จากอดีตครูสอนดนตรี ที่หันมาปลูกผักกินเอง
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โลกใบนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เว้นแม้แต่โลกใบเล็กของเราเองก็ส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน บางคนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ถึงขนาดขอบคุณไวรัสชนิดนี้ด้วยซ้ำที่ทำให้พวกเขาค้นพบอะไรหลายอย่าง กลายเป็นความท้าทาย รวมถึงการเริ่มต้นทำสิ่งแปลกใหม่ จนเกิดเป็นความชำนิชำนาญ เช่นเดียวกับคุณแขก-ธีรารัตน์ อินทรสถิตย์ ที่ทดลองเปลี่ยนความถนัดจากเครื่องดนตรีมาถือจอบเสียมเพื่อลงมือปลูกผักกินเอง และยังชวนเพื่อน คุณพิณ-ชนิกา เจียรพัฒน์ มาร่วมจอยกับสวนเล็กๆ แห่งนี้ตั้งแต่การทำมูลไส้เดือนไปจนถึงทำโรงเรือนเอง
โตมากับต้นไม้
เราและครอบครัวชอบต้นไม้กันอยู่แล้ว พ่อทำนาทำสวนบนถนนเส้นสุขุมวิท ก็บ้านหลังนี้เลย แล้วลูกๆ ก็โตมากับผัก ผลไม้ มีอะไรในสวนก็กิน พอเมืองเจริญขึ้น บ้านที่เคยเป็นสวน ท้องนา ก็ถมและปรับให้ดูสมัยใหม่ ส่วนเราก็ออกไปทำงานข้างนอก ไปสอนดนตรี ไปทำธุรกิจของเรา
ชอบกินผักกันทั้งบ้าน
คนในบ้านสุขภาพดีมีแต่เราเองที่กินผักแต่สุขภาพไม่ดี ขับถ่ายไม่ดี ใช้วิธีการกินอาหารเสริมเข้าช่วย แล้วมานั่งวิเคราะห์เองว่าหรือเรากินผักเยอะไปหรือเปล่า แต่ก็ทิ้งเป็นคำถามคาใจเอาไว้ ไม่ได้สนใจ
โควิด19 ทำให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน
ช่วงโควิดทำให้เราต้องอยู่บ้าน ทั้งทำงาน ประชุม มีเวลามากขึ้น ไปไหนไม่ได้ เลยเกิดเรื่องหนึ่งขึ้น อยากปรับปรุงพื้นที่ เพราะบ้านเก่าหลายสิบปีแล้ว หลังจากปรับที่รอบๆ แล้วกลายเป็นว่าดูเคว้งคว้าง คิดต่อว่าจะเริ่มทดลองปลูกผักกินเองดีกว่า เริ่มจากซื้อเมล็ดมาเพาะเอง อย่าง ผักชี ต้นหอม ผักชีฝรั่ง คื่นช่าย พอปลูกแล้วผักขึ้น กำลังใจก็เริ่มมา แล้วก็ต่อยอดด้วยการหันมาปลูกผักสลัด เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค เรดคอส กรีนคอส กรีนคอสมินิ เรดรูบี้ เรดแรบบิท วอเตอร์เครส
ระหว่างทางต้องเรียนรู้
กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขนาดนี้ เราหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ศึกษาวิธีปลูก ทำไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเริ่มตั้งแต่นั้นมา แล้วก็เริ่มทำโรงเรือนคลุม เพราะฝนตก ผักตาย แดดมาผักตาย จากสแลนธรรมดาก็เปลี่ยนเป็นพลาสติก ดูทิศทางลม แดด ฝน ค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละนิดละหน่อยจนทุกวันนี้ปลูกผักกินเองได้ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นบ้านเราก็ไม่ซื้อผักข้างนอกกินอีกเลย
