ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้เห็นผลงานภาพถ่ายสถาปัตยกรรมของ Spaceshift Studio ทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ ตลอดจนตัวสถาปนิกเองที่มักจะส่งภาพผลงานที่ออกแบบมาให้เพื่อลงประกอบบทความ โดยภาพเหล่านั้นได้ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองการถ่ายภาพของ คุณเด๋ย-ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของตัวอาคาร และบริบทโดยรอบ แต่ยังบอกเล่าเรื่องราว คาแรกเตอร์ของตัวอาคารเหล่านั้นได้อย่างน่าสนใจ
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/1111.jpg)
ถ้าเปรียบชีวิตคือการเดินทาง
ตอน ม.ปลาย เราอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนนั้นยังมีแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-สถาปัตยกรรม รุ่นพี่ที่เรียนจบแล้วจะไปสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมที่จุฬาฯ ศิลปากร ลาดกระบัง ตอนนั้นมีเปิดสอนไม่กี่ที่ เวลาเขากลับมาเยี่ยมโรงเรียน เรารู้สึกเหมือนได้รับอิทธิพลมาจากพี่ๆพวกนั้น รวมไปถึงละครเคหาสน์ดาว ที่พี่แท่งกับนุสบาเล่นด้วยกันตอนนั้น (หัวเราะ) เลยพยายามสอบเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรม จนสอบติดที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็เริ่มอยากไปดูงาน อยากเห็นของจริง อยากซึมซับงานสถาปัตยกรรม ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เราจะไปหาดูงานออกแบบสถาปัตยกรรมเท่ๆ ได้จากหนังสือในห้องสมุดกลางกับห้องวารสารของมหาวิทยาลัย
ตอนเรียนปี 3 เราส่งบทความเล็กๆ ไปที่สมาคมสถาปนิก แล้วได้รับคัดเลือกให้ร่วมเวิร์กชอปสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางด้านออกแบบผังเมืองกับเด็กสถาปัตย์จากญี่ปุ่น มีสถาปนิกดังๆ ของญี่ปุ่นหลายคน มาเลกเชอร์และมาดูงานพวกเรา ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ว่าโลกของการออกแบบสถาปัตยกรรมยังมีอะไรมากกว่าที่เราเห็นในห้องเรียน
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/1-9.jpg)
ช่วงปี 1997-1998 ผมไปฝึกงานที่เนเธอแลนด์ พอเก็บเงินได้ก็แบกเป้ไปท่องเที่ยวถ่ายตึก
ในช่วงที่เรียนอยู่ปีสี่ ได้ข่าวว่าที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีให้สอบชิงทุนเพื่อไปฝึกงาน ชื่อทุน IAESTE เราสอบได้ ก็เลยเลือกไปฝึกกับ TEAM 4 เป็นบริษัทสถาปนิกที่เมือง Groningen เมืองเล็กๆทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์ ตรงนี้ถือเป็น Turning Point ของชีวิตในเรื่องของการเดินทาง เพราะสมัยนั้นการดรอปเรียนถือเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ เป็นพวกนอกรีต คนอื่นเค้าต้องเรียนให้จบก่อน ต้องหางานทำ ต้องมีความมั่นคง แล้วค่อยเดินทาง เราคิดไม่เหมือนคนอื่น ทำไมการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายของอะไรสักอย่าง ถึงต้องเป็นตัวเลือกหลังสุดของชีวิต เราว่ามันไม่ใช่ เราอยากเห็นโลก เห็นอะไรที่แถวบ้านไม่มี ก็ถือว่าโชคดีที่พ่อกับแม่เข้าใจเลยได้ไป
