังด้านใดด้านหนึ่งเคาน์เตอร์ครัวจะประกอบไปด้วยส่วนเตรียม ส่วนปรุง และส่วนล้าง สามารถวางสลับกันไปตามความสะดวกในการใช้งานเพิ่มฟังก์ชันการจัดเก็บด้วยลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์และตู้แขวนด้านบน เท่านี้ก็สามารถเก็บของได้มากขึ้น และยังดูเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย
2. ชุดครัวแบบสองแถวตรง (Galley Layout)
เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่เปิดโล่ง โดยสามารถแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ส่วน ด้านหนึ่งจะเป็นพื้นที่ของส่วนล้างทำความสะอาดกับส่วนปรุงอาหาร อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนสำหรับเตรียมอาหาร การเว้นระยะให้พอดีไม่กว้างหรือแคบไปจะช่วยให้เราสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องและคล่องตัว
3. ชุดครัวรูปตัว L (L-Shaped Kitchen)
เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เหมาะสำหรับบริเวณพื้นที่เข้ามุมของห้องครัว สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องกันของผนังสองด้าน ส่วนใหญ่จะออกแบบแยกพื้นที่ส่วนล้างให้อยู่คนละด้านกับส่วนเตรียมและปรุงอาหาร สำหรับพื้นที่เข้ามุมควรเพิ่มอุปกรณ์ประเภทตู้เข้ามุมเพื่อประโยชน์การใช้สอยได้อย่างคุ้มค่า
4. ชุดครัวรูปตัว U (U-Shaped Kitchen)
ชุดครัวรูปตัว U เหมาะกับห้องที่มีขนาดใหญ่ ออกแบบให้ใช้งานพื้นที่ของผนังได้ 3 ด้าน สำหรับใครที่ชอบทำอาหารคงจะถูกใจแปลนครัวนี้มากเลยทีเดียว เพราะรูปแบบของชุดครัวสามารถปรับได้ตามขนาดของห้อง
5. ชุดครัวรูปตัว G (G-Shaped Kitchen)
เป็นชุดครัวที่ถูกออกแบบเพิ่มเติมจากรูปแบบของครัวรูปตัว U โดยเพิ่มเติมในส่วนของเคาน์เตอร์ให้ต่อเนื่องมาไว้ตรงกลางห้องครัว เป็นพื้นที่สำหรับนั่งทานอาหารมื้อง่ายๆ ในห้องครัว หรือเป็นมินิบาร์ ซึ่งในส่วนนี้มักเรียกกันว่า Peninsula
6. ชุดครัวแบบมีไอส์แลนด์ตรงกลาง (Island Layout)
เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ห้องครัวค่อนข้างมาก โดยส่วนของเคาน์เตอร์ตรงกลางสามารถใช้เป็นพื้นที่ส่วนล้าง ส่วนปรุง
หรือไว้สำหรับเตรียมอาหารก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้งาน ตลอดจนออกแบบเป็นพื้นที่สำหรับนั่งทานอาหารได้อีกด้วยแถมยังเพิ่มฟังก์ชันการจัดเก็บใต้เคาน์เตอร์ได้อีกด้วย
เรื่อง : หนูเสงี่ยม
ภาพ : นิตยสาร @kitchen