Idea Kitchen & Home

ไอเดียออกแบบบ้านให้ถูกใจใช่เลยผู้สูงวัย ปลอดภัย และใช้งานได้คล่องตัว


การออกแบบบ้านนอกจากเรื่องดีไซน์ สไตล์ การจัดสรรพื้นที่ และฟังก์ชันใช้งานแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญและบางครั้งเราอาจไม่ทันได้นึกถึงคือเรื่องของระยะต่างๆ เช่น ความสูงในการติดตั้งอุปกรณ์ ขนาดของพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละห้อง โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีผู้สูงอายุเวลาท่านจะหยิบจับอะไรก็มักจะบ่นโอดโอยว่าไม่ถนัดเอาซะเลย ยิ่งในช่วงที่เราต้องอยู่บ้านกันนานๆ อย่างนี้ หลายคนหันมาใส่ใจกับการปรับปรุงและตกแต่งบ้านกันมากขึ้น เรามีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก บอกเลยว่าผู้สูงวัยต้องถูกใจสิ่งนี้

ห้องนอน

  • ควรเข้าถึงง่ายไม่ต้องเดินขึ้น-ลงบันได อยู่ใกล้หรือมีห้องน้ำในตัว มีขนาดกว้างเพียงพอ ไม่อึดอัดจนเกินไป ขนาดประมาณ 10-12 ตารางเมตร สำหรับอยู่คนเดียว หรือ 16-20 ตารางเมตร สำหรับอยู่ด้วยกันสองคน
  • เตียงนอน ควรเลือกแบบเตียงเดี่ยวไม่นุ่มเกินไป มีความสูงประมาณ 45 เซนติเมตร หากเตี้ยเกินไปเวลานั่งหรือนอนจะลุกยาก และขาไม่ควรลอยจากพื้น
  • ระยะรอบเตียงควรมีที่ว่างประมาณ 90 เซนติเมตร สามารถลุก-นั่งได้สะดวกทั้ง 3 ด้าน หรือควรมีที่ว่างข้างเตียงอย่างน้อย 150 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถใช้วีลแชร์หมุนเข้า-ออกได้สะดวก

ห้องนั่งเล่น

  • ออกแบบให้มีแสงสว่างเพียงพอ โปร่งโล่ง โดยบานหน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอกได้
  • โต๊ะในห้องนั่งเล่น โต๊ะทำงาน หรือโต๊ะอาหาร ควรคำนึงถึงการใช้รถวีลแชร์ หน้าโต๊ะความสูงควรอยู่ที่ 75 เซนติเมตร พื้นที่ใต้โต๊ะไม่ควรน้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีความลึกมากกว่า 40 เซนติเมตร และไม่ควรมีลิ้นชักเพื่อให้สามารถเข็นวีลแชร์เข้าไปได้
  • เก้าอี้ควรเลือกใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง นั่งสบาย รับน้ำหนักได้ดี หรือสามารถปรับระดับได้เพื่อให้สอดคล้องกับความสูงของแต่ละคน ดีไซน์และความสูงควรเลือกที่นั่งแล้วเข่าทำมุม 90 องศา ฝ่าเท้าแนบพื้น มีที่พักแขนเพื่อให้สะดวกต่อการพยุงตัวเวลาลุก
  • ปลั๊กไฟ ควรติดสูงจากพื้นประมาณ 0.40-1 เมตร และสวิตช์ต่างๆ ควรมีความสูงจากพื้นประมาณ 0.90-1.20 เมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเปิด-ปิดได้โดยไม่ต้องก้ม สามารถเอื้อมถึงไม่ว่าจะยืนหรือนั่งรถวีลแชร์

ห้องน้ำ

  • ประตู ควรเป็นแบบบานเลื่อนที่เปิดได้ 90 เซนติเมตร คล่องตัวและมีมือจับยาวที่เปิด-ปิดง่าย สามารถเข้ามาช่วยเหลือจากภายนอกได้
  • ความกว้างภายในห้องน้ำควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 เมตร เพื่อให้วีลแชร์สามารถหมุนได้โดยรอบ
  • สุขภัณฑ์ เลือกใช้เป็นโถชนิดนั่งราบ ควรมีความสูงจากพื้นถึงระยะก้นกบประมาณ 40-50 เซนติเมตร
  • ติดตั้งราวจับ โดยมีความสูงอยู่ในระดับ 80-90 เซนติเมตร ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงโถสุขภัณฑ์และจุดอาบน้ำ ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร เพื่อให้จับถนัดมือและพยุงตัวลุกได้สะดวก
  • อ่างล้างหน้า ควรเลือกใช้แบบแขวนหรือแบบครึ่งเคาน์เตอร์ เว้นระยะความสูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร ให้วีลแชร์สามารถสอดเข้าไปได้ และควรแยกพื้นที่ส่วนเปียก-ส่วนแห้ง

ห้องครัว

  • เคาน์เตอร์ครัวออกแบบให้สูงจากพื้น 80 เซนติเมตร ด้านล่างควรเป็นสเปซโล่งๆ ให้วีลแชร์เข้าได้
  • ความลึกของเคาน์เตอร์ไม่ควรเกิน 50 เซนติเมตร สามารถเอื้อมถึงได้ง่ายเวลาใช้งานก๊อกน้ำหรือเปิด-ปิดปลั๊กไฟ
  • หลีกเลี่ยงการติดตู้ลอยหรือติดตู้ให้ต่ำลงอยู่ในระยะที่ผู้สูงอายุเอื้อมถึง เพื่อป้องกันการปีนแล้วพลัดตกลงมา อาจจะเลือกใช้เป็นชั้นวางของหรือลิ้นชักที่ดึงออกมาได้ เปิด-ปิดสะดวก

ที่มา
– บทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์จากภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– หนังสือคนสูงอายุรุ่นใหม่ สสส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ


You Might Also Like...