ปักหมุดดูงานสถาปัตยกรรม
เราฝึกงานกับ TEAM 4 อยู่ประมาณเกือบปี ถือเป็นอีก Turning Point ในเรื่องของการทำงานจริง ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของเขา หลังจากฝึกงานเราเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็ตั้งหมายว่าจะแบกเป้เดินทางไปดูงานสถาปัตยกรรมตามที่ต่างๆ ตอนนั้นก็มีในลิสต์เยอะอยู่นะ พอเพื่อนร่วมงานซึ่งก็แก่ๆกันทั้งนั้นรู้เข้า ก็ช่วยกันทำไกด์บุ๊คให้ว่าที่ยุโรปต้องไปดูงานชิ้นไหนบ้าง งานมาสเตอร์ที่เราตั้งใจว่าต้องไปให้ได้ก็เป็นประมาณงานที่เห็นในหนังสือแล้วไม่เก็ทว่ามันดียังไง ที่ประทับใจหน่อยก็มีที่ Notre Dame du Haut ของ Le Corbusier ใน Ronchamp ประเทศฝรั่งเศส กับ Barcelona Pavilion ของ Mies van der Rohe ที่สเปน ผลงานทั้งสองชิ้นทำให้ เรารู้ซึ้งว่าสิ่งที่เคยเห็นในหนังสือนั้นเทียบไม่ได้เลยกับของจริง ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมไม่กี่งานที่ไปยืนดูแล้วรู้สึกอิ่มเอม หัวใจพองโต
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/2.gif)
ภายนอก Notre Dame du Haut โบสถ์คาธอลิกเล็กๆบนยอดเขาในเมือง Ronchamp ออกแบบโดย Le Corbusier ในปี 1955
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/3.gif)
ภายในโบสถ์ Notre Dame du Haut แสงธรรมชาติส่องผ่านช่องกระจกเล็กๆ ที่เขียนสีเล่าเรื่องราวทางศาสนา
หลังจากนั้นเราก็กลับมาทำวิทยานิพนธ์ และเรียนจบในช่วงปี 2540 ปีที่ฟองสบู่แตกพอดี ว่างๆยังไม่มีงานทำ ก็มีรุ่นน้องมาบอกว่า Walt Disney World มาเปิด recruit คนไทยไปทำงานที่ฟลอริดา ไปทำงานเป็น cultural exchange staff สัญญา 1 ปี ก็สอบผ่าน เลยปักหมุดอีก พอหมดสัญญาที่ WDW ก็แบกเป้อีกรอบ ไปตระเวณดูงานเริ่มจากฝั่งตะวันออกไล่จากไมอามีไปถึงนิวยอร์ค แล้วก็บินข้ามฝั่งไปทางตะวันตก ซึ่งก็อยู่แต่แถวๆแคลิฟอร์เนีย ก็ดูไปเยอะนะ แต่เอาเข้าจริงๆก็ไม่ค่อยโดน ถูกจริตกับทางยุโรปมากกว่า เพราะช่วงนั้นงานของสถาปนิกเทพๆนั่น เฟื่องมาก Rem Koolhaas, Bernard Tschumi, Zaha Hadid, Frank Owen Gehry ไรงี้ หลังจากการเดินทางทางฝั่งอเมริกา ก็ย้ายกลับมาเมืองไทย มาทำงานในออฟฟิศสถาปนิกกับคนออสเตรเลียแถวสุขุมวิทได้ปีนึงเต็มๆ
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/6.gif)
Barcelona Pavilion ที่สเปน ออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe สถาปนิกชั้นครูชาวเยอรมัน
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/7.gif)
ALBA (dawn) งานประติมากรรมหญิงสาวเริงระบำโดย Georg Kolbe ที่ถูกติดตั้งภายใน Barcelona Pavilion
ก่อนจะเริ่มต้นถ่ายภาพ
ระหว่างนั้นเรามีโอกาสได้เขียนเรื่องที่เดินทางไปเนเธอร์แลนด์ ไปยุโรป เพื่อลงในวารสารประจำปีให้กับทางคณะ ก็มีรูปกับบทความที่เขียนถึงห้องสมุด TU Delft แล้วทาง Art4D น่าจะมาเห็น ประกอบกับพี่สมคิด เปี่ยมปิยะชาติ ซึ่งเป็นบรรณาธิการภาพของ Art4D ในยุคนั้น ไปเที่ยวแล้วถ่ายรูปห้องสมุดนี้มาด้วย แต่ว่ายังไม่มีใครเคยไป และไม่มีใครเขียนให้ บังเอิญว่าเราพอจะเขียนหนังสือได้เลยลองเขียนให้ หลังจากนั้นเราก็เขียนมาตลอด จนได้เข้าไปเป็นบรรณาธิการเต็มตัวตั้งแต่ปี 2002-2013
