Lifestyle & Cooking People

ศิลปะกระดาษเลียนแบบอาหาร ที่ทำให้เข้าใจเรื่องวัสดุกับสิ่งแวดล้อม


ถึงแม้นิทรรศการ Waste โภชนา “Market” ในกรุงเทพฯ จะปิดฉากลง แต่ปลายปีนี้ลูกยาง-วีรพล วงศ์เทวัญ เจ้าของแบรนด์ Lukyang นักออกแบบที่สร้างสรรค์งานขึ้นมาจากสิ่งที่อยากทดลอง และพัฒนาออกมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มพลังความรักษ์โลก ก็จะเดินสายไปขยายความรู้เรื่อง Waste โภชนาในซีรีส์ต่อไปที่งานเทศกาล Chiang Mai Design Week

Waste โภชนา : งานศิลปะเลียนแบบอาหารที่สื่อสารเรื่องวัสดุกับสิ่งแวดล้อม

เริ่มต้นจากงานทดลองวัสดุ การทดลองชุดแรกได้หยิบวัสดุธรรมชาติมาหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างงานกระดาษจากดอกไม้ ด้วยความที่ผมทำทางด้านอีโค่ดีไซน์มาโดยตลอด ในปีนี้จึงมารีเสิร์ชข้อมูลว่าตอนนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้วยังมีอะไรขาดตกบกพร่องอยู่ พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจว่าภาชนะหรือของเหลือใช้บางอย่างยังสามารถนำกลับมาใช้ได้ต่อ ดังนั้นเพื่อลดปริมาณการทิ้งขยะภายในครัวเรือน และช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการรีไซเคิลขยะต่างๆ จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Waste โภชนาที่ผมตั้งใจจะทำตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 โดยเริ่มต้นด้วยแนวคิดอยู่บ้านอย่างไรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เริ่มต้นจากตัวเราง่ายๆ ก่อน จากนั้นก็ขยับมาเป็นเรื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่เกิดจากการสังเกต การตัดทอน ซึ่งทักษะในการพับกระดาษคือไม่ได้ไปเรียนมา แต่พับตามจินตนาการ เห็นรูปทรงอะไรก็ทำตามนั้น ผมว่าเป็นข้อดีของดีไซเนอร์ที่มีทักษะด้านจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ในเรื่องของการออกแบบ เราไม่จำเป็นต้องออกแบบของใช้อย่างเดียว เช่น เราออกแบบนิทรรศการโดยใช้ทักษะด้านศิลปะ ด้านงานประดิษฐ์ให้คนเข้ามาเรียนรู้ก็เป็นผลงานอีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่น่าสนใจและคนก็ได้รับรู้ข้อมูลจริง

นิทรรศการ Waste โภชนาเริ่มต้นที่งาน Bangkok Design Week เมื่อต้นปี ค.ศ. 2023 ในคอนเซ็ปต์ร้านหาบเร่แผงลอย และล่าสุดกับโปรเจ็กต์ Waste โภชนา Market ที่พูดถึงการนำของเหลือใช้และขยะเข้าบ้านจากการเดินจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดในชีวิตประจำวัน พร้อมแนะนำวิธีการรับมือ การใช้ซ้ำให้ถูกต้อง และการจัดการขยะจากหลังการบริโภค ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้พลังงานในการรีไซเคิลขยะต่างๆ ผ่านการนำเสนอที่เรียกว่างานศิลปะกระดาษเลียนแบบอาหาร ทำให้ผู้ชมงานได้เข้าถึงและรู้สึกสนุกกับเรื่องวัสดุกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 

Waste โภชนา : ให้ข้อมูลการอุปโภคบริโภคที่ถูกต้องกับทุกคน

สำหรับ Waste โภชนา Market ครั้งนี้เป็นการจำลองตลาดขึ้นมาทั้งหมด 3 ร้านด้วยกัน แต่ละร้านจะมีหน้าที่ที่ต่างกัน ร้านแรกคือร้านลุงยิ้มลูกชิ้นปิ้ง เป็นตัวแทนที่พูดถึงเรื่องการทดลองวัสดุต่างๆ ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของงานผมที่ทดลองวัสดุ ปีนี้เรามีวัสดุใหม่คือกระดาษจากดอกบานไม่รู้โรย วัสดุกระดาษจากเปลือกมะยงชิด กระดาษจากดอกดาวเรืองที่เอามาทำเป็นเกี๊ยวทอด กระดาษลัง กระดาษจากใบโกโก้ จากการทดลองผมนำมาทำเป็นลูกชิ้น หรือกระดาษห่ออาหาร คนจะเข้าใจผิดว่าเป็นกระดาษที่รีไซเคิลได้ แต่เมื่อสัมผัสอาหารหรือเปื้อนแล้วมันก็คือขยะทั่วไปที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้

