ไอเดียครัวสวสไตล์บาโรก ครัวกึ่งเอาต์ดอร์ ในบ้านสไตล์แอนทีก
ความโดดเด่นของบ้านหลังนี้นอกจากซ่อนตัวอยู่ห่างจากถนนใหญ่แล้ว บริบทโดยรอบก็ยิ่งขับเน้นให้บ้านสไตล์แอนทีกหลังนี้ดูสวยงามและสมบูรณ์ บรรยากาศร่มรื่นซึ่งไม่ได้มีแค่เพียงต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ ยังมีสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข ไก่ ห่าน รวมถึงเป็ดที่เจ้าของบ้านไถ่ชีวิตแล้วเลี้ยงด้วยหัวใจที่เมตตา
หากมองจากภายนอกระหว่างบ้านที่มีความหรูหรากับสภาพแวดล้อมอาจมีความไม่เข้ากันก็จริง แต่เรากลับมองว่ามันคือการเติมเต็มให้คนในครอบครัวมีความสุขที่สมดุลต่างหาก สมดุลในแง่ของการทำความฝันให้เป็นจริงและสมดุลในการใช้ชีวิตที่พอเพียง
คุณแหม่ม-มาลิณี เล่าให้เราฟังถึงเหตุผลที่สร้างบ้านสไตล์แอนทีกว่า
“ก่อนหน้านี้อยู่ในตลาดขับรถมาทำงานที่โรงงานใช้เวลา 10 นาที 5 ปีต่อมาใช้เวลา 15 นาที 10 ปีต่อมาใช้เวลาครึ่งชั่วโมง 15 ปีต่อใช้เวลา 1 ชั่วโมง กลายเป็นว่าเราไปทำงานสายขึ้นทุกวัน เลยตัดสินใจมาสร้างบ้านอยู่ที่นี่เพราะตรงนี้เป็นที่ของเราอยู่แล้ว อีกอย่างอยากทำความฝันให้เป็นความจริงด้วยการมีบ้านในแบบที่เราชอบ”
จุดเริ่มต้นของการทำบ้านสไตล์นี้มาจากการที่คุณแหม่มชอบของเก่า ศึกษามาเป็นสิบๆ ปี เธอซื้อเฟอร์นิเจอร์สไตล์ยุโรปเก่าเก็บไว้ที่โกดังเยอะมาก ดังนั้นโจทย์ในการสร้างบ้านที่ให้ไว้กับอินทีเรียคือออกแบบบ้านตามของสะสมที่มี
“ชอบบ้านแบบแอนทีกแนวบาโรก เพราะมันเก่าจนไม่เก่าอีกแล้ว อีกโจทย์ที่ให้กับอินทีเรียคืออยากได้หน้ามุขยื่นออกไป เหตุผลหลักจริงๆ เพราะต้องการให้ห้องพระอยู่ตรงส่วนมุข ต้องการให้ห้องพระแยกส่วนออกไปโดยเฉพาะ ส่วนการออกแบบภายในเราบอกความต้องการว่าอยากได้ห้องหนังสือ ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องทานข้าว ห้องนอนลูก ห้องนอนตัวเอง ห้องนอนหลาน ห้องฟิตเนส เขาก็ทำตามสิ่งที่เราอยากได้จนกลายมาเป็นบ้านสไตล์นี้”
คุณทิวา คุณมาลิณี และคุณสุนาท อนันต์นาวีนุสรณ์
เมื่อเราเดินเข้ามาจากประตูหลักจะเจอกับห้องรับแขก ห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องนอนแขก ห้องน้ำ ส่วนห้องหนังสือ ห้องทานข้าว และห้องครัวอยู่อีกฝั่งหนึ่ง สำหรับโจทย์ในการออกแบบห้องครัวคุณแหม่มบอกกับเราว่า
“การออกแบบห้องครัวเริ่มจากตู้โชว์ ด้วยความที่เราเป็นคนชอบสไตล์บาโรก แล้วตู้ใบนั้นอายุ150 กว่าปีแล้ว เป็นตู้ที่มาจากเยอรมนี ได้มาอย่างไรก็อย่างนั้นเลยนะ ไม่ได้ทำสีหรือขัดแต่ง ที่เห็นมันคือร่องรอยจากการผ่านสงครามแล้วมันผ่านมาจนถึงยุคนี้และมาอยู่ที่บ้านเราก็เลยให้ความสำคัญกับมันมาก ถือเป็นจุดเด่นในครัวเลย มีเรื่องราวและเรื่องเล่าที่มีคุณค่ามาก”
คุณแหม่มอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งของห้องครัวไว้ว่า
“ตามหลักฮวงจุ้ยห้องครัวต้องอยู่ทิศใต้หรือทิศตะวันตก เพราะเป็นทิศที่สะอาดสะอ้าน ซึ่งครัวของเราอยู่ทิศตะวันตก ช่วงบ่ายถึงเย็นแดดส่องเข้ามาเต็มๆ ช่วยฆ่าเชื้อโรคแบคทีเรียได้ และที่แยกห้องครัวออกจากส่วนอื่นๆ เพราะกลัวเรื่องกลิ่น เหมือนเป็นครัวกึ่งเอาต์ดอร์ที่มีแสงแดดส่องถึง อากาศถ่ายเทสะดวก สังเกตว่าไม่ติดเครื่องดูดควันเพราะรู้สึกว่ามันเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ดังนั้นเวลาทำกับข้าวเราเปิดพัดลมเป่าออกก็ไม่มีกลิ่นแล้ว”
เราถามถึงสาเหตุว่าทำไมพื้นที่ในห้องครัวจึงมีขนาดเล็ก คุณแหม่มตอบว่าเธอไม่ได้ให้ความสำคัญกับขนาด แต่ให้ความสำคัญกับการเลือกวัสดุและฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า
“ขนาดห้องครัวไม่สำคัญสำหรับเรา ต่อให้มีครัวใหญ่ขนาดไหนแต่ไม่เคยเข้าครัวเลยก็ไม่มีประโยชน์ บางคนมีครัวไว้โชว์แต่สำหรับเราครัวขนาดเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ฟังก์ชันทุกอย่างอยู่แค่เอื้อมก็ตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้เข้าครัวมีความสุขกับการทำอาหารให้ครอบครัวทานนี่แหละคือหัวใจของการมีครัวสำหรับบ้านเราแล้ว”
เจ้าของ คุณมาลิณี และคุณทิวา อนันต์นาวีนุสรณ์
พื้นที่ใช้งานครัว 15 ตารางเมตร