Brew in Brown เป็นคาเฟ่หน้าบ้านที่ตกแต่งอย่างง่ายๆ ให้ความรู้สึกสบายๆ น่ารักและดูอบอุ่น คุณปลาและคุณแก้มเจ้าของร้านบอกกับเราว่าเดิมที่นี่เป็นทาวน์เฮาส์เก่าของคุณแม่ที่มีอายุกว่า 30 ปี หลังจากเจอน้ำท่วมหนักเมื่อปี พ.ศ. 2554 จึงตัดสินใจรีโนเวตใหม่ทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโครงสร้างเดิมที่ค่อนข้างทรุดโทรม จากนั้นก็เปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนของบ้านให้น่าอยู่และใช้งานพื้นที่ได้สะดวกคล่องตัวมากขึ้น ก่อนจะแต่งนู่นนิด เติมนี่หน่อย ขยับขยายจนเกิดเป็นคาเฟ่หน้าบ้าน รายละเอียดและที่มาที่ไปเป็นอย่างไรตามเราไปนั่งพูดคุยกับคุณปลาและคุณแก้มด้วยกันเลย
“เราเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาต่างๆ กันก่อน ด้วยความที่เป็นทาวน์เฮาส์เก่าอายุกว่า 30 ปี และผ่านน้ำท่วมหนักมาแล้ว สภาพเลยค่อนข้างทรุดโทรมมาก ประกอบกับคุณแม่ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดแต่ก็ไม่อยากขายบ้านหลังนี้ เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นมาอยู่เองแล้วกัน ซึ่งกว่าจะได้เริ่มรีโนเวตก็ใช้เวลานานอยู่เหมือนกัน” คุณปลาเล่าถึงจุดเริ่มต้นการรีโนเวตบ้านให้เราฟัง
แก้ปัญหาเรื่องปลวกและโครงสร้างที่ทรุดโทรม “ปัญหาหลักคือเรื่องปลวก เนื่องจากบ้านทาวน์เฮาส์พื้นที่จะเชื่อมต่อกันกับหลังอื่นๆ ปลวกก็จะย้ายไปย้ายมา ถึงแม้ว่าเราจะกำจัดที่บ้านเราแล้วแต่มันก็ไม่หายไปอยู่ดี สุดท้ายจึงตัดสินใจรื้อโครงสร้างทั้งหมด เรารื้อพื้นเดิมที่เป็นปาร์เก้ออกทั้ง 2 ชั้น โดยชั้น 1 เลือกปูเป็นพื้นกระเบื้องทั้งหมดเผื่อมีน้ำท่วมอีก ส่วนชั้น 2 เลือกใช้เป็นกระเบื้องยางเพราะคานไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ จากเดิมที่เป็นคานปูนก็เสริมด้วยคานเหล็กแล้วปูสมาร์ทบอร์ด ก่อนจะปิดด้วยกระเบื้องยางลายไม้เพื่อให้น้ำหนักเบาที่สุด”
จัดสรรพื้นที่ใหม่ให้ลงตัว “ด้วยตัวอาคารเป็นทาวน์เฮาส์สมัยเก่า หน้าบ้านจะเปิดโล่ง แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ แต่ละบ้านก็จะก่อผนังทำกำแพงเพิ่มซึ่งบ้านเราไม่ได้ทำ กลายเป็นว่าพื้นที่ข้างบ้านเป็นผนังของบ้านอื่น เราจึงก่อกำแพงกั้นส่วนใหม่ เปลี่ยนหลังคาจากเดิมที่ค่อนข้างมืดทึบให้เป็นหลังคาโปร่งแสงครึ่งหนึ่งเพื่อให้บ้านสว่างมากขึ้น ส่วนประตูเหล็กหน้าบ้านก็คงไว้แล้วทำสีใหม่ เพราะตอนกลางวันเราไปทำงานไม่ค่อยมีคนอยู่บ้าน ประตูเหล็กก็ดูมิดชิด ปลอดภัย และให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวดี
“ช่วงก่อนจะทำบ้านเรามาอยู่ที่นี่กันจึงพอรู้ว่าปัญหาคืออะไร และอยากปรับส่วนไหนบ้างให้ลงตัวกับการใช้งานจริงๆ อย่างพื้นที่ตรงกลางระหว่างส่วนลิฟวิงกับห้องครัวจะเป็นมุมแพนทรีมีเคาน์เตอร์บาร์ไว้เตรียมเครื่องดื่ม ด้านข้างจะมีซอกที่ติดตั้งซิงก์ล้างจานไว้ 1 ซิงก์ ซึ่งคงไม่ได้ใช้งานเท่าไรเพราะในครัวก็มีมุมล้างจานอยู่แล้ว เราเลยทุบออกแล้วขยายพื้นที่ห้องน้ำออกไปให้กว้างขึ้น ส่วนห้องครัวจะมีโซนซักล้างอยู่ในสเปซเดียวกันเพราะถูกฟิกซ์ไว้ด้วยตำแหน่งท่อน้ำต่างๆ แต่เราก็ปรับและตกแต่งให้โอเคขึ้น”