อยากกินอะไรก็ปลูกรอไว้
คิดอยากปลูกอะไร กินอะไรก็ลงมือปลูกเอง จะซื้อกินก็ได้มันง่าย แต่มันคือความท้าทาย อยากกินอะไรก็ปลูก ตะไคร้ ใบมะกรูด กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักชี ต้นหอม กวางตุ้งม่วง หาซื้อเมล็ดแล้วเอามาเพาะให้งอก ผักที่ปลูกใช้เวลา เราก็ต้องใช้วิธีปลูกสลับเวลา หลังจากเก็บแล้วผักล็อตใหม่ก็จะขึ้นมาพอดี นอกจากผักก็ยังมีผลไม้ กล้วย ลูกหม่อน สตรอว์เบอร์รี ข้าวโพดทับทิมสยาม องุ่น
เราปลูกผักออร์แกนิกไม่มีสารเคมี
เราทำฮอร์โมนบำรุงผักเอง เป็นการให้ปุ๋ยเพิ่มทางใบ มีทั้งฮอร์โมนนมสด ฮอร์โมนไข่ เราปลูกเอง กินเอง เพราะฉะนั้นต้องทำให้สะอาดและปลอดภัย พิณเล่าให้แขกฟังว่าในเมื่อเราอยากดูแลสุขภาพ เราต้องทำตั้งแต่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่น้ำ ปุ๋ย ไม่ต้องกังวลว่าจะขายได้หรือไม่ได้ มีเหลือแล้วค่อยขาย รเมองเรื่องขายไว้ปลายทางสุดท้าย
ทำมูลไส้เดือนเอง
เริ่มจากหาข้อมูลก่อน เพราะรู้ว่ามูลไส้เดือนให้ไนโตรเจนสูง ไส้เดือนก็กินผัก ทุกอย่างช่วย zero food waste ไปด้วย เปลือกไข่ ผัก หั่นให้ไส้เดือนกินเป็นอาหารได้หมดเลย เหมาะกับผักใบ เราเลยหาซื้อมาบำรุง แต่พอซื้อบ่อยเข้ามันก็ไม่ไหว เลยอยากต่อยอดและหาความรู้ อยากปุ๋ยไส้เดือนต้องทำยังไง มันแบ่งเป็นหลายประเภทมาก ตอนแรกเราไปขุดไส้เดือนไทยธรรมดา แต่มันได้ไม่เหมือนเค้า เลยไปศึกษาลึกลงไป อีกว่ามีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ มีทั้งสายพันธุ์ แอฟกัน ไนท์คลอเลอร์ (African Night Crawler) หรือ AF 2. ไส้เดือนพันธุ์ ไทเกอร์ ( Tiger worms) 3. สายพันธุ์บลูเวิร์ม ( Blue worm)
เราหาว่าเราจะหาซื้อไส้เดือนนี้จากไหน แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเลี้ยงได้หรือเปล่า มีโอกาสได้ปรึกษากับอาจารย์สุดา แล้วอาจารย์แนะนำว่าให้ลองไปซื้อที่หนึ่ง ตอนนั้นตั้งใจอยากเลี้ยงสายพันธุ์เอเอฟ เพราะเลี้ยงง่าย โตไว เนื่องจากเราต้องการมูลไส้เดือนมาใช้ แต่พอติดต่อไปที่ร้านเค้ากลับไม่มีสายพันธุ์นี้ มีแต่พันธุ์บลูเวิร์มที่แพงที่สุด ไปๆ มาๆ เรากลับชอบบลูเวิร์มที่เป็นสายพันธุ์เล็กมาก เพราะให้ปุ๋ยละเอียด มีจุลินทรีย์กว่า 200 ชนิด เราเรียนสายวิทย์มาแล้วลองเปรียบเทียบกัน แล้วมันดีกว่า
เราต้องร่อนมือ ทำเครื่องร่อนไส้เดือน ทำเองทุกอย่าง เราทำงานออนไลน์เลยจัดสรรเวลาและพอปรับตัวได้ แยกได้ด้วยว่าละเอียด หยาบ อันไหนยังเป็นตัวอาหารอยู่ เรียนรู้ จากประสบการณ์ไปเรื่อยๆ
เปลี่ยนจากสาวออฟฟิศมาเป็นสาวเกษตรกรเต็มตัว
