“ผมอยากทำร้านกาแฟที่แสดงความเป็นตัวเราออกมาให้มากที่สุด” นี่คือความตั้งใจของคุณเป้-จีรเวชหงสกุล ผู้ก่อตั้ง IDIN Architects สถาปนิกอารมณ์ดีแถมมีลูกเล่นแพรวพราวพอๆ กับไอเดียสร้างสรรค์ที่มาเล่าเรื่องศาสตร์ในโลกของสถาปัตยกรรมผ่าน Modernism Café
บริษัทสถาปนิกกับคาเฟ่
หลังจากที่ออฟฟิศไอดินย้ายมาเรามีพื้นที่ด้านหน้าเหลืออยู่ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าอาจจะใช้เป็นแกลเลอรีโชว์โมเดล แต่ช่วง 3 ปีก่อนตอนคาเฟ่ยังไม่ฮิตเท่าตอนนี้ ละแวกนี้ไม่มีคาเฟ่เลย พอออฟฟิศเปิดเราก็หากาแฟดื่มกันยากจึงตัดสินใจเปลี่ยนจากแกลเลอรีมาเปิดร้านกาแฟ อีกอย่างจะได้มีพื้นที่สำหรับรองรับลูกค้าที่มาคุยงานด้วย
ดื่มด่ำกับโลกสถาปัตย์
โจทย์ในการออกแบบและสร้างคาเฟ่ จริงๆ เราไม่ได้ตั้งธงหวังผลในเชิงธุรกิจมากนัก แต่ต้องการพรีเซนต์ความเป็นสถาปนิก ตั้งแต่การออกแบบร้าน คิดชื่อเมนู ออกแบบลาเต้อาร์ต ของที่ระลึกอย่างเสื้อยืด ถุงผ้า เราอยากแสดงความเป็นตัวเองออกมาว่าถ้าเรารักงานสถาปัตยกรรมแล้วเอามาทำเป็นร้านกาแฟจะออกมาเป็นอย่างไรแบบสนุกๆ
เมื่อสถาปนิกอยากมีมุขตลกกับเขาบ้าง
เริ่มมาจากการตบมุขของทีมงานในบริษัท ผมนำชื่อของสถาปนิกซึ่งเป็นตำนานอย่าง Le Corbusier, Frank Llyod Wright, Louis Kahn, Mies van der Rohe และ Walter Gropius มาครีเอตเมนูแบบสนุกๆ ด้วยการล้อเลียนเสียงที่ใกล้เคียง เช่น Le Corbusier เป็น Le Cappuccino, Frank Llyod Wright เป็น Frank Llyod Ice, Mies van der Rohe เป็น Mies van der Roll และ Walter Gropius เป็น Walter โกปี๊
ลุ่มหลงกับยุคโมเดิร์น
ยุค Modern Architecture เกิดสถาปนิกขึ้นมาหลายท่าน Le Corbusier, Mies van der Rohe, Frank Lloyd Wright, Louis Kahn และ Oscar Niemeyer แต่ละท่านเหมือนเป็นบิดาแห่งสถาปัตยกรรมเลยก็ว่าได้ เป็นสถาปนิกที่ผมชื่นชอบมากตั้งแต่สมัยเรียน รู้สึกผูกพัน เติบโตและเรียนรู้มาจากงานท่านต่างๆ เหล่านี้ อยากนำสถาปนิกและงานสถาปัตยกรรมของช่วงเวลานี้มาใช้ในคาเฟ่ ทั้งหมดทั้งมวลเลยตั้งชื่อว่า Modernism คือยุคสมัยที่เราชอบ แนวคิดที่ยังส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน ในแง่วัสดุเองความเป็นโมเดิร์นที่พูดถึงการก่อสร้างสมัยใหม่อย่างเหล็กกับกระจกหรือสัจจะวัสดุต่างๆ คาเฟ่ก็จะออกแบบและพูดถึงแมตทีเรียลในช่วงยุคนี้
แทรกซึมด้วยรายละเอียด
ผมออกแบบออฟฟิศและคาเฟ่แยกกันเป็น 2 ส่วน ด้านหน้าในส่วนของคาเฟ่เป็นทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย ใช้วัสดุเหล็ก กระจก และไม้ยาคิสุกิ (Yakisugi) หรือไม้เชาสุกิบัน (Shou Sugi Ban) เป็นไม้ซีดาร์จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นภูมิปัญญาโบราณที่เขาคิดหาวิธีไม่ให้ไฟลามหากเกิดไฟไหม้ด้วยการนำไม้ไปเบิร์น สีที่เห็นเกิดจากการไหม้ไม่ใช่สีเพนต์ เพราะเราชอบความสวยงามที่เกิดจากฟังก์ชันการแก้ปัญหาที่มีเหตุมีผลเหมือนวิธีการทำงานของบริษัทเรา ส่วนผนังด้านหน้าเราออกแบบโดยใช้กระจกที่สามารถเปิดปิดได้ทั้งบาน เหมือนเป็นการเชื่อมความต่อเนื่องระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวเข้าด้วยกัน
เราพยายามใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แทรกเข้าไปในส่วนต่างๆ เช่น ไฟ LED ที่ทำจากไม้บรรทัดฟุตเหล็กที่เด็กสถาปัตย์ใช้ตัดโมเดล หรือการแปะโควทไว้ตามพื้นที่ที่เกี่ยวกับ Meaning นั้นๆ เช่น ทางเดินขึ้นชั้นบนเราใช้สีขาวเพื่อให้ทางเดินแยกตัวชัดขึ้น มีช่องแสงช่องหนึ่งสาดเข้ามา และภาพรูปปั้นที่ Barcelona Pavilion เหมือนยกมือบังแดดที่ส่องเข้ามาอยู่ โดยช่องนี้มีโควทติงของ Louis Kahn แปะไว้ว่า A room is not a room without natural light. ผมมองในเชิงสถาปัตยกรรมเหมือนกับว่ารูปภาพ โควทติง สเปซ และแสงเป็นมิติที่มันล้อไปด้วยกัน หรือคำว่า A house is a machine for living in เป็นโควทของ Le Corbusier เป็นสิ่งที่เราตั้งใจสื่อความหมายด้วยการใช้คำเหล่านี้ให้เกิดความสัมพันธ์กับพื้นที่ภายใน
ไอเดียสนุกๆภายในModernism Café ที่เกิดจากการนำรายละเอียดต่างๆในศาสตร์ของสถาปัตยกรรมมาสร้างสรรค์และพลิกแพลงสื่อสารผ่านการตกแต่งซึ่งมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและน่าสนใจและไม่แน่ว่าในอนาคตคุณเป้อาจครีเอตอะไรต่อมิอะไรให้เราได้หัวเราะและยิ้มตามอีกอย่างแน่นอน
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณจีรเวช หงสกุล
ซอยอินทามระ 26/1 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ
https://www.facebook.com/modernismcafe/