ร้านป้าใจ เป็นแรงบันดาลใจจากวัยเด็ก มีร้านอาหารตามสั่งที่อยู่ข้างรั้วโรงเรียน เราก็เล่นเรื่องของวัสดุที่อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยตั้งใจให้ความรู้ถึงการแยกกล่องใส่อาหารให้ถูกต้อง ฝากล่องแบบไหนควรใช้กับกล่องแบบใด ใช้งานอย่างไร เช่น กล่อง PP จะมีลักษณะขุ่น สามารถใช้กับไมโครเวฟได้แค่ครั้งเดียว หรือกล่องใส PS ที่มีลักษณะคล้ายกับกล่อง PET แต่มีความบอบบางมาก ดังนั้นกล่อง PS ควรใช้ใส่อาหารที่มีอุณหภูมิปกติ เช่น สลัดผัก หรืออาหารที่ไม่มีความร้อน ส่วนกล่อง PET จะเป็นเหมือนขวดน้ำ ไม่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้     

นอกจากนี้ การนำเสนอเมนูอาหารเป็นข้อมูลที่รีเสิร์ชแล้วว่าเป็นเมนูที่คนไทยสั่งบ่อยที่สุดในลักษณะของอาหารกล่อง เช่น ไข่ดาวผมก็สร้างสรรค์มาจากถุงพลาสติก หมูสับทำจากกระดาษลังโดยใช้วิธีเปเปอร์มาเช่ ใบกะเพราทำมาจากซองแพ็กเกจจิงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เมนูบะหมี่ที่ใช้กระดาษรองกันกระแทกเหลือใช้จากบ้าน และบิลใบเสร็จก็นำมาเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว หมูแดงจากกระดาษลัง เกี๊ยวจากกระดาษใบอ้อย เรายังนำเสนอเรื่องของถุงให้คนมาชมนิทรรศการได้สัมผัสกับถุงแต่ละชนิดระหว่างถุงร้อน ถุงเย็น เหตุผลที่ผมนำมาเป็นแนวคิดในการนำเสนอคือครั้งหนึ่งมีคนเคยนำถุงทนความร้อนไปเข้าไมโครเวฟซึ่งมันเป็นการใช้ที่ผิดวิธี

ในขณะที่เรื่องของการใช้สี ปีนี้เป็นสีที่ใช้ดินสอพองมาเป็นส่วนประกอบหลัก ด้วยความที่ผมไปรีเสิร์ชตลาดเดินเจอร้านขายสมุนไพร ร้านสังฆภัณฑ์ที่มีดินสอพองจึงหยิบเอามาเป็นวัตถุดิบหลักของปีนี้  

ยายนิดขนมไทย ผมตั้งใจจะนำเสนอเรื่องของประเภทกระดาษ บ้านเรามีกระดาษหลายประเภท หลายคนมองว่าทุกอย่างรีไซเคิลได้หมด แต่จริงๆ มันแยกประเภทกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอถึงคนทั่วไปและดีไซเนอร์ด้วย และมุกของขนมถ้วยที่ทำจากถุงพลาสติก เป็นขนมถ้วยสูตรยั่งยืนอายุ 450 ปี เพราะว่าถุงพลาสติกจะต้องใช้เวลา 450 ปีจึงจะย่อยสลาย

สำหรับปีนี้โรดแมปของ Waste โภชนาจะไปจบลงที่เทศกาล Chiang Mai Design Week เป็น Waste โภชนา แอ่วกาด by LUKYANG เป็นเรื่องราวไปแอ่วกาดแล้วกลับมาได้อะไรบ้าง จะเป็นการเล่าเรื่องบนโต๊ะอาหารของเรา ซึ่งแต่ละปีผมจะทำคอนเซ็ปต์ให้แตกต่างกันไป เปลี่ยนการเล่าเรื่องตามแต่งานที่ไปจัดแสดง

Facebook : LUKYANGDESIGN
Instagram : lukyang


You Might Also Like...