ก่อเคาน์เตอร์ปูนแทนเฟอร์นิเจอร์บิลต์อิน “ถ้าสังเกตในบ้านจะไม่ทำบิลต์อินที่เป็นงานไม้เลยนอกจากเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เพราะเราเคยเจอปัญหาตอนน้ำท่วมมาแล้ว ไหนจะต้องย้ายของ ไหนจะต้องจัดการเรื่องปลวก ไหนจะต้องล้างทำความสะอาดอีก จึงเน้นออกแบบเป็นเคาน์เตอร์ปูนสำหรับวางของทั้งส่วนลิฟวิงและห้องครัว แล้วไปซื้อกล่องมาจัดเก็บของให้ดูเป็นระเบียบแทน เน้นเคลื่อนย้ายสะดวก ถ้าน้ำมาก็ย้ายขึ้นบนชั้น 2 ได้เลย ช่วงปลายปีก่อนที่น้ำขึ้นเราก็ซ้อมขนกันมาแล้ว สุดท้ายน้ำไม่มา (หัวเราะ)”
ตกแต่งตามมู้ดแอนด์โทนที่ชอบ “เราคิดไว้หลายแบบและเปลี่ยนมาแล้วหลายรอบกว่าจะลงตัว เพราะเราทำงานเป็นอินทีเรียก็จะมีเทรนด์แต่งบ้านของแต่ละปีแต่ละช่วงว่าอะไรที่กำลังเป็นเทรนด์ สุดท้ายก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบ้านที่เราทำคือสไตล์อะไร กลายเป็นผสมผสานสิ่งที่ชอบไว้ด้วยกันมากกว่า โซนลิฟวิงจะถูกบังคับด้วยบันไดที่เป็นดีไซน์จากบ้านเดิมกับตู้เฟอร์นิเจอร์ของแม่ที่ไม่ยอมทิ้ง จะมีความวินเทจนิดๆ มีกลิ่นอายยุค 60s หน่อยๆ ตอนแรกเราพยายามจะย้อมเป็นโทนสีไม้อ่อนๆ แต่ย้อมเท่าไรก็ไม่ติดเลยเปลี่ยนเป็นใช้สีดำแทนทั้งบันไดและตู้ของแม่
“เราชอบอะไรที่ดูวินเทจและคลาสสิกๆ ส่วนโทนสีที่ชอบก็จะประมาณนี้อยู่แล้วคือโทนขาว ดำ เทา น้ำตาล สีเบจ แล้วมาบาลานซ์กันว่าอยากใช้โทนสีไหนประมาณไหน ไม่ใช้สีใดสีหนึ่งหนักเกินไปเพื่อให้บ้านดูมิติ ไม่ขาวจนเรียบหรือดำจนดูมืดทึบ ส่วนผนังบริเวณหลังทีวีเป็นสีขาวก็จริง แต่เราเพิ่มลูกเล่นด้วยการก่ออิฐแล้วทาสีทับลงไปอีกที” คุณแก้มที่นั่งอยู่ข้างๆ ช่วยคุณปลาเล่าเพิ่มเติม
“การก่ออิฐนอกจากจะได้เรื่องความสวยงามแล้วยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างของบ้านทาวน์เฮาส์ที่ต้องใช้ผนังร่วมกัน เรื่องเสียงก็จะค่อนข้างดัง เราจึงทำกำแพงเบิ้ลออกมาแล้วเพิ่มลูกเล่นด้วยการก่ออิฐก่อนแล้วทาสี ได้ทั้งดีไซน์และฟังก์ชัน ช่วยลดเสียง อีกทั้งเวลาเดินสายไฟหรือทำงานระบบจะได้ไม่ต้องไปโดนส่วนที่เป็นผนังร่วมโดยตรง” คุณปลากล่าวเสริม
อยากได้ครัวที่มีกลิ่นอายคาเฟ่ “บรรยากาศของลิฟวิงกับครัวจะแตกต่างกันเลย เราอยากได้ห้องครัวแบบคาเฟ่ ดูคิวต์ๆ เหมือนครัวต่างประเทศ โทนสีก็จะต่างไปจากมุมนั่งเล่นที่จะดูมืดๆ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย นั่งเล่น นอนดูหนัง แต่พอเข้าไปในห้องครัวเราอยากให้ดู Enjoy Eating ซึ่งส่วนใหญ่โซนอาหารมักจะเลือกใช้โทนสีเหลือง สีแดง แต่เราอยากคุมโทนให้ไม่จัดจ้านจนเกินไป เลยเลือกใช้โทนสีส้มๆ แทน