ช่วงปี 2005 พี่สมคิดหยุดรับงานถ่ายภาพ แกไปเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง ก็อยากให้เรามาช่วยถ่ายรูปแทน เพราะเห็นว่าเราพอจะมีทักษะอยู่บ้าง ก็เริ่มฝึกถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจังกับพี่สมคิดประมาณ 1 ปี ซึ่งในยุคนั้นการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต้องใช้เงินลงทุนสูง ก็เลยต้องเปิด Spaceshift Studio โดยชวนพี่บี-อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ แฟนของเรา ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นสถาปนิกอิสระมาช่วยกันรันสตูดิโอถ่ายภาพ
ในเรื่องของความชำนาญด้านการถ่ายรูป ก็ไม่ได้ไปเรียนที่ไหน คิดว่าน่าจะได้มาจากพ่อกับแม่ เพราะทั้งสองคนเล่นกล้อง สิ่งนี้เลยเหมือนอยู่ในตัวเราตั้งแต่เด็ก พอได้เดินทางก็จะพกกล้องไปด้วย อย่างตอนไปทำงานที่ยุโรปก็ตั้งใจเอาฟิล์มไปด้วย 100 ม้วน เพื่อถ่ายงานสถาปัตยกรรมที่ชอบกลับมา คือเรารู้สึกว่างานสถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่ต้องบันทึกด้วยภาพ เพื่อที่จะสามารถนำมาเล่าหรืออธิบายได้
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/8.gif)
การผสานกันระหว่าง people และ place เกิดจากการสะท้อนของแสงเงาที่ซ้อนทับกันไปมาหลายเลเยอร์ รูปนี้ถ่ายที่สถาบันโลกอาหรับในปารีส ออกแบบโดย Jean Nouvel
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/10.gif)
รายละเอียดของผนังภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองโอกินาวาซึ่งทำจากหินทราย ออกแบบโดย Ishimoto Architectural & Engineering
เล่าเรื่องด้วยภาษาภาพ
ถ้ามองย้อนกลับไปมองวิชาชีพที่เราทำ ทั้งตอนที่เป็นนักเขียนและนักถ่ายภาพ ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับงานสถาปัตยกรรม คำถามที่ว่าเรานำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพยังไง น่าจะเป็นเรื่องของการมีความเข้าใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม และการคิดอย่างเป็นระบบ อย่างซีรีย์ภาพที่เราถ่ายในแต่ละโปรเจ็กต์ จะมีการลำดับเรื่องราวซึ่งสิ่งนี้เราได้มาจากการทำงานในกองบรรณาธิการ ในการถ่ายงานแต่ละชิ้น จะเริ่มคิดโดยมองว่าตัวอาคารตั้งอยู่ที่ไหน ภายนอกภายในอาคารเป็นอย่างไร กลางวันกลางคืนเป็นอย่างไร รายละเอียดเชิงเทคนิคหรือวัสดุต่างๆ เหล็ก อิฐ คอนกรีต หิน ปูน ไม้ ที่ใช้ประกอบกันจนกลายเป็นงานสถาปัตยกรรมหนึ่งชิ้นนั้น มีอะไรบ้าง ตลอดจนปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นสถานที่ (place) กับ ผู้คน (people) ในแต่ละวัน นั้นมีอะไรบ้าง คือภาพของเราต้องเล่าเรื่องหรือสะท้อนคาแรกเตอร์ของตัวอาคารนั้นออกมาให้ได้
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/11.gif)