ปกติเราสองคนไม่สนใจเรื่องต้นไม้เลย ปลูกอะไรตายหมด แต่พอตัดสินใจมาลองทำธุรกิจร่วมกัน แขกเป็นครูสอนดนตรี พิณเป็นวิศวคอมฯ มันเป็นคนละแนวกับสิ่งที่เราทำอยู่ อย่าไปคิดว่าปลูกอะไรตายหมด ที่ปลูกแล้วไม่ขึ้น ไม่รอดเพราะดินเราไม่ดี แค่นั้นเลย ถ้าดินดีปลูกอะไรก็รอดหมด
จากประสบการณ์เราในทุกวันนี้สามารถให้คำแนะนำกับคนอื่นได้ ทุกอย่างเราศึกษาทั้งหมดด้วยตัวเอง ทำอะไรแล้วค่อยๆ พัฒนา เป็นแปลงทดลองของเรา อย่างตอนนี้ไม่ได้ซื้อผักจากข้างนอกอีกเลย ระบบขับถ่ายก็ดีขึ้น ไม่เป็นไมเกรนอีกเลย
ผักที่บ้านนี้กินแล้วไม่ขม
พิณเป็นคนไม่กินผักเลย พอเรากินผักที่เค้าปลูกแล้วมันขมก็จะบอกแขกว่ามันขม ก็จะไปดูแล้วว่าเกิดจากอะไร น้ำไม่ถึง ปุ๋ยไม่ได้ หรือการเก็บผักช่วงเช้า เย็น กลางวัน ก็มีผล ถ้าเก็บผักกลางวันก็ไม่ได้ จะมียางขึ้นมาเพื่อป้องกันแสงก็ส่งผลให้รสขม เก็บเย็นเกินไปก็ไม่ดีเพราะผักอมความร้อนมาแล้วทั้งวัน
ดังนั้นเราต้องวางแผนก่อนว่าจะกินไหม ถ้ากินก็เก็บเช้า ไม่ส่งผลต่อรสชาติ หรือเก็บเย็นก็ได้ ถ้าผักอยู่ในระยะเวลาที่ไม่เกิน น้ำน้อย อากาศร้อน ส่งผลให้ผักมีรสขมหมด หากยังอยู่ในช่วงเวลา 40 วันแต่ถ้าเกินจากนี้ขมแน่นอน
ต้องมีแรงบันดาลใจก่อนว่าเราอยากทำหรือเปล่า
ก่อนอื่นต้องมีความรักอยากที่จะทำ ดูคนอื่นแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจจุดนี้ก็ได้เหมือนกันนะ จากนั้นก็ต้องศึกษา ความรู้สำคัญมากๆ ต้องมีความรู้ ก่อนจะทำอะไรก็เสิร์ช ตอนนี้อยากรู้อะไรหาได้ง่ายมากเจอหมด เลย พอทำแล้วเบื่อหรือเปล่า เรื่องล้มเลิกก็สำคัญ ทำแล้วจะล้มเลิกไหม มันมีคุณค่าเราอยากทำก็ทำต่อ อย่าปล่อยให้ล้มไป เท่ากับว่าเราเห่อแป๊บๆ เรื่องปุ๋ย ดิน สำคัญ เพราะฉะนั้นต้องมีความใจเย็น
พิณยึกในหลักอิทธิบาท 4 เลย ฉันทะ ต้องมีแรงบันดาลใจ พึงพอใจในสิ่งที่เราจะทำก่อนว่าอยากทำ ชอบจริง วิริยะ เพียรพยายาม ศึกษาหาความรุ้ จิตตะ คือโฟกัสให้ดีกว่าเดิมได้ไหม วิมังสา ทบทวน ต่อยอด ชอบบทนี้มาก ยึดหลักนี้ในทุกเรื่องที่เราทำ
ทุกวันนี้สนุกและมีความสุขกับการปลูกผักกินเอง
พอปลูกผัก ผลไม้ได้ผลผลิตเราก็จะลงรูปในโซเชียล เพื่อนๆ ก็เริ่มสนใจ กลายเป็นว่าต้องทำเพจ “สวนรับแขก ณ ทุ่งพระโขนง มูลไส้เดือน ผักสลัด ต้นกล้าผัก ผักสวนครัว” อีกความตั้งใจคืออยากให้ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพราะเราเริ่มจากการมี Mindset ผิดๆ ดังนั้นก่อนเราจะลงมือทำอะไร เราจะหาข้อมูลไว้เยอะมาก เราสามารถแบ่งปันไอเดียในสิ่งที่เคยลองผิดลองถูกมาแล้ว หวังใจว่าถ้าคนไทยปลูกผักได้แบบนี้และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะมีอาหารหมุนเวียนตลอดเวลา เราสามารถควบคุมทุกอย่างได้เอง ไม่ต้องกลัวสุขภาพจะแย่ ถ้าทำได้แบบนี้ทุกคนก็อยู่ได้สบายแล้ว
https://www.facebook.com/KakGarden