“ผนังครัวเลือกใช้อิฐที่ตั้งใจจะใช้ก่อผนังภายนอก เพราะชอบเท็กซ์เจอร์ที่เหมือนเป็นอิฐเผา สีอาจจะดูไม่ค่อยสม่ำเสมอกัน ดูดำๆ ด่างๆ บ้าง ส่วนตัวเราไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยนำมาใช้ก่อผนังครัวโดยเคลือบผิวทำโค้ตติง (Coating) ไว้ประมาณหนึ่ง เพราะเราไม่ได้เน้นทำครัวหนักอะไรมากอยู่แล้ว จริงจังบ้างบางโอกาส ทำขนมเบเกอรี่ไว้ขายที่คาเฟ่วันเสาร์-อาทิตย์บ้าง
“ฟังก์ชันใช้งานเรารู้อยู่แล้วว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน ของใช้มีอะไรบ้าง ตู้เย็นขนาดเท่าไร ออกแบบเป็นเคาน์เตอร์ยาวรูปตัวแอล (L) เข้ามุม จริงๆ อยากได้เต็มพื้นที่กว่านี้แต่ด้วยสเปซจำกัดเลยทำได้ประมาณนี้ อย่างแก้มจะชอบทำอาหารเป็นแม่ครัว อุปกรณ์ต่างๆ ก็จะเยอะหน่อย ส่วนคุณปลาเป็นอินทีเรียเวลาไปแต่งบ้านลูกค้าก็จะมีพรอปที่ซื้อเก็บไว้เลยออกแบบเป็นชั้นวางของที่สามารถโชว์ของได้ด้วย
“ส่วนที่ทำเป็นเคาน์เตอร์ปูนก็เพราะโจทย์หลักคือถึงน้ำท่วมก็ไม่หวั่น ยกของย้ายได้เลย แล้วเพิ่มกิมมิกเล็กๆ ด้วยการเลือกใช้ผ้าม่านแทนหน้าบานปิด ที่ไม่เลือกใช้หน้าบานสำเร็จเพราะเคยเจอปัญหาเรื่องความอับชื้นและกลิ่นไม่พึงประสงค์ของครัวปูนมาก่อน ถึงแม้จะมีตัวกรองติดไว้ที่หน้าบานเพื่อช่วยระบายอากาศแต่ก็ไม่ค่อยช่วยเท่าไรเลยเลือกใช้ผ้าม่านดีกว่า อีกทั้งยังช่วยให้ครัวดูซอฟต์ไม่แข็งจนเกินไปด้วย ที่สำคัญคือประหยัดงบค่ะ (หัวเราะ)” คุณแก้มช่วยอธิบายเรื่องฟังก์ชันและการออกแบบครัวเพิ่มเติม
มิกซ์แอนด์แมตช์ และ DIY “ส่วนของคาเฟ่หน้าบ้านจริงๆ ไม่ได้อยู่ในแพลนของการรีโนเวตบ้าน เริ่มจากที่เราชอบดื่มกาแฟและอยากลองทำเอง พอเริ่มเข้าสู่วงการกาแฟแล้วทุกอย่างก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แก้มก็ชอบลองทำสูตรใหม่ๆ บวกกับช่วงโควิด-19 ที่เราอยู่บ้านกันทั้งวันเลยมีไอเดียว่าลองเปิดขายวันเสาร์-อาทิตย์ดูดีไหม จากที่คิดว่าเปิดขายผ่านออนไลน์ แต่ไหนๆ ก็ทำแล้ว (หัวเราะ) ถ้าอย่างนั้นมีหน้าร้านด้วยเลยแล้วกัน ตอนนั้นเรามีภาพในหัวอยู่แล้วว่าอยากแต่งสไตล์ไหน มีมุมให้ลูกค้านั่งรอ มีสเตชันอะไรบ้าง เคาน์เตอร์จะเป็นแบบไหน มู้ดแอนด์โทนของครัวกับคาเฟ่จะคล้ายๆ กันคือเน้นโทนสีขาว งานไม้ ดูอบอุ่น สบายๆ
“บ้านนี้คือเน้นมิกซ์แอนด์แมตช์เฟอร์นิเจอร์เก่ากับเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้าด้วยกัน อะไรที่ทำเองได้ก็ช่วยกันทำ อย่างเคาน์เตอร์คาเฟ่เราก็ DIY กันเอง ตู้กับข้าวในครัวก็เป็นของแม่ที่เอาไปซ่อมแล้วทาสีใหม่ เก้าอี้ในบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นของที่ซื้อเก็บไว้ ดีไซน์จึงไม่ค่อยเหมือนกัน คือถ้าไม่ได้จำกัดงบประมาณเราอาจจะได้บ้านในแบบที่จินตนาการไว้มากกว่านี้ ซึ่งในอนาคตเราอาจจะย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดก็เลยรีโนเวตบ้านหลังนี้ให้อยู่สบายและลงตัวกับการใช้ชีวิตเป็นหลัก มีครบทุกอย่าง ตกแต่งในแบบที่ชอบซึ่งก็ออกมาตรงกับที่ตั้งใจไว้ภายใต้งบที่เรามี”