งานออกแบบศาลา “No Sunrise, No Sunset” ที่จังหวัดกระบี่ ออกแบบโดย สุริยะ อัมพันศิริรัตน์
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/16.gif)
NAVAKITEL Design Hotel โรงแรมสีดำที่นครศรีธรรมราช ออกแบบโดย JUNSEKINO A+D และ JUNSEKINO I+D
นอกจากนี้เราต้องมองหา elements ที่อยู่ในตัวงานนั้นๆ แล้วนำมาจัด composition ให้อยู่ในภาพๆ หนึ่ง เช่น สมมติว่าเราเดินเข้าไปในโรงแรมจะเจอกับล็อบบี้ก่อน ถ้าถ่ายตรงๆ จุดเดียว เราจะได้แค่มุมมองเดียว แต่ถ้าเราเอียงไปทางซ้ายจะเห็นล็อบบี้เชื่อมต่อกับโถงลิฟต์ ถ้ามองไปทางขวาจะเห็นส่วนที่ต่อเนื่องกับเลาน์จ สิ่งนี้คือเรากำลังใช้ภาพเล่าถึงสิ่งที่เรียกว่า transition แค่เราขยับกล้องไปทางซ้ายหรือขวา มุมมองกับเรื่องที่จะเล่าก็ต่างกันแล้ว จะใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องหรือทำให้เป็น photo essay ก็ต้องมีการวางลำดับของ elements ต่างๆ ให้ดี
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/9.gif)
ภาพบันทึกอันแสนเรียบง่ายของปราสาทชูริในโอกินาว่า ที่คุณเด๋ยถ่ายไว้หนึ่งเดือนก่อนที่ตัวอาคารทั้งหมดจะถูกไฟไหม้ไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/12.gif)
รายละเอียดของโครงสร้างและการตกแต่งภายในชานชะลาสถานีรถไฟกลางเมืองมิลาน เผยความงามออกมาชัดเจนในช่วงที่ผู้คนและรถไฟเพิ่งออกไป ส่วนผมนั้นตกรถไฟ
ให้เวลากับการถ่ายภาพ
เรามองว่าการถ่ายภาพเหมือนการสร้างงานศิลปะอย่างหนึ่ง มีคนเคยบอกว่าเราถ่ายภาพแล้วดูสวยกว่าของจริง ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่หรอก เพราะนี่คืองานสถาปัตยกรรม แต่เราให้เวลากับการทำงานนาน เราอยู่ในตึกๆหนึ่งตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เราให้เวลากับมัน และทำให้เราได้มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใจแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเรื่องของแสงและเงาที่กระทบตัวตึก ไปจนถึงแสงประดิษฐ์ในเวลากลางคืน ตลอดจนลักษณะเฉพาะของพื้นที่ๆเราไปถ่าย หรือ งานออกแบบภูมิทัศน์ (landscape design) ที่ช่วยสนันบสนุนให้ตัวอาคารมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งคนที่เขาบอกว่าเราถ่ายภาพสวยกว่าของจริงเขาอาจจะไม่ได้มาเห็นในช่วงเวลานั้น หรือมุมมองเดียวกับที่เราเห็นแค่นั้นเอง ความใจร้อนของคนเราทุกวันนี้ มักทำให้เขามองข้ามหรือพลาดสิ่งดีๆ ไป
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/4.gif)
แสงสุดท้ายของวัน ภายในหอชมวิวของศูนย์คชศึกษา ที่จังหวัดสุรินทร์ ออกแบบโดย Bangkok Project Studio
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/5.gif)
รายละเอียดของการอิฐที่ใช้ป็นวัสดุหลักของหอชมวิวของศูนย์คชศึกษา ที่เห็นคนยืนเทียบสเกลกับตัวอาคารคืออาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ออกแบบ
ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้เราไปถ่ายงานให้กับอาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา โปรเจ็กต์โลกของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ โดยอาจารย์ต้องการภาพเพื่อส่งไปประกวดและส่งให้สื่อต่างประเทศ แต่งานยังเป็น Under Construction เราต้องถ่ายให้สื่อได้ว่าถ้าเสร็จแล้วจะเป็นยังไง มีอยู่โมเมนต์หนึ่งสวยมาก เราขึ้นไปบนส่วนที่เป็นหอคอย ในช่วงเวลาที่เหลือประมาณ 5 นาทีของแสงสุดท้าย วันนั้นพระอาทิตย์ทำมุมองศานิดหนึ่ง ส่องเข้ามาเป็นสีทองสะท้อนกับตัวอิฐ ทุกอย่างมันเพอร์เฟ็กต์ ตัวอิฐ มุมแสงเงา แล้วอาจารย์ขึ้นมาพอดี ทำให้เราได้ภาพโมเมนต์นั้นมา
อีกอย่างหนึ่งคือเราโตมากับระบบฟิล์ม ทำให้เราต้องทำงานช้า เพราะถ้าเรา ไม่ใส่ใจ ฟิล์มจะเสีย ซึ่งการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต้องมีความประณีต พิถีพิถัน ถ้าเส้นล้มหรือเอียงนิดเดียวภาพจะเสีย พอเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอล ทำให้ภาพของเรายังมีคาแรกเตอร์ของความประณีตอยู่เหมือนตอนถ่ายฟิล์ม คือภาพต้องเหมือนจริง มองแล้วรู้สึกสบายตา ด้วยน้ำหนักของกล้องที่ไม่หนักเหมือนสมัยก่อน และมีความคล่องตัว ทำให้ภาพของเรามีมุมที่หลากหลายมากขึ้น
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/14.gif)
สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปผมก็ไปบ้าง แต่ละทริปก็มักได้ภาพแปลกๆที่คนอื่นไม่ถ่ายกัน ภาพร่างกายของคนผสานกับราวธงมนต์ที่ Leh Ladakh นี่ก็ดู spiritual ดีนะ ในความเห็นของผม
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/15.gif)
บ้านส่วนตัวออกแบบโดย Shinichi Ogawa งานสถาปัตยกรรมบางชิ้นไม่ได้สวยงามด้วยองค์ประกอบมากมาย แต่งามด้วยขนาด สัดส่วน และความประณีตทางเชิงช่างที่ทำให้รูปทรงของอาคารมีความเรียบง่ายได้อย่างมหัศจรรย์
“พี่สมคิดที่เป็นคนสอนเราถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เคยบอกว่า อาชีพนี้ถ้าเราชอบเดินทาง ชอบถ่ายภาพ ชอบงานสถาปัตยกรรม นี่คืออาชีพในฝันเลยนะ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ มีรายได้เป็นสัมมาอาชีพ ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการทำงานในทุกวัน”
![](https://atkitchenmag.com/wp-content/uploads/2020/02/112233.jpg)
มีภาพถ่ายหลายภาพของ Spaceshift Studio ที่เราใช้เวลามองอยู่นาน บางมุมมองเรารู้สึกเหมือนได้ไปยืนอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ ได้เห็นแสงและเงาที่ทำให้ตัวอาคารดูน่าสนใจมีชีวิตชีวากว่าที่เคย อีกทั้งยังรวมถึงการถ่ายทอดงานออกแบบของสถาปนิกที่ทำให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันของส่วนต่างๆ ภาพหนึ่งภาพจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย เช่นเดียวกับเรื่องราวของคุณเด๋ย ผู้อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่แฝงไปด้วยความรู้สึกและมุมมองที่หลากหลาย ได้เห็นแต่ผลงานมาเป็นเวลานาน ดีใจที่ได้เจอกันนะคะ
ขอขอบคุณภาพผลงานทั้งหมดจาก: Spaceshift Studio
ขอขอบคุณสถานที่: มิโนะบุรี facebook.com